×

พาณิชย์ชี้ เงินเฟ้อ ม.ค. 64 ติดลบ 0.34% ผลจาก ‘น้ำมัน-ค่าไฟ’ ลดลง คาดกลับมาขยายตัวช่วงไตรมาส 2

05.02.2021
  • LOADING...
พาณิชย์ชี้ เงินเฟ้อ ม.ค. 64 ติดลบ 0.34% ผลจาก ‘น้ำมัน-ค่าไฟ’ ลดลง คาดกลับมาขยายตัวช่วงไตรมาส 2

พิมพ์ชนก  พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2564 ลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าฐานสูงในปีก่อน (ลดลง 4.82%) และการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรลงถึงเดือนเมษายน 2564 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) ขยายตัวต่อเนื่อง 0.21% 

 

ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่ลดลง ได้แก่ ราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว ส่วนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักสดและเครื่องประกอบอาหาร (เพราะเกิดอุทกภัยในภาคใต้) รวมถึงน้ำมันพืชปรับตัวตามราคาผลปาล์มสดที่สูงขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ 

 

  • ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมกราคม 2564 ลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 0.5% ในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลง

 

  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และสูงสุดในรอบ 2 ปี 6 เดือน จากสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กตามความต้องการและราคาในตลาดโลก รวมถึงมีการปิดเตาถลุงเหล็กหลายแห่งทั้งในยุโรปและญี่ปุ่นชั่วคราว

 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมกราคม 2564 ลดลงสู่ระดับ 43.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 46.3 

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังมีแนวโน้มหดตัว และจะเห็นการติดลบในไตรมาส 1/64 ที่มีการลดค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา 2 เดือน แต่คาดว่าไตรมาส 2, 3 และ 4 อัตราเงินเฟ้อจะกลับเป็นบวก 

 

ขณะที่ปี 2564 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2564 จะอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% โดยมองว่า เป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ขณะที่ราคานำ้มันดิบดูไบคาดว่าจะอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และการระบาดระลอกใหม่ ที่อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีความกังวลการท่องเที่ยวไทยที่เป็นเครื่องจักรสำคัญยังไม่กลับมาเติบโต จึงต้องติดตามการฉีดวัคซีน รวมถึงมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติมและกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นเดือนแรกที่ใช้การปรับปีฐานของดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) และดัชนีราคาผู้ผลิต (จะมีการปรับทุก 4-5 ปี) นอกจากนี้รวมถึงการปรับนิยามครัวเรือนจากเดิมไม่เกิน 5 คน เป็น 1 คน  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising