เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ยืดอกยอมรับความผิดพลาดของตนเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ปีที่ผ่านมาตนเองคาดการณ์ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผิด โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปีที่แล้วจะไม่ขยับพุ่งแรงจนก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง
เยลเลนกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNN ระบุว่า ตนเองคาดการณ์ผิดพลาดในเรื่องเกี่ยวกับเส้นทางเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากมีเหตุปัจจัยที่กระตุ้นให้ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประจวบเหมาะกับที่ปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชนยังไม่คลี่คลายดี จนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ เยลเลนยอมรับว่า ขณะนั้นตนเองยังไม่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์โดยรวมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างถ่องแท้
การยอมรับครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ทำเนียบขาวเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม เยลเลนเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจ้างงาน และยังชี้แจงอย่างชัดเจนว่าไม่ได้คาดหวังการเติบโตและการสร้างงานที่แข็งแกร่งแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ เผชิญในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของโควิด
เมื่อถามว่าสหรัฐฯ เห็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างเลวร้ายที่สุดแล้วหรือไม่ เยลเลนกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ตัดราคาพลังงานและราคาอาหารออกได้ปรับตัวลดลงแล้ว โดยมาตรวัดราคาผู้บริโภคหลักผ่อนคลายลงสู่ระดับ 6.2% ในเดือนเมษายน และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะชะลอตัวต่อเนื่องในเดือนต่อๆ ไป
อย่างไรก็ตาม เยลเลนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ดำเนินการเพื่อจำกัดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น ซึ่งน่าหวั่นเกรงว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะขยับขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกันในการให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ก่อนหน้า เยลเลน กล่าวว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลานี้คือ การรักษาการจ้างงานเต็มอัตรา และลดอัตราเงินเฟ้อลง
ขณะเดียวกัน ทางสถานีโทรทัศน์ CNN ได้เผยแพร่รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก โดยนำไปเปรียบเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษของ 1980 ว่า ราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันอาจรุนแรงพอๆ กับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อ 40 ปีก่อนหรือไม่?
ทั้งนี้ บรรดาผู้จัดการกองทุนและนักยุทธศาสตร์บางคนยังคงยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงสุดในไม่ช้า และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งตลาดงานยังอยู่ในเกณฑ์ดี ด้วยอัตราการว่างงานที่ยังคงต่ำ และการจ้างงานยังคงเติบโต
รายงานระบุว่า ในที่สุดข้อจำกัดด้านซัพพลายเชนจะเริ่มลดลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านราคาได้มาก
นอกจากนี้ เหล่านักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนหลายคนรู้สึกว่า Fed ใช้เวลานานเกินไปในการรับมือกับภัยคุกคามด้านเงินเฟ้ออย่างจริงจัง ทำให้ตอนนี้ต้องเป็นฝ่ายไล่กวด ดังนั้น Fed ต้องอาศัยโชคอย่างมากในการจัดการให้เงินเฟ้อ สามารถ Soft Landing ได้ ขณะที่ราคาที่สูงขึ้นอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Stagflation ภาวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่การเติบโตกลับชะลอตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เจเน็ต เยลเลน เผยแผนกำหนดเพดาน ‘ราคาน้ำมันรัสเซีย’ ได้ผล หลังรัสเซียยอมลดราคาขายล็อตใหญ่ให้ ‘จีน-อินเดีย’
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/economy/2022/6/1/yellen-says-i-was-wrong-last-year-on-path-of-us-inflation
- https://edition.cnn.com/2022/06/01/economy/inflation-economy-stagflation-recession/index.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP