×

ค่าจ้างที่แท้จริงญี่ปุ่นร่วงหนักสุดรอบ 7 ปี หลังค่าแรงโตไม่ทันเงินเฟ้อ ส่วนการใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่ม 5 เดือนติดจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว

06.12.2022
  • LOADING...
ค่าจ้าง ญี่ปุ่น

ค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นร่วงหนักสุดในรอบ 7 ปี เหตุค่าแรงโตไม่ทันเงินเฟ้อ ขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนญี่ปุ่นก็เพิ่ม 5 เดือนติด หลังการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว นับเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ แม้ต้นทุนราคาเพิ่มสูงขึ้น

 

วันนี้ (6 ธันวาคม) ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าค่ากลางที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 1.0% เล็กน้อย นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดทำให้ผู้คนออกไปจับจ่ายและรับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้น

 

โดยการบริโภคที่สูงขึ้นยังได้รับแรงหนุนจากการอุดหนุนการเดินทางของรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำจากการระบาดของโควิดด้วย

 

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากเงินเยนที่อ่อนค่า ท่ามกลางการฟื้นตัวของค่าจ้างที่ไม่มากนัก

 

โดยค่าจ้างที่แท้จริง (Real Wage) ซึ่งหักลบกับผลของเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้กำลังซื้อของผู้บริโภคสำคัญ ลดลง 2.6% ในเดือนตุลาคมจากปีก่อนหน้า นับเป็นการร่วงหนักสุดในรอบกว่า 7 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

 

Koya Miyamae นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก SMBC Nikko Securities กล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มแข็งแกร่งต่อไปภายในปีนี้ เนื่องจากกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าจะมีผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม Miyamae ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาจะมีผลในปีหน้า ขณะที่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายน่าจะชะลอตัวลง

 

“เราคาดว่าค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งในปีหน้า แต่อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2% โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้างน่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายด้วย” Miyamae กล่าว

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนตุลาคม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยมีปัจจัยมาจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงและต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ 2% เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือนตุลาคม ทำให้ธนาคารกลางต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 หดตัว 1.2% ต่อปี ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะดีดตัวขึ้น 3.1% ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising