×

ทำไมแบงก์ญี่ปุ่นถึงเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ท่ามกลางวิกฤตสถาบันการเงินที่กำลังร้อนระอุ

26.03.2023
  • LOADING...
แบงก์ญี่ปุ่น

วิกฤตของสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นหลังการล้มละลายของ 3 ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ รวมถึงการที่ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Credit Suisse จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือโดยการขายกิจการให้กับ UBS จนนำไปสู่ความกังวลที่ว่าธนาคารต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือไม่ 

 

รวมถึงธนาคารในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกระทบอย่างหนัก สะท้อนจากราคาหุ้นที่ดิ่งลงแรง เนื่องจากธนาคารขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่เข้าลงทุนในหุ้นกู้สหรัฐฯ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่าจะเผชิญกับผลขาดทุนจากตราสารที่ถืออยู่อย่างที่ Silicon Valley Bank (SVB) ต้องเผชิญ 

 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับและผู้บริหารธนาคารในญี่ปุ่นต่างออกมาสร้างความเชื่อมั่นอย่างรวดเร็ว พร้อมระบุว่า ระบบการเงินของญี่ปุ่นยังแข็งแกร่งจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 

 

1. งบดุลที่แข็งแกร่ง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธนาคารต่างๆ ในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับผลขาดทุนจากหุ้นกู้ต่างประเทศ จากการที่แต่ละบริษัทต่างกระจายเงินออกไปลงทุนหลังจากที่ญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอย่างมาก ก่อนที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว 

 

ธนาคารในญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เผชิญกับผลขาดทุนรวมกัน 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์จากการลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศ รวมทั้งหลักทรัพย์อื่นๆ ณ เดือนธันวาคม 2022 

 

แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากกรณีของ SVB คือ ธนาคารญี่ปุ่นถือครองหุ้นกู้ในแบบที่พร้อมจะขายออกไป มากกว่าที่จะถือไปจนครบอายุ หมายความว่าแต่ละธนาคารต่างลงบัญชีตามราคาตลาด แทนที่จะเป็นการลงบัญชีตามมูลค่าที่ตราไว้ และสำหรับธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารภูมิภาคบางส่วนที่มีกิจการในต่างประเทศ ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจะสะท้อนในเงินกองทุนของธนาคาร แทนที่จะเป็นงบกำไรขาดทุน

 

นอกจากนี้ธนาคารญี่ปุ่นยังมีผลกำไรจากการลงทุนในหุ้นเข้ามาช่วยชดเชยผลขาดทุนจากตราสารหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยธนาคารในญี่ปุ่นมีผลกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงรวมกัน 0.9 ล้านล้านเยนจากการลงทุนในหุ้นภายในประเทศในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

 

2. ยากที่จะเกิด Bank Run

ปัญหาของ SVB เกิดจากการแห่ถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ฝากไว้โดยกลุ่มสตาร์ทอัพ ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องยอมขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ออกมา แต่ธนาคารในญี่ปุ่นมีความแตกต่างไปค่อนข้างมากจากการกระจายตัวของผู้ฝาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก 

 

ไมเคิล แมกแดด นักวิเคราะห์ของ Morningstar กล่าวว่า “ญี่ปุ่นเป็นที่สุดท้ายที่คุณคาดคิดว่าจะเกิด Bank Run” แม้แต่ว่าราคาหุ้นของธนาคารญี่ปุ่นดิ่งลงและลูกค้าเสียความเชื่อมั่น แต่ธนาคารญี่ปุ่นยังคงมีเงินสดเหลือเฟือ 

 

3. การระดมทุนจากบอนด์

เช่นเดียวกับสถาบันการเงินยุโรป ธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นต่างเริ่มออกตราสารที่เรียกว่า Additional Tier 1 (AT1) หลังจากผ่านวิกฤตการเงินครั้งใหญ่เมื่อปี 2008 เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ลงทุนจะเป็นผู้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น แทนที่จะเป็นผู้เสียภาษีทั่วไป แต่ธนาคารญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญกับแรงกดดันจากการเทขาย AT1 ที่กำลังเกิดขึ้นจากหลายเหตุผล 

 

แมกแดดกล่าวว่า ประการแรกคือ ผู้ซื้อหุ้นกู้ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะซื้อต่อไปแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจะต่ำ และล่าสุดธนาคารในญี่ปุ่นยังคงออกขาย AT1 แค่ในสกุลเงินเยนเท่านั้น 

 

นอกจากนี้จะเห็นว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นยังไม่มีหุ้นกู้ AT1 ที่จะครบกำหนดอายุจนถึงเดือนธันวาคมนี้ 

 

4. การเข้าถึงเงินดอลลาร์

หนึ่งในข้อกังวลต่อธนาคารญี่ปุ่นคือ การที่หลายบริษัทขยายธุรกิจไปต่างประเทศและปล่อยกู้ในสกุลดอลลาร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีความเสี่ยงจากการที่เงินดอลลาร์กำลังแข็งค่า 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการล้มลงของ SVB มีเพียงไม่กี่แบงก์ที่เริ่มเผชิญกับเงินดอลลาร์ไม่เพียงพอ และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังไม่ได้รับคำสั่งซื้อเงินดอลลาร์เข้ามาเพิ่มเติมแต่อย่างใด เทียบกับช่วงวิกฤตปี 2008 ซึ่งมีความต้องการเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X