×

รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย วิเคราะห์เบื้องหลังแบรนด์รถญี่ปุ่น Honda Nissan และ Mitsubishi ดิ้นสู้จนเดินมาถึงจุดเปลี่ยนควบรวมกิจการ?

19.12.2024
  • LOADING...
รถญี่ปุ่น

กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อ Honda และ Nissan กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างคู่แข่งรายสำคัญของในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นและรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีน แม้จะยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาและยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งความเป็นไปได้ก็อาจพิจารณาการจัดตั้ง ‘บริษัทโฮลดิ้ง’  

 

นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะนำ Mitsubishi ซึ่ง Nissan เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24% เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งด้วย 

 

ทันทีที่มีกระแสข่าวหุ้นนิสสันพุ่ง 23.7% และวันเดียวกันก็มีรายงานข่าวอีกว่า Foxconn ติดต่อขอซื้อหุ้นใหญ่ Nissan จนอาจถึงขั้น ‘เทกโอเวอร์’ ตามมาอีกด้วย 

 

แม้ยังไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่หากเกิดขึ้นจริงในอนาคต การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะสร้างพันธมิตรที่มีความสามารถในการแข่งขันสู้กับยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Toyota และ Volkswagen รวมถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีน BYD และ Tesla โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์รวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านคัน เมื่อรวมยอดขายของ Mitsubishi ซึ่งเป็นพันธมิตรของ Nissan อยู่แล้ว

 

เกิดอะไรขึ้นกับสภาพคล่อง Honda-Nissan

 

หากดูจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) จะพบว่า Honda มีมาร์เก็ตแคป (ณ วันที่ 17 ธันวาคม) อยู่ที่ 6.8 ล้านล้านเยน (4.44 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงกว่ามาร์เก็ตแคปของ Nissan ที่อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม แม้จะรวมกันแล้วมาร์เก็ตแคปก็ยังน้อยกว่า Toyota ที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ถึง 42.2 ล้านล้านเยน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ประจวบกับในขณะนี้ Honda กำลังประสบปัญหาในการแข่งขันด้านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น และแม้จะทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบผ่านความร่วมมือกับ GM แล้วก็ตาม ทว่าความร่วมมือนี้ก็อ่อนกำลังลง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้ง Honda และ GM ได้ยุติความร่วมมือด้านรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ โดย GM หันไปผนึกกับ Hyundai แบรนด์ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้แทน ทำให้ Honda ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับมือกับการเติบโตของรายได้ที่ชะลอตัวและผลกำไรที่ลดลง แถมบริษัทยังเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุนและภาระหนี้สิน

 

ทางด้าน Nissan หากดีลนี้สำเร็จจะดีต่อ Nissan ที่กำลังอยู่ในภาวะ ‘หายใจรวยริน’ จากปัญหาทางการเงิน และบริษัทกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักเคลื่อนไหวและภาระหนี้มหาศาล ซึ่งนำไปสู่การคาดเดาว่า Nissan อาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้จะเห็นว่าที่ผ่านมา Nissan เร่งหาผู้ลงทุนหลักรายใหม่ เพราะ Renault พันธมิตรเก่าแก่ประกาศลดสัดส่วนการถือหุ้น ท่ามกลางวิกฤตยอดขายที่ตกต่ำลงในจีนและสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ แหล่งข่าววงในเผยว่า Nissan กำลังมองหาผู้ถือหุ้นระยะยาว เช่น ธนาคารหรือกลุ่มประกันภัย เพื่อเข้ามาแทนที่ Renault

 

โดยมีรายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่า สถานการณ์ของ Nissan ณ เวลานี้ เข้าขั้น ‘วิกฤตและน่าเป็นห่วง’ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งกล่าวว่า “เรามีเวลา 12 หรือ 14 เดือน ในการเอาชีวิตให้รอด”

 

 

รถญี่ปุ่น

Screenshot

 

จึงไม่แปลกที่ Nissan และ Honda จะเร่งเจรจาความร่วมมือ และอาจเกิดการควบรวมในอนาคต โดยสรุปเหตุผลได้ว่า

  1. เพื่อพัฒนา EV และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ร่วมกัน ท่ามกลางแรงกดดันจากคู่แข่งแบรนด์ EV จีน 
  2. ความไม่แน่นอนในสหรัฐฯ ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเฉพาะการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะตั้งกำแพงภาษีรถยนต์ใหม่
  3. อุตสาหกรรมเผชิญการแข่งขันที่สูง ทำให้หลายๆ บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
  4. ต่อสู้กับ Toyota ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลก 

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า หากการควบรวมกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถือเป็นการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ Fiat Chrysler เข้าร่วมกับ Groupe PSA ซึ่งตั้งอยู่ในฝรั่งเศส เพื่อก่อตั้งแบรนด์ Stellantis ในเดือนมกราคม 2021

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงตลาดยานยนต์ไทยที่อยู่ในภาวะซบเซาไม่แพ้กัน โดยจะเห็นว่าหลายค่ายรถญี่ปุ่นในไทยเองก็ต้องปรับกลยุทธ์ ย้าย ลด ยุติการผลิต หลายบริษัทลดชั่วโมงทำงานและยืนอยู่ในจุดเสี่ยง สาเหตุหลักมาจากการถูกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนถล่มอย่างหนัก

 

อย่างไรก็ตาม หากมองในอีกแง่มุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักของการปรับสายการผลิตของแต่ละโรงงานที่เป็นค่ายรถญี่ปุ่นต้องปรับทัพใหม่ นั่นอาจเป็นเพราะ ‘นโยบาย’ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ EV รวมถึงปลั๊กอินไฮบริด และไทยเองก็ได้ให้ผู้ประกอบการ ‘สร้างโรงงานที่เป็น Green Energy’ ตลอดจนมีนโยบายกระตุ้นการลงทุนไฮบริดควบคู่ EV

 

หมายความว่าอาจยังไม่ต้องถึงขั้นผลิต EV ล้วน แต่เป็นการผลิต ‘ปลั๊กอินไฮบริด’ ซึ่งต้องยอมรับว่าปีนี้รถยนต์ไฮบริดขายดีกว่าด้วย

 

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมองเป็นสัญญาณที่ดี

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บอกกับ THE STANDARD WEALTH ในประเด็นนี้ว่า ค่ายรถญี่ปุ่นคงถึงเวลาปรับตัวจริงๆ เพราะข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมมองว่าเป็นข่าวดี ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในเดือนมีนาคม โดย Honda และ Nissan ตกลงที่จะเริ่มการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการผลิตรถ EV และเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ 

 

ก็อาจเป็นไปได้ว่าทั้งสองกำลังพิจารณาที่จะให้บริษัทใหม่ที่ควบรวมกันนั้นดำเนินงานในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง (บริษัทที่ถือหุ้นในกิจการอื่นเป็นหลัก) มากกว่าควบรวมหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งก็จะคล้ายคลึงกับแบรนด์ Stellantis ในช่วงปี 2021 เกิดการควบรวม Fiat Chrysler และ PSA เข้าด้วยกัน ทำให้มีแบรนด์รถยนต์ในมือมากถึง 14 แบรนด์ ประกอบด้วย Citroen, Fiat, Opel, Vauxhall, Peugeot, Abarth, Ram, Dodge, Chrysler, Jeep, Lancia, DS Automobiles, Alfa Romeo และ Maserati ส่งผลให้เครือดังกล่าวมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์

 

“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่ากรณี Honda และ Nissan ตอนนี้ยังคงอยู่ในขั้นหารือ น่าจะเป็นการมองหาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เท่านั้น ยังไม่มีการประกาศควบรวมกิจการ ก็ต้องติดตามต่อไป แต่ที่แน่ๆ เป้าหมายของทั้งสองบริษัทคงจะเน้นไปที่การร่วมพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ไฮโดรเจน สร้างความแข็งแกร่งร่วมกันจากความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดโลกมากกว่า”

 

สำหรับค่ายรถยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นอีกรายอย่าง Toyota ที่แม้จะครองตำแหน่งรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก แต่ปีนี้ Toyota ก็เผชิญกับยอดขายที่ลดลงในจีน เพราะการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือด รวมถึงความต้องการของผู้ซื้อก็หันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

 

ทว่าหากดูแผนของ Toyota จะพบว่ากำลังเคลื่อนตัวสู่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน โดยมีการรายงานว่าสายการผลิตส่วนใหญ่หรืออาจทั้งหมดของกลุ่ม Toyota และ Lexus จะมุ่งไปสู่รถไฮบริด 

 

Akio Toyoda ประธานบริษัท Toyota กล่าวเมื่อต้นปี 2024 ว่า ส่วนแบ่งของ EV ทั่วโลกจะอยู่ที่ระดับสูงสุดเพียง 30% เท่านั้น Toyota จึงเลือกใช้กลยุทธ์เปลี่ยนผ่าน ‘หลากหลาย’ (Multi Pathway) ซึ่งวางตัวเลือกไว้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เชื้อเพลิงสีเขียว และอาจรวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคต

 

ดังนั้นในอนาคตจึงต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของค่ายรถญี่ปุ่น ซึ่งอาจเห็นการปรับกลยุทธ์หรือแสวงหาร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ มากขึ้นหรือไม่

 

‘ไทย’ ยังอยู่ในเรดาร์ฐานการผลิต

 

สำหรับประเทศไทยที่มีฐานผลิตค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่ทุกค่ายต่างมีแผนลงทุนในไทย โดยภายใน 5 ปี ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น 4 ราย พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย มูลค่าการลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่

  • บริษัท Toyota 5 หมื่นล้านบาท 
  • บริษัท Honda 5 หมื่นล้านบาท
  • บริษัท Isuzu 3 หมื่นล้านบาท
  • บริษัท Mitsubishi 2 หมื่นล้านบาท

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม อากิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เข้าหารือกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดย Toyota ระบุว่าจะรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และจะเพิ่มการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท เพื่ออัปเกรดสายการผลิตไปสู่รถไฮบริด จากเดิมที่เป็นฐานการผลิตของเครื่องยนต์สันดาปภายใน และจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในชิ้นส่วนไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ เกียร์ ก็จะมีการลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะมีการจ้างงานและส่งต่อถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการวิจัยและพัฒนาบุคลากรให้เดินหน้าต่อ 

 

พร้อมกับย้ำว่าจะพยายามขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ฟื้นกลับคืนมา  

 

ภาพ: VCG / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising