×

เปิดแนวทางญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ทำอะไรไปบ้างเพื่อรับมือสงครามภาษีทรัมป์

09.04.2025
  • LOADING...
japan-korea-trump-tariff-response

มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจุดชนวนสงครามการค้า และสั่นสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก บีบให้นานาประเทศต้องเร่งหาหนทางรับมือผลกระทบ ทั้งการเจรจาและเสนอข้อตกลงแลกเปลี่ยน เพื่อให้สหรัฐฯ ลดหรือยกเว้นนโยบายภาษีที่เกรี้ยวกราดนี้

 

ก่อนที่ภาษีตอบโต้จะเริ่มบังคับใช้ทั่วโลกในวันนี้ (9 เมษายน) โฆษกทำเนียบขาวประกาศชัดเจน ว่าประตูสำหรับการเจรจาการค้าครั้งใหม่นั้นเปิดกว้างมาก

 

ขณะที่ทรัมป์ กล่าวกับสมาชิกพรรครีพับลิกันว่า “ประเทศต่างๆ กำลังโทรหาสหรัฐฯ พวกเขาอยากบรรลุข้อตกลงมาก” และกล่าวล้อเลียนผู้นำต่างประเทศที่พยายามจะหาหนทางหลบเลี่ยงมาตรการภาษีตอบโต้ว่า

 

“ได้โปรด ท่านครับ ทำข้อตกลงเถอะ ผมจะทำทุกวิถีทางครับ”

 

สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เผยเมื่อวันจันทร์ (7 เมษายน) ว่ามีกว่า 70 ประเทศแล้วที่ติดต่อไปยังทำเนียบขาวเพื่อขอเจรจา

 

สำหรับในเอเชีย ประเทศที่ถูกจับตามองว่าจะได้คิวลำดับแรกๆ ในการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์ คือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ

 

โดยผู้นำของทั้งสองประเทศ ได้โทรศัพท์สายตรงคุยกับทรัมป์แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวังและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา

 

แนวทางของทั้งสองประเทศเพื่อรับมือกำแพงภาษีของทรัมป์ คืออะไร และจะช่วยลดผลกระทบจากสงครามภาษีที่ตึงเครียดนี้ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะหากการเจรจากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ อาจกลายเป็นโมเดลที่ทั่วโลกรวมถึงไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการพูดคุยกับสหรัฐฯ ท่ามกลางความพยายามเอาตัวรอดจาก ‘ไฟสงครามภาษี’ ที่กำลังไหม้ลามไปทั่วโลก

 

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ คุยอะไรกับทรัมป์

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีทรัมป์ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันเป็นเวลา 25 นาที โดยระหว่างการสนทนา อิชิบะเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน และเขามีความกังวลอย่างมาก ว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ อาจทำให้ศักยภาพในการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นลดน้อยลง

 

อิชิบะ แสดงความกังวลต่อการกำหนดภาษีตอบโต้ของทรัมป์ และเรียกร้องโดยตรงให้ทรัมป์ ใช้แนวทางที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์

 

“แทนที่จะกำหนดภาษี ทั้งสองประเทศควรแสวงหาวิธีส่งเสริมความร่วมมือที่กว้างขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ” อิชิบะ กล่าว และเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ พิจารณามาตรการดังกล่าวอีกครั้ง”

 

ขณะที่ทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ว่าเขามี ‘บทสนทนาที่ดีมาก’ กับอิชิบะ

 

“ผมพูดไปอย่างหนึ่งว่า คุณจะต้องเปิดประเทศของคุณ เพราะเราไม่ได้ขายรถยนต์เลย เหมือนกับไม่มีรถยนต์ (อเมริกัน) เลยในญี่ปุ่น และพวกเขาขายรถยนต์ได้หลายล้านคันในประเทศของเรา” ทรัมป์กล่าว และเสริมว่า “เรามีความคืบหน้าอย่างมากกับหลายประเทศ และประเทศที่เอาเปรียบเรากำลังบอกว่า โปรดเจรจา”

 

ขณะที่ทรัมป์ เผยว่าได้โทรศัพท์พูดคุยกับฮันด็อกซู ประธานาธิบดีรักษาการของเกาหลีใต้ วานนี้ (8 เมษายน) โดยเป็นการพูดคุยที่ดี และชี้ว่า “มีข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของข้อตกลงที่ดีสำหรับทั้งสองประเทศ”

 

ทรัมป์เผยรายละเอียดว่า เขาและผู้นำเกาหลีใต้ ได้คุยกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องที่เกาหลีใต้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯอย่างมหาศาล เรื่องอัตราภาษี การต่อเรือ การซื้อก๊าซ LNG ของสหรัฐฯ ในปริมาณมาก การให้เกาหลีใต้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการคุ้มครองทางทหารของสหรัฐฯ ซึ่งเกาหลีใต้เริ่มจ่ายในช่วงสมัยแรกของรัฐบาลทรัมป์ แต่รัฐบาลโจ ไบเดน ยกเลิกไปด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบแน่ชัด

 

ส่งทีมเจรจาไปสหรัฐฯ

 

ทีมเจรจาระดับสูงของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเดินทางไปยังวอชิงตัน ท่ามกลางความหวังในการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์ ในเร็วๆ นี้

 

โดยผู้นำญี่ปุ่น แต่งตั้งอากาซาวะ เรียวเซอิ รัฐมนตรีว่าการว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการเจรจาภาษีศุลกากร พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่า จะใช้ทุกเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

 

ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ เลือกสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เป็นผู้เจรจาหลักกับญี่ปุ่น

 

โดยในการเจรจาที่จะเกิดขึ้น นอกเหนือจากประเด็นด้านการค้าและนโยบายภาษี สหรัฐฯ ยังอาจหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ระหว่างสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินเยนด้วย ซึ่งคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นจะรับหน้าที่เจรจาในเรื่องนี้

 

“ญี่ปุ่นยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา และผมคาดหวังการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ของเรา ทั้งในด้านภาษีศุลกากร การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร ปัญหาเรื่องสกุลเงิน และการสนับสนุนของรัฐบาล”

 

ด้านเกาหลีใต้ ได้ส่ง อัน ด็อก กึน (Ahn Duk geun) รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน ไปยังวอชิงตัน เพื่อเจรจาเรื่องมาตรการภาษีตอบโต้ กับเจมีสัน เกรียร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ

 

โดยอัน กล่าวว่า ความร่วมมือในภาคการต่อเรือ อาจเป็น ‘ไพ่ใบสำคัญ’ ในการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ

 

เขาชี้ว่า ทรัมป์แสดงความสนใจอย่างมากในความร่วมมือด้านการต่อเรือกับเกาหลีใต้ ระหว่างการโทรศัพท์พูดคุยกับฮันด็อกซู

 

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญระดับโลกในอุตสาหกรรมการต่อเรือ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ยังระบุถึงความกังวลว่า สหรัฐฯ อาจจะตกต่ำลงในภาคส่วนอุตสาหกรรมที่จีนเป็นผู้นำ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการต่อเรือ

 

อย่างไรก็ตาม อันเตือนว่า ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจจะส่งผลกระทบ “เชิงลบอย่างมาก” ต่อการส่งออกของเกาหลีใต้ เช่น รถยนต์ ซึ่งทรัมป์ กำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากทั่วโลก 25%

 

มาตรการรับมือ

 

อิชิบะกล่าวในรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ว่า จะเสนอแพ็กเกจมาตรการชุดหนึ่ง เพื่อรับมือผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของทรัมป์ โดยอาจรวมถึงการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในรัฐอะแลสกา ความยาวเกือบ 1,300 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยให้ขนส่งก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ ไปยังเอเชียได้เร็วขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สส. จากพรรครัฐบาลบางส่วน คือการพิจารณาขายพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

 

แต่ คัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ประกาศว่าจะไม่นำข้อเสนอในการขายพันธบัตรสหรัฐฯ มาใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง โดยชี้ถึงการเตรียมการในกรณีจำเป็นที่ต้องเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเยนในอนาคต

 

ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับภาคส่วนยานยนต์ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าว โดยรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ มูลค่า 10,180 ล้านดอลลาร์การลดหย่อนภาษีและการเพิ่มเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 30-80% ของส่วนลด เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อในประเทศ

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้คำมั่นว่าจะพยายามเจรจากับสหรัฐฯ และช่วยขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising