×

กางแผน 3 วิธีพา Japan Airlines พ้นล้มละลาย หรือนี่คือพิมพ์เขียวพา ‘การบินไทย’ พลิกฟื้นกลับมาได้?

โดย THE STANDARD TEAM
11.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ถอดบทเรียนสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น Japan Airlines ที่ทำการบ้าน 3 ข้อได้ถูกต้องไร้ที่ติ จนพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างสง่างาม ความสำเร็จนี้ถูกมองว่าเป็นพิมพ์เขียวให้บริษัทอื่นทำตามได้เพื่อรักษาแผลเรื้อรังในองค์กร โดยเฉพาะการบินไทยที่กำลังอาการหนักอยู่ในขณะนี้
  • นอกจากเส้นทางที่ Japan Airlines เลือกเดินจนพ้นจากวิกฤต บริษัทที่จะเดินตามพิมพ์เขียวนี้ควรรู้ถึงสถานะวันนี้ของ Japan Airlines ด้วย ล่าสุด JAL หนีไม่พ้นพิษโควิด-19 ประกาศขาดทุนจากการดำเนินงานไตรมาสมีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นการขาดทุนครั้งแรกหลังจากที่ JAL กลับมาแจ้งเกิดในปี 2012
  • แม้ปีนี้จะเป็นปีครบรอบ 10 ขวบหลังจาก Japan Airlines ประกาศล้มละลาย สื่อญี่ปุ่นพบว่า ในสายตาลูกพระอาทิตย์ Japan Airlines ก็ยังถูกตั้งคำถามและถูกวิจารณ์ว่าเป็นองค์กรที่รัฐบาลให้การช่วยเหลืออย่างไม่ยุติธรรม โอบอุ้ม Japan Airlines ด้วยเงินมหาศาลรวมกว่า 2.3 ล้านล้านเยน เป็นภาพติดตัวที่ไม่ได้จางลงเลยแม้เวลาจะผ่านไปแล้วหนึ่งทศวรรษ

มกราคม 2020 คือช่วงเวลาครบรอบ 10 ปีเต็มหลังจากที่สายการบิน Japan Airlines ประกาศล้มละลาย วิกฤตในวันนั้นถูกกล่าวขานว่าเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน แน่นอนว่าหากการบินไทยประกาศล้มละลายบ้าง ดีกรีความเสียหายก็คาดว่าจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

 

 

ภาพจำจากรัฐอัดฉีดยังไม่จางหาย

แม้เวลาจะผ่านไปไม่น้อย แต่สำนักข่าวจิจิ (JIJI) พบว่า คำถามและคำวิจารณ์ถึง Japan Airlines ยังคงมีอยู่ไม่ได้หายไป โดยเฉพาะภาพจำเรื่องความช่วยเหลือจากรัฐที่อัดฉีดให้ JAL บินต่อไปได้นั้นสูงเกิน 2.3 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 693,147 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลไทยอาจต้องกระเป๋าฉีกพร้อมกับได้กระดูกไปแขวนคอในลักษณะเดียวกัน

 

เงินมหาศาลก้อนนี้เป็นกองทุนสาธารณะ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่สุดที่ทำให้ Japan Airlines ประสบความสำเร็จในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลดพนักงานและการปฏิรูปงานบริหารภายใต้การนำของ ‘คาซุโอะ อินาโมริ’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ซึ่งเข้ามาผ่าตัดองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประเด็นนี้ เซจิ มาเอฮาระ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อธิบายว่า รัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นมองว่า JAL ควรได้สิทธิ์ทำธุรกิจต่อไป แต่ส่วนตัวคิดว่าธุรกิจสายการบินญี่ปุ่นควรมีสภาพแวดล้อมที่ JAL และ All Nippon Airways จะแข่งขันกันได้ 

 

แน่นอนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นรู้ดีถึงภาวะเสียงแตกที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายที่มองว่าการให้ความช่วยเหลือเต็มที่นั้นไม่ยุติธรรม ท่ามกลางความเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ยิ่งวิจารณ์มากขึ้นเมื่อได้เห็นชัดว่า Japan Airlines หลังฟื้นฟูใหม่นั้นแข็งแรงสดใสเหลือเกิน

 

ในมุมของ JAL สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่นยอมรับว่า ได้สร้างปัญหาให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ถือหุ้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กระทรวง รวมถึงสถาบันการเงินและพันธมิตร 

 

ยูริ อากาสุกะ ประธาน Japan Airlines ให้สัมภาษณ์แบบเจียมตัวว่า ทุกวันนี้ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก JAL และบริษัทไม่เคยคิดว่าจะฟื้นฟูความไว้วางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีการช่วยเหลือจากสังคม ดังนั้นบริษัทจึงหวังว่าจะกู้คืนความไว้วางใจได้จากการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

 

 

ทำอย่างนี้ถึงกลับมาได้

ก่อนการล้มละลาย JAL มีปัญหาหนี้สินสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท ภาระของ JAL ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น ฝูงบินขนาดใหญ่ที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูง และภาระในการจ่ายเงินบำนาญให้แก่พนักงานเกษียณ ทั้งหมดนี้ทำให้ JAL ยื่นเรื่องเป็นบริษัทล้มละลายในวันที่ 19 มกราคม 2010 เพื่อให้ JAL มีสิทธิ์ปรับโครงสร้างหนี้และองค์กรได้อย่างเต็มรูปแบบ

 

รัฐบาลในเวลานั้นนำโดยพรรค DJP (Democratic Party of Japan ยุบพรรคไปแล้วเมื่อปี 2016) ตัดสินใจว่าจ้างบริษัทที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนชื่อ Enterprise Turnaround Initiative Corporation เพื่อผ่าตัดปฏิรูปสายการบินครั้งใหญ่ 

 

การฟื้นฟูเริ่มด้วยการเตรียมการรอบด้านเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะล้มละลายเป็นเหตุให้ JAL ต้องหยุดให้บริการเที่ยวบิน รัฐบาลจึงบังคับฟ้อง JAL ให้เข้าสู่กระบวนการชำระบัญชีตามกฎหมาย

 

กองทุนสาธารณะมูลค่า 350,000 ล้านเยนถูกอัดฉีดรอบแรกผ่านร่างกฎหมายฟื้นฟู ขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้ JAL หลายรายประสานเสียงตกลงตัดหนี้จำนวนรวมประมาณ 521,500 ล้านเยนทิ้งไป ส่วนผู้ถือหุ้นแต่ละรายนั้นได้รับผลกระทบเต็มที่จากการเพิกถอนหลักทรัพย์และการลดทุน 100% ของ JAL 

 

การจัดการเหล่านี้เป็นการ ‘Rebuild of JAL’ โจทย์ข้อแรกเรื่องของการสร้าง JAL ขึ้นใหม่เน้นโฟกัสที่การตัดเนื้อร้ายทิ้งให้หมด ทำให้ JAL ใส่ใจกับการประกาศแผนปลดระวางเครื่องบินที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเกิน 100 ลำในระยะยาว และการลดสวัสดิการพนักงานระดับสูง

 

 

ทันทีที่ JAL ล้มละลาย บริษัทตัดสินใจลดเงินเดือนและตัดพนักงานจาก 48,000 คนเหลือ 30,000 คน ข่าวพาดหัวตัวใหญ่ในเวลานั้นคือ ฮารุกะ นิชิมัตสึ ซีอีโอ JAL ตัดสินใจยกเลิกผลตอบแทนสำหรับผู้บริหารทั้งหมดของตัวเอง และลดเงินเดือนของตัวเองเหลือเพียง 90,000 เยนต่อปี หรือประมาณ 27,123 บาทเท่านั้น

 

สำหรับอินาโมริที่เป็นประธาน JAL ตามคำเชิญของรัฐบาล คุณปู่วัย 79 ปีคนนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะผู้แต่งหนังสือหลักการจัดการตามปรัญชาจิตวิทยาชื่อ How to Live and How to Work เท่านั้น แต่ยังเป็นนักบวชเซนที่ยึดหลักความโปร่งใส นำความชัดเจนเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของ JAL ได้แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

การถอนรากอำนาจมืดยังเป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ นอกจากวิธีที่อินาโมริตั้งกลุ่มย่อยเพื่อให้แต่ละแผนกแสวงหาผลกำไรของตัวเอง อินาโมริหยอดเมล็ดพันธุ์ในใจผู้บริหาร JAL ว่า ทุกคนไม่ใช่ผู้จัดการร้านขายของชำ และจะไม่มีใครเป็นผู้จัดการบริษัทตัวจริงได้หากไม่สามารถเซย์โนหรือปฏิเสธอำนาจเหล่านี้ แน่นอนว่าอินาโมริไม่เพียงพูดเปล่า แต่ลงมือส่งคำเตือนถึงรัฐบาลให้หยุดกดดัน JAL ที่หลายครั้งต้องบินในเส้นทางที่เอื้อประโยชน์ทางการเมืองแต่ไม่มีกำไร

 

อากาสุกะ ประธาน Japan Airlines ยอมรับว่า ก่อนการล้มละลาย ผู้บริหารและพนักงาน JAL ขาดความตระหนักและความรับผิดชอบต่อต้นทุน ทั้งหมดนี้เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่ออินาโมริเข้ามาเป็นผู้นำในบริษัทเบ็ดเสร็จแล้ว JAL ประกาศตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานรวม 204,900 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2012 เดือนมีนาคม ทำให้ JAL ได้กลับคืนสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในเดือนกันยายนของปีนั้น

 

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์เรื่องการช่วยเหลือที่ไม่ยุติธรรม กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นพยายามชดเชยด้วยการใช้นโยบายตรวจสอบการบริหารจัดการของ JAL อย่างใกล้ชิด และจำกัดการลงทุนใหม่ พร้อมกับให้สิทธิพิเศษแก่ ANA คู่แข่งของ JAL ที่สนามบินฮาเนดะในโตเกียว ซึ่งตั้งแต่กระทรวงสิ้นสุดการตรวจสอบเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2017 สายการบิน JAL ก็พร้อมพาตัวเองไปสู่การเติบโตในระดับใหม่

 

 

การตลาดต้องมา พัฒนาต้องต่อเนื่อง

นอกจากสร้างบริษัทขึ้นใหม่ อีก 2 โจทย์ที่ JAL ตีจนแตกคือการเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดและการรักษาระดับให้บริษัทพัฒนาต่อเนื่อง จุดประสงค์ของ JAL คือการหนีภาพสายการบินโลว์คอสต์ และการยืนยันให้ลูกค้าในตลาดหลักอย่างเอเชียเชื่อมั่นว่า JAL ไม่ได้ถอยหลัง ดังนั้น JAL จึงโฟกัสที่คุณภาพที่เหนือกว่า และให้ทางเลือกการอัปเกรดชั้นโดยสาร ที่ลูกค้าจะมั่นใจได้ถึงความคุ้มค่ากับการอัปเกรด

 

JAL ยังเน้นทำการตลาดด้วยกีฬา เป็นสปอนเซอร์ทีมนักกีฬาระดับชาติหลายประเภท รวมถึงเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันรายการสำคัญ พ่วงไปกับแบรนด์ดังของญี่ปุ่น ทั้งสวนสนุก Tokyo Disneyland, แบรนด์แฟชั่นหรู Samantha Thavasa Japan Limited วงดนตรีเจป๊อป Arashi และซีรีส์การ์ตูนดังอย่าง Doraemon

 

การตลาดเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการมุ่งพัฒนา JAL ให้เป็น JAL ที่ดีกว่าเดิม นอกจากการจัดการที่ดีกว่าจนทำให้กลับมากำไรมากขึ้น JAL ยังวางแผนขยายและหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ JAL มีแผนเปิดตัวเที่ยวบินราคาประหยัดในเดือนพฤษภาคม 2020 บนความหวังที่จะใช้ประโยชน์จากมหกรรมโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ปี 2020

 

 

น่าเสียดายที่ฝันนี้ไม่เป็นจริง โควิด-19 ทำให้การแข่งขันถูกเลื่อนและโลกเข้าสู่กระบวนการล็อกดาวน์ เบื้องต้น JAL ประกาศว่าบริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานประมาณ 20,000 ล้านเยนในช่วง 3 เดือนแรกของปี (ถึงเดือนมีนาคม 2020) เทียบกับที่เคยทำกำไร 30,600 ล้านเยนในช่วงเดียวกันของปี 2019

 

การขาดทุนนี้เป็นไตรมาสแรกนับตั้งแต่ JAL กลับเข้าไปโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นอีกครั้งในปี 2012 แม้จะแข็งแกร่งสดใสเพียงใด JAL ก็หนีไม่พ้นจากพิษโควิด-19 ที่ทำให้ยอดผู้โดยสารลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนกุมภาพันธ์ และคาดว่าการขาดทุนจากการดำเนินงานจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในอีกหลายไตรมาส

 

แม้ว่าในภาพรวมทั้งปี JAL ยังสามารถทำกำไรได้ 90,000-100,000 ล้านเยน (ปีการเงิน JAL สิ้นสุดเดือนมีนาคม) แต่ตัวเลขนี้ลดลงประมาณ 40% จากปีก่อน เป็นการลดลงหนักกว่าที่ JAL เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมกราคม ที่ปรับลดประมาณการทั้งปีลง 21% เป็น 140,000 ล้านเยน

 

สรุปแล้ว JAL คนใหม่ก็ยังคงต้องเหนื่อยและฝ่าฟันทุกขวากหนาม ซึ่งหากการบินไทยฟื้นฟูตัวเองได้สำเร็จ อนาคตของสายการบินแห่งชาติไทยก็ยังคงต้องเหน็ดเหนื่อยต่อไปไม่ต่างกัน 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

ภาพ: ShutterStock, Getty

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising