วานนี้ (3 กุมภาพันธ์) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวยกย่องตัวเลขการจ้างงานเดือนมกราคม 2023 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการจ้างงานสูงถึง 517,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 54 ปี โดยระบุว่าตัวเลขนี้เป็นหลักฐานว่าแผนเศรษฐกิจของเขากำลังสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในคำปราศรัยที่ทำเนียบขาว ไบเดนกล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องและค่าจ้างที่แท้จริงกำลังเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไบเดนยอมรับว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป
“เราสร้างงานได้มากกว่าตำแหน่งประธานาธิบดีทุกสมัยภายใน 2 ปี นั่นคือการเติบโตของงาน 2 ปีที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อมองระยะยาว” ไบเดนกล่าว
นอกจากนั้นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ยังกล่าวอีกว่า “เราอาจเผชิญกับความพ่ายแพ้ระหว่างทาง และยังมีงานต้องทำอีกมาก” อีกทั้งยังย้ำว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการลดราคายา สร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน
อย่างไรก็ตาม ไบเดนไม่สนใจคำถามของนักข่าวที่ถามว่าเขามีส่วนรับผิดชอบต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงหรือไม่ โดยกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2021 ซึ่งในตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม สถิติเงินเฟ้อไม่ได้พุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งไบเดนเข้ามารับตำแหน่ง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 6.5% ในปี 2022 เทียบกับอัตรารายปีประมาณ 1.4% เมื่อไบเดนเข้ารับตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นนั้นมาจากปัญหาการขาดแคลนและการโยกย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นก่อนการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา
ขณะที่พรรครีพับลิกันได้โทษว่าอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในปีที่แล้วจนเกิน 8% เป็นเพราะแผนการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็แก้ต่างว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นเพราะการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และปัญหาการหยุดชะงักของอุปทาน
รายงานการจ้างงานในวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 กุมภาพันธ์) เป็นข่าวดีสำหรับคนงาน แต่น่าจะชี้ให้เห็นถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อชะลอตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูง
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยในวันศุกร์ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 517,000 ตำแหน่ง ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6%
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%
ด้านตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ Fed ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
อ้างอิง: