หากตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวของปี 2023 คือตลาดที่ว้าวุ่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกด้วยเม็ดเงินสะพัดถึงกว่า 815 ล้านปอนด์ (3.6 หมื่นล้านบาท) ตลาดการซื้อ-ขายรอบที่เพิ่งปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็คือตลาดรอบที่ทั้งหนาวและเหงาที่สุดเช่นกัน
ตัวเลขการย้ายทีมของนักเตะในรอบตลาดนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 112 ล้านปอนด์ (5 พันล้านบาท) เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างน่าใจหายเป็นอย่างยิ่ง
เกิดอะไรขึ้นกับตลาดการซื้อ-ขายนักเตะในปีนี้? มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกหรือไม่?
ตลอดช่วงระยะเวลา 32 วันที่ตลาดการซื้อ-ขายฤดูหนาว (Winter Transfer Window) เปิดให้ทุกสโมสรซื้อหาผู้เล่นเข้ามาเพื่อปรับทัพเสริมทีมสำหรับการสู้ศึกในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล สปอตไลต์ย่อมจับไปที่พรีเมียร์ลีก ในฐานะลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งที่ร่ำรวยเงินทองมากที่สุด
โดยเฉพาะเมื่อปีกลายที่พรีเมียร์ลีกแสดงแสนยานุภาพของความเป็น ‘ซูเปอร์ลีก’ ออกมาด้วยการซื้อ-ขายผู้เล่นมโหฬารกันถึงกว่า 815 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างน่าตกใจ โดยที่ลีกใหญ่ในระดับ Top 5 ของยุโรปที่อื่นได้แต่มองตากันปริบๆ
เจ้าพ่อตลาดปีที่แล้วคือเชลซี ภายใต้การนำของ ทอดด์ โบห์ลี นักธุรกิจกีฬาชาวอเมริกันที่ช้อปปิ้งนักเตะเข้าทีมเหมือนกดใส่ตะกร้ารอแล้วจ่ายโดยไม่ต้องคิด ซึ่งก็มีการย้ายทีมของสตาร์อย่าง เอนโซ เฟร์นานเดซ กองกลางทีมชาติอาร์เจนตินาที่เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก รวมถึง มิไคโล มูดริก ปีกยูทูเบอร์ที่ได้จากชัคตาร์ โดเนตสก์
แต่ในตลาดรอบนี้เชลซีไม่ได้เสริมทัพด้วยนักเตะรายไหนอีก แม้ว่าจะเพิ่งพ่ายต่อลิเวอร์พูลมาแบบหมดรูปถึง 4-1 ในเกมพรีเมียร์ลีกนัดกลางสัปดาห์ก็ตาม
ทีมที่กลายเป็นเจ้าตลาดสำหรับรอบนี้กลายเป็นคริสตัล พาเลซ ที่ใช้เงินไป 30 ล้านปอนด์ในการคว้าตัว อดัม วอร์ตัน กองกลางจากทีมแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และ แดเนียล มูนอซ แบ็กขวาจากเกงค์ สโมสรในเบลเยียม เพื่อความหวังในการลุ้นหนีตกชั้นในฤดูกาลนี้
รองลงมาคือท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่ได้ ราดู ดรากูซิน มาจากเจนัว ด้วยค่าตัว 26 ล้านปอนด์ (ส่วนรายของ ติโม แวร์เนอร์ เป็นการยืมตัว)
ในภาพรวมมีสโมสรที่ใช้เงินซื้อผู้เล่นเพียงแค่ 9 สโมสรเท่านั้น อีก 11 สโมสรสงบนิ่งไม่ไหวติงสำหรับตลาดซื้อ-ขายในรอบนี้
สิ่งที่ทำให้ตลาดการซื้อ-ขายรอบนี้ดูซบเซาหนักมาจากเหตุผลหลายอย่างด้วยกัน
ประการแรก ในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูร้อน ซึ่งเป็นตลาดหลักนั้น สโมสรในพรีเมียร์ลีกได้มีการลงทุนกันมหาศาลถึงกว่า 2.36 พันล้านปอนด์ เรียกว่าทุบทุกสถิติแบบแหลกลาญ โดยหลักแล้วทีมพอใจกับขุมกำลังที่มีอยู่ จึงไม่มีการเสริมทัพเข้ามาอีก
ตรงนี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์การวางแผนที่ดีขึ้นของสโมสรที่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ใช้คนทำงานเป็นมาบริหาร ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่มีการซื้อนักเตะแบบคุกกี้เสี่ยงทายอีก
อีกเหตุผลที่สำคัญคือ เรื่องของความกังวลต่อการทำผิดกฎการเงิน Profit and Sustainability Rule (PSR) ที่เล่นงานเอฟเวอร์ตันจนโดนตัดไปแล้วถึง 10 แต้ม (จากคดีในฤดูกาล 2021/22) และเอฟเวอร์ตันถูกตั้งข้อหาเพิ่มอีกร่วมกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ จากความผิดในกรณีฤดูกาล 2022/23
เรื่องนี้ ดร.แดน พลัมลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในวงการกีฬาจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ฮัลลัม ฟันธงว่ามีส่วนเต็มๆ “ปัจจัยใหญ่ที่สุดคือเรื่องของ PSR”
จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอฟเวอร์ตัน ที่โดนตั้งข้อหาซ้ำอีกรอบ รวมถึงฟอเรสต์ที่โดนครั้งแรก เป็นการทำให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นในการใช้จ่าย นั่นทำให้เราไม่ได้เห็นพฤติกรรมการซื้อนักเตะที่น่าสะพรึงกลัวเหมือนเชลซีที่ใช้เงินเหมือนพิมพ์ธนบัตรเองได้
จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของกฎ PSR (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ 115 คดีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้) สโมสรในพรีเมียร์ลีกไม่กล้าที่จะขยับตัวหากจะมีความสุ่มเสี่ยงแม้แต่นิดเดียว เพราะการโดนลงโทษไม่คุ้มอย่างมาก
ตัวกฎ PSR นั้นยังมีส่วนในการทำให้ตลาดการซื้อ-ขายนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากปกติที่จะเป็นรอบตลาดฤดูร้อนและฤดูหนาว ตอนนี้สโมสรในพรีเมียร์ลีกเหมือนมีตลาดเพิ่มในรอบฤดูร้อนและฤดูร้อนกว่า
ที่บอกแบบนี้เพราะด้วยเรื่องของบัญชีสโมสรที่จะมีการสรุปงบประจำปีในวันที่ 30 มิถุนายน กลายเป็นเหมือนตลาดฤดูร้อนรอบแรกที่สโมสรจะต้องเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เรื่องจะซื้อ แต่รวมถึงการจะขายใครออกไป เพื่อตกแต่งตัวเลขบัญชีให้สวยงามด้วย
จากนั้นหลังเข้าวันที่ 1 กรกฎาคม ก็จะถือเป็นตลาดฤดูร้อนแบบจริงจังที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยตามปกติ เพราะจะถือว่าเข้าปีงบประมาณใหม่แล้ว
สโมสรในพรีเมียร์ลีกจึงต้องมีการปรับตัวและมีการใช้เทคนิคทางการบัญชีมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่สามารถทำได้แล้วคือ การเกลี่ยยอดรายจ่ายที่เชลซีใช้ในปีที่แล้วผ่านสัญญานักเตะในระยะยาวหลายปี (7-8 ปี) ซึ่งพรีเมียร์ลีกและยูฟ่าได้มีการอัปเดตกฎเพื่อปิดรูโหว่
เหตุผลสุดท้ายคือ จอมดิสรัปต์วงการอย่างซาอุดีอาระเบียได้ยุติการล่านักเตะเข้ามาค้าแข้งในแดนทะเลทราย โดยหลังจากที่คุ้ยแบงก์ย่อยมาใช้ซื้อนักเตะในพรีเมียร์ลีกไปกว่า 245 ล้านปอนด์ในช่วงตลาดรอบฤดูหนาวที่ผ่านมาเงียบกริบ
แล้วตลาดนักเตะในลีกอื่นเป็นอย่างไร?
ลีกที่มีการใช้จ่ายมากที่สุดคือลีกเอิง ที่มีการซื้อ-ขายนักเตะกันถึง 163 ล้านปอนด์ (7.3 พันล้านบาท) ซึ่งมาจากการเสริมทัพของบรรดาทีมใหญ่ทั้งปารีส แซงต์ แชร์กแมง, โอลิมปิก ลียง, โอลิมปิก มาร์กเซย และแรนส์
ส่วนเซเรียอาใช้จ่ายที่ 86 ล้านปอนด์ (3.8 พันล้านบาท), บุนเดสลีกา 70 ล้านปอนด์ (3.1 พันล้านบาท) และลาลีกา 69 ล้านปอนด์ (3.1 พันล้านบาท) ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขที่ปกติสำหรับลีกเหล่านี้
จะมีเพียงพรีเมียร์ลีกที่น่าประหลาดใจ แต่เมื่อมองถึงเหตุผลต่างๆ ก็พอจะเข้าใจได้ โดยเฉพาะตัวแปรในเรื่องกฎ PSR – ซึ่งในความจริงแล้วก็คือ Financial Fair Play แบบอัปเกรด – ที่กำลังถูกจับตามองว่าจะมีส่วนในการช่วยควบคุมการแข่งขันให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากขึ้น หรือในอีกทางจะเป็นการ ‘คุมกำเนิด’ ทำให้ทีมพรีเมียร์ลีกอ่อนแอลงหรือไม่
แต่ที่แน่ใจได้คือ ในรอบตลาดฤดูร้อนกว่า (หลังวันที่ 1 กรกฎาคม) ทุกทีมจะกลับมาใช้จ่ายกันอย่างสนุกมืออย่างแน่นอน
เพราะเดือนมกราคมมันยาวนานและหนาวเหน็บเกินไปแล้วในตอนนี้
อ้างอิง: