“เราแพ้เวียดนาม 3-0 เลยเหรอ” เสียงของกลุ่มนักข่าวกีฬาสายฟุตบอลดังขึ้นหลังจากที่เราเพิ่งเดินทางกลับจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในทริปที่ทางเจลีก ฟุตบอลลีกอาชีพของญี่ปุ่น ร่วมกับสยามกีฬา ได้เชิญชวนนักข่าวไทยไปเยี่ยมชมสนามฝึกซ้อมของคาวาซากิ ฟรอนตาเล และได้พบปะกับ เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ กองกลางทีมชาติไทยที่ค้าแข้งอยู่กับทีม
ซึ่งผลบอลที่ทุกคนกล่าวถึงคือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในเกมสุดท้ายที่ทีมไทยพ่ายให้กับเวียดนามชนิดที่ว่าไม่สามารถต่อกรได้เลย เพราะโดนเวียดนามนำไปก่อน 3-0 ตั้งแต่ครึ่งแรก
แต่เชื่อว่าในการตั้งคำถามของสื่อสายฟุตบอลไทย ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงแค่ความตกใจที่ฟุตบอลทีมชาติไทยเกือบทุกชุดมีผลงานที่น่าผิดหวัง ตั้งแต่ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพที่ทีมชาติไทยคว้าอันดับ 3 ที่เชียงใหม่ มาจนถึงรายการนี้ที่พ่ายให้กับคู่ปรับร่วมภูมิภาคอย่างเวียดนาม
แต่เป็นเพราะวลี ‘ก้าวข้ามอาเซียน’ ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะห่างไกลกับความจริงเป็นอย่างมาก และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพราะว่านักข่าวกีฬาไทยหลายคนเพิ่งเยี่ยมชมทั้งฟุตบอลลีกอาชีพญี่ปุ่นและพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลญี่ปุ่นที่มีความฝันว่าจะเป็นแชมป์ ยิ่งทำให้เรารู้สึกห่างไกลจากมาตรฐานที่ควรจะเป็นมากขึ้นไปอีก
‘DREAM’ จุดเริ่มต้นของความฝัน
คำปฏิญาณของสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่น
ภายในปี 2050 เราจะทำได้ตามภารกิจ 2 อย่างที่จะสร้างความสุขเป็นอย่างมาก
- ครอบครัวฟุตบอลของญี่ปุ่น แฟนบอลที่มีความรักอย่างแท้จริงในฟุตบอลจะมีจำนวนทั้งหมด 10 ล้านคน
- เราจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก และทีมชาติญี่ปุ่นจะเป็นแชมป์โลก
เป็นส่วนหนึ่งของ JFA Declaration หรือคำประกาศของสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่นที่แถลงขึ้นเมื่อปี 2005 หรือ 3 ปีหลังจากที่ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกับเกาหลีใต้เมื่อปี 2002 และนับตั้งแต่ครั้งแรกที่พวกเขาผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกในปี 1998 ที่ฝรั่งเศส พวกเขาก็ได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาอย่างต่อเนื่องจนถึงกาตาร์ในช่วงปลายปีนี้
แต่ในอดีต ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาเบอร์หนึ่งของประเทศญี่ปุ่น และหากนับวันก่อนตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่น พวกเขาเริ่มต้นหลังสมาคมกีฬาฟุตบอลไทยด้วยซ้ำ (สมาคมกีฬาฟุตบอลไทยก่อตั้งปี 1916 ส่วนญี่ปุ่นก่อตั้งปี 1921)
ฟุตบอลญี่ปุ่นยุคก่อนลีกอาชีพเคยได้รับความนิยมสูงสุดในอดีต เมื่อพวกเขาคว้าเหรียญทองแดงฟุตบอลโอลิมปิกที่เม็กซิโกเมื่อปี 1968 ทำให้สโมสรสมัครเล่นเติบโตขึ้นในลีกที่มีชื่อว่า JSL หรือ Japan Soccer League
แต่หลังจากนั้นกระแสความนิยมฟุตบอลก็ลดต่ำลง ด้วยมาตรฐานของการแข่งขันที่ไม่ดีพอ ทั้งบรรยากาศในสนามและคุณภาพของฟุตบอลที่ยังไม่เป็นอาชีพ
ปี 1992 สมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่นจึงได้ก่อตั้งลีกอาชีพขึ้นมาที่มีชื่อว่า ‘เจลีก’ และเริ่มต้นแข่งขันฤดูกาลแรกในปี 1993 นับหนึ่งของการสร้างฟุตบอลอาชีพในประเทศญี่ปุ่น
แผน 100 ปีของเจลีก กับการสร้างสโมสรฟุตบอลและลีกอย่างไรให้ยั่งยืน
การเติบโตของเจลีกช่วยให้ฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งอยู่อันดับต่ำกว่า 40 ของโลก พุ่งทะยานขึ้นสู่ทีมอันดับที่ 21 ของโลก หลังจากที่แฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันในลีกอาชีพมากขึ้นถึง 20,000 คนต่อเกมโดยเฉลี่ย
แต่วิกฤตนอกสนามก็กลายเป็นคลื่นที่ซัดกระทบลีกอย่างรุนแรง ในปี 1997 เมื่อวิกฤตทางเศรษฐกิจส่งผลให้หลายสโมสรเกือบที่จะล้มละลาย เนื่องจากสปอนเซอร์ทยอยถอนตัวออกจากสโมสร เช่นเดียวกับแฟนกีฬาที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 10,000 คนต่อนัด
เจลีกจึงมองเห็นชัดว่า พวกเขาต้องมีแผนการรับมือที่ไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ระยะยาวที่จะสร้างลีกให้มีอนาคตที่ยั่งยืน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแผน 100 ปีที่จะสร้างสโมสรอาชีพให้ได้ 100 สโมสรในญี่ปุ่นภายในปี 2092
บอร์ดบริหารของเจลีกต้องการสร้างสโมสรให้พร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจลูกใหม่ ด้วยการให้แต่ละสโมสรออกแบบความร่วมมือกับธุรกิจในท้องถิ่นและบริษัทขนาดเล็กที่ทำธุรกิจอยู่ในพื้นที่ มากกว่าที่จะพึ่งพาการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในส่วนกลางที่สนับสนุนลีก
เช่นเดียวกับการสร้างอะคาเดมีระดับรากหญ้า ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของกีฬาฟุตบอลกับเยาวชนให้มีส่วนร่วมกับกีฬาฟุตบอล ซึ่งยังจะช่วยดึงดูดคนดูที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าชมการแข่งขันในสนามอีกด้วย ด้วยความเชื่อมั่นว่าสโมสรจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจ แฟนบอล และรัฐบาลท้องถิ่น
ผลของการเติบโตของลีกอาชีพที่มีรากฐานที่แข็งแกร่งยังส่งผลให้ทีมชาติญี่ปุ่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนพวกเขาก้าวไปสู่ฟุตบอลโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1998 และกลายเป็นขาประจำตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
การตลาดเจลีกในยุคปัจจุบัน
การตลาดของเจลีกในยุคปัจจุบันมีความคล้ายกับอดีตตรงที่โฟกัสไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่
THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮิโรชิ บาบะ ผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลอาชีพเจลีก ญี่ปุ่น ที่เจเอฟเอเฮาส์ ถึงแผนการตลาดของเจลีกในปัจจุบัน
“ญี่ปุ่นเรามีฟรีทีวีดูฟรี แต่ในต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ และยุโรปก็มีค่าใช้จ่ายในการรับชม” ฮิโรชิกล่าว
“ในญี่ปุ่นเรามี 2 ปัญหา คือ เรามีการถ่ายทอดสดแบบสตรีมมิงให้กับสมาชิก ซึ่งดีต่อการสร้างรายได้ แต่ปัญหาคือแฟนกีฬามีจำนวนจำกัด
“เราจึงต้องขยายฐานคนดูด้วยทีวีท้องถิ่นที่ยังคงได้รับความนิยมในหลายพื้นที่ และนี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญมากของเรา
“อีกอย่างคือการตลาดดิจิทัลที่เราขายตั๋วผ่านแอปพลิเคชันคู่กับ J-Leauge ID ที่เราจะเก็บข้อมูลจากแฟนๆ ได้ และเราสามารถสื่อสารข้อมูลอย่างถูกต้องไปยังคนที่เข้าชมการแข่งขันที่สนามอย่างต่อเนื่อง
“หรือบางคนที่มาชมการแข่งขันที่สนามเมื่อ 2 ปีก่อนและไม่มาอีกเลย เราก็อยากได้ข้อมูลของเขาผ่านช่องทางต่างๆ ว่าทำไมเขาถึงไม่มาชมที่สนาม เราก็จะพยายามใช้เครื่องมือทางการตลาด เช่น จัดโปรโมชันดึงดูดให้เขากลับมาเข้าสนาม
“ดังนั้น J-League ID มีส่วนสำคัญมากๆ ในการช่วยดึงดูดแฟนบอลเข้ามาชมที่สนาม
“เราให้ความสำคัญทั้งการดูผ่านสื่อและการดูบอลที่สนามเท่าๆ กัน สำหรับสนาม การชวนคนเข้ามาดูนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะมาตรการต่างๆ ช่วงสถานการณ์โควิด แต่หลังจากที่คนกลับมาชมการแข่งขันได้ บรรยากาศที่สนามก็กลับมาดีอีกครั้ง ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการถ่ายทอดสดด้วย เพราะบรรยากาศที่ถูกถ่ายทอดออกไปจะดีกว่าตอนที่ไม่ให้คนเข้าชม เช่นเดียวกันคนดูในสนามเองก็จะมีบรรยากาศที่ดีไปด้วย
“ตอนนี้เรามีสโมสรในเจลีกทั่วประเทศทั้งหมด 58 ทีม หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นชุมชน ความร่วมมือกับคนในพื้นที่ ตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงผู้คน แต่ละสโมสรทำการตลาดและการสื่อสารเอง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางการตลาดหรือกิจกรรมในสโมสร นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างแรก
“อย่างที่ 2 คือคุณภาพของฟุตบอล ทั้งทีมและนักเตะเป็นองค์ประกอบสำคัญ และสนามก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โอลิมปิกปี 2021 ที่ผ่านมา จัดการแข่งขันในสนามแห่งชาติที่ใหม่ หลังจากนั้นเรามีเกมหลายแมตช์ในสนามนั้น ซึ่งถ้าเราสามารถโปรโมตได้ว่าเกมแมตช์ต่อไปจะแข่งขันกันที่สนามกีฬาแห่งชาติใหม่นี้ คนก็จะมาสนามเพราะความสนใจเข้าชมสนามใหม่ สนามก็เป็นคอนเทนต์ที่ดึงดูดผู้คนเช่นเดียวกัน และสุดท้ายคือแฟนบอลที่สร้างบรรยากาศที่ยอดเยี่ยมในสนาม
“ทุกสโมสรมีเอกลักษณ์และแผนการตลาดของตัวเอง แต่คุณภาพฟุตบอลคือสิ่งสำคัญที่สุดในการดึงดูดคนดู”
นอกจากนี้ THE STANDARD ยังได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมการแข่งขันฟุตบอลเจลีกนัดที่ 31 ของฤดูกาล ที่คาวาซากิ ฟรอนตาเล ลงสนามเอาชนะชิมิสุ เอส-พัลส์ ไป 3-2 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ในสนามเต็มไปด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นสำหรับแฟนบอลที่เดินทางมาชมที่สนาม
โดยในช่วงเดือนตุลาคมที่ใกล้กับเทศกาลฮาโลวีน ทางสโมสรได้ประกาศรายชื่อเป็นธีมฮาโลวีน ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่โปสเตอร์รอบสนามที่นำเอานักเตะของทีมมาแต่งชุดแฟนซีทั้ง เจ ชนาธิป ที่แม้จะยังลงสนามช่วยทีมไม่ได้เนื่องจากอาการบาดเจ็บ ก็ได้แต่งตัวเป็น บัซ ไลท์เยียร์ และ อากิฮิโร อิเอนากะ นักเตะที่เป็นเหมือนรุ่นพี่ของทีม ก็แต่งตัวเป็น แชงครูส ตัวละครที่เป็นเหมือนพี่ใหญ่ของพระเอก ลูฟี่ ในการ์ตูน One Piece
นอกจากนี้สนามยังได้จัดแบ่งโซนให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กให้อยู่อัฒจันทร์ด้านล่าง พร้อมกับโต๊ะและพื้นที่ยืนสำหรับเด็ก ให้ได้รับความสนุกจากการแข่งขันอย่างเต็มที่
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เจลีกพบว่า คาวาซากิ ฟรอนตาเล ถือเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีกิจกรรมพิเศษมากมายสำหรับแฟนๆ และหนึ่งไฮไลต์ในอดีตคือครั้งหนึ่งโทโรโดกิสเตเดียมแห่งนี้เคยให้รถแข่ง F1 วิ่งในสนามเมื่อปี 2014 มาแล้วด้วย
Japan Way 2022 หนทางพัฒนาฟุตบอลใหม่ที่ให้ความสำคัญทั้งการสร้างนักเตะและส่งเสริมความนิยมของฟุตบอล
“ในอดีตฟุตบอลไม่ใช่กีฬาเบอร์หนึ่งของเรา แต่คือเบสบอล แต่ตอนนี้ฟุตบอลก้าวขึ้นมาเป็นกีฬาเบอร์หนึ่งคู่กับเบสบอลได้แล้ว” เจ้าหน้าที่เจลีกอธิบายความนิยมของกีฬาฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่นให้กับ THE STANDARD ฟังระหว่างที่เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว
เราได้พบเห็นทั้งห้องพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความฝันของการเป็นแชมป์โลกในปี 2050 ด้วยคติ DREAM ที่มีถ้วยแชมป์โลกจำลองอยู่กลางห้อง ทำเนียบแชมป์ในอดีต ไปจนถึงปี 2050 ที่เขาต้องการที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน ทำเนียบแชมป์โลกของฟุตบอลหญิงทีมชาติญี่ปุ่นที่ก้าวไปถึงแชมป์โลกแล้วเมื่อปี 2011 และคว้ารองแชมป์โลกเมื่อปี 2015
แต่สิ่งที่เขียนไว้ด้านบนของห้องโถงความฝันแชมป์โลกภายในปี 2050 คือภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายว่า
“ชาติที่เป็นแชมป์โลกคือชาติที่มีความรักในฟุตบอล” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายใหม่ที่เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยปกติแล้วในโลกฟุตบอลจะมีพีระมิดของการพัฒนาฟุตบอลตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงฟุตบอลทีมชาติ
ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้วางโครงสร้างพีระมิดใหม่ที่มี 2 ยอด ประกอบไปด้วย
- ฐานแรก: ฟุตบอลระดับรากหญ้า (Grassroots)
- ฐานสูงขึ้นมา: ฟุตบอลเยาวชน (Youth)
- ฐานอันดับที่ 3: ฟุตบอลระดับสูง (Elite)
ก่อนจะแยกพีระมิดออกเป็น
- ยอดแรก: ฟุตบอลสมัครเล่น (Amatuer) สำหรับการส่งเสริมความนิยมของฟุตบอล
- ยอดที่สอง: ฟุตบอลทีมชาติและฟุตบอลอาชีพ (Professional)
เคล็ดลับการพัฒนาฟุตบอลของญี่ปุ่น
เมื่อเราสอบถาม ฮิโรชิ บาบะ ว่า คุณภาพของฟุตบอลที่เป็นแกนหลักสำคัญของการดึงดูดแฟนบอลให้เข้าชมที่สนามและการถ่ายทอดสดสร้างอย่างไร
ฮิโรชิยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่หากจะให้ตอบสั้นๆ คือ คุณต้องมีแผนระยะสั้น กลาง และยาว
“ที่เจลีกเรามีแผน 100 ปีเพื่อพัฒนาฟุตบอลของเรา และทุกองค์ประกอบต้องร่วมกันทำเพื่อฟุตบอล เราต้องมองเห็นเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด”
และเมื่อเราถามว่า บทบาทของเจลีกในการส่งฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นให้ถึงฝันในปี 2050 คืออะไร
ฮิโรชิมองว่า ในปัจจุบันนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่มาจากยุโรปเกือบหมดแล้ว (ในปี 2018 นักเตะทีมชาติญี่ปุ่น 14 จาก 23 คน ค้าแข้งอยู่นอกเอเชีย และส่วนใหญ่อยู่ในลีกอาชีพระดับสูงของยุโรป)
“หน้าที่ของเราคือการสร้างนักเตะที่มีมาตรฐาน เพื่อส่งต่อไปค้าแข้งในต่างแดน ตอนนี้ทีมชาติมีนักเตะส่วนใหญ่มาจากสโมสรยุโรป ผมคิดว่าคุณภาพของนักเตะเราเติบโตอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับโลก เรามีหน้าที่เพียงแค่ระดับพื้นฐานให้ไปสู่ระดับโลก
“สิ่งที่เราอยากจะได้ประโยชน์มากขึ้นคือ การได้แข่งขันในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน”
สิ่งที่เราพบเห็นหลายๆ อย่างในการเดินทางไปเจลีกและพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลในครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเราเห็นเพียงสิ่งที่ทางฟุตบอลญี่ปุ่นต้องการให้เราเห็น ทั้งเส้นทางการเติบโตและความสำเร็จของฟุตบอลญี่ปุ่นในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับลีกและทีมชาติ
แน่นอนว่าฟุตบอลญี่ปุ่นเหมือนกับทุกประเทศคือต่างมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องพบเจอ จนทำให้ผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือความฝันที่ต้องการ
แต่สิ่งที่ฟุตบอลญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นในตอนนี้คือ พวกเขามีความฝันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือกล้าที่จะเดินตามความฝันที่ยิ่งใหญ่
จากมาตรฐานที่พวกเขาสร้างไว้ จึงทำให้พวกเขากล้าที่จะฝันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องกังวลกับเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้ในอดีต เหมือนกับคำตอบที่เราได้รับจากเจลีกว่า พวกเขามีบทบาทเพียงแค่สร้างนักเตะเพื่อส่งไปแข่งขันบนเวทีโลก
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในวันที่เราเพิ่งจะพลาดเหรียญทองซีเกมส์ที่เวียดนามไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ได้ที่ 3 คิงส์คัพ และผลงานเยาวชนในแต่ละรุ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการจะก้าวข้ามระดับอาเซียน
การที่เราจะกล้าฝันไปถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แม้ว่ากำลังจะมีการเพิ่มโควตาในฟุตบอลโลกครั้งหน้าเป็น 48 ทีมในรอบสุดท้าย ปี 2026 ที่สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา เป็นเจ้าภาพ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริงในตอนนี้เป็นอย่างมาก
สิ่งสำคัญที่ต้องมีในตอนนี้ซึ่งจะแก้ปัญหาระยะสั้นได้รวดเร็วที่สุด อาจคล้ายกับสิ่งที่ทีมงานอาสาสมัครญี่ปุ่นในเจลีกทำทุกครั้งหลังจบเกมในทันที
นั่นคือการประชุมอย่างเร่งด่วน เพื่อถอดบทเรียนจากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว และมองให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงในตอนนี้คืออะไร แล้วค่อยเริ่มก้าวจากตรงนั้น ก่อนที่จะฝันให้ได้ไกลเหมือนกับญี่ปุ่นในตอนนี้
ในการเดินทางไปเจลีกครั้งนี้ THE STANDARD ยังได้ทราบข่าวจาก วรรคสร โหลทอง กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามสปอร์ต ดิจิตอล มีเดีย จำกัด ที่จับมือกับเจลีก นำพาสื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ว่า เจลีกเตรียมสนับสนุนการดึงแข้งไทยมาค้าแข้งในญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อฟุตบอลทีมชาติไทย
โดยในอดีตเจลีกเปิดรับให้นักเตะต่างชาติมาช่วยพัฒนาฝีเท้าและไอเดียฟุตบอลสำหรับลีกจนแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันเจลีกมีแผนการตลาดที่ต้องการให้นักฟุตบอลในอาเซียนมาค้าแข้งในเจลีก เพื่อเพิ่มความนิยมของเจลีกในภูมิภาคและพัฒนาฟุตบอลในเอเชียไปในตัว
ซึ่งการเดินทางไปค้าแข้งเจลีกส่งผลดีให้เห็นถึงฝีเท้าและพัฒนาการของนักเตะไทยหลายคนทั้ง เจ ชนาธิป และอุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน แบ็กซ้ายทีมชาติไทยที่กลายเป็นนักเตะไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เจลีกไปแล้วกับโยโกฮามา เอฟ มารินอส
สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากการเยี่ยมชมเจลีกครั้งนี้ที่สำคัญที่สุดคือ ญี่ปุ่นสามารถนำเอาฟุตบอลมาพัฒนาในรูปแบบของพวกเขาเองได้ ตั้งแต่ระดับทีมชาติไปจนถึงบรรยากาศการเชียร์ของแฟนบอลในสนามที่อบอุ่นและเหมาะสมสำหรับการเข้าชมที่สนามแบบเป็นครอบครัว
ฟุตบอลไทยจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จากญี่ปุ่นเพื่อหาทางของตัวเองให้เจอ เพราะตอนนี้ที่เราดูเหมือนว่ากำลังหยุดอยู่กับที่ไม่ได้หมายความว่าเราจะคงอันดับและ มาตรฐานฟุตบอลบนเวทีโลกไว้ที่เดิมได้ แต่หมายความว่าเรากำลังก้าวถอยหลังในวันที่ฟุตบอลอาเซียนก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
เพราะโลกของการแข่งขัน ไม่มีใครคอยใครอยู่แล้ว และคนที่เตรียมพร้อมมาดีที่สุดเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ชนะ