บริษัทในประเทศญี่ปุ่นหลายแห่งเริ่มปรับลดคุณสมบัติด้านภาษาของผู้สมัครงานชาวต่างชาติลง หลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
การสำรวจของเว็บไซต์จัดหางานในญี่ปุ่น Human Global Talent and Globalpower พบว่าปัจจุบัน 70% ของตำแหน่งที่บริษัทในญี่ปุ่นเปิดรับแรงงานต่างชาติกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเอาไว้ว่า ต้องสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นขั้นสูงได้ แต่มีเพียง 40% ของผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว
การสำรวจยังพบว่าจาก 18,000 ตำแหน่งที่บริษัทญี่ปุ่นเปิดรับสมัครแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติ เช่น วิศวกร นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 75% กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเอาไว้ว่า ต้องผ่านการทดสอบทางภาษาในระดับ N1 ซึ่งหมายถึงสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ในหลากหลายสถานการณ์
เว็บไซต์ดังกล่าวยังพบด้วยว่า ในจำนวนชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนหางานเอาไว้ในเว็บไซต์ราว 9,000 คน มีผู้ที่ผ่านการทดสอบทางภาษาในระดับ N1 เพียง 37% เท่านั้น
อุปสรรคทางภาษาถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บริษัทพลาดโอกาสในการจ้างแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันในสหรัฐฯ หรือยุโรป ที่มักจะให้ความสำคัญกับคุณสมบัติด้านทักษะการทำงานมาก่อนทักษะทางภาษา
รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มีความพยายามผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นปรับลดคุณสมบัติทางภาษาของผู้สมัครงานชาวต่างชาติลง โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มีการประเมินเอาไว้ว่า ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในสายไอทีถึง 790,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 ทำให้การพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศอาจเป็นหนทางที่จำเป็นสำหรับบริษัทญี่ปุ่นในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทาเคชิ คุมอน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเอเชีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้ออกมาแนะนำให้บริษัทญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับทักษะและองค์ความรู้ของผู้สมัครงานชาวต่างชาติมากกว่าทักษะทางภาษา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนแรงงานทักษะสูงในประเทศ และเพิ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรมการทำงานให้กับชาวญี่ปุ่น
กระแสการขาดแคลนแรงงานทำให้ปัจจุบันหลายบริษัทในญี่ปุ่นเริ่มมีการปรับลดเกณฑ์คุณสมบัติทางภาษาของพนักงานต่างชาติลง หนึ่งในนั้นคือ Sun บริษัทสตาร์ทอัพด้านไอทีในโตเกียว โดย Sun ได้กำหนดคุณสมบัติด้านภาษาญี่ปุ่นของพนักงานชาวต่างชาติของบริษัทเอาไว้ที่ระดับ N3 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้เท่านั้น
อย่างไรก็ดี นอกจากข้อจำกัดทางภาษาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งยังเชื่อว่าวัฒนธรรมการจ้างงานของบริษัทญี่ปุ่นที่มีลักษณะเป็น Membership-style ซึ่งพนักงานจะได้รับการปฏิบัติให้เหมือนเป็นสมาชิกของกลุ่มที่จะได้รับมอบหมายหน้าที่หลายอย่าง หรือถูกโยกย้ายหมุนเวียนไปยังหลากหลายแผนกในองค์กรแทนที่จะโฟกัสอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่สามารถดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศได้
อ้างอิง: