กกพ. ประกาศค่า Ft 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย มีผลงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดรับฟังความเห็นผู้ใช้ไฟ 3 ทางเลือก พร้อมพิจารณาบนเงื่อนไขภาระหนี้ กฟผ. เผยหากรัฐบาลมีแนวทางตรึงค่าไฟประชาชน อาจต้องหาแหล่งเงินทุนมาอุดหนุนถึง 40,000 ล้านบาท ชี้หากจะใช้วิธียืดหนี้ กฟผ. ต่อไปอีก ต้องดูความพร้อมและสถานะการเงินควบคู่
รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (29 พฤศจิกายน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่า Ft ขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ทั้งนี้ การพิจารณาปรับค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 กกพ. คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันก็ต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฟผ. โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ. รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิเคราะห์ ‘ลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า’ นโยบายว้าวุ่นที่เกาไม่เคยถูกที่คัน?
- ถอดรหัสค่าไฟแพง! ส่องวงจรกำหนดค่าไฟของประเทศไทย ใครรับบทอะไรบ้าง
- พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ‘ขุมทรัพย์พลังงาน OCA’ สำคัญต่อไทยอย่างไร…
ย้อนดู 3 ทางเลือก
THE STANDARD WEALTH รายงานข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เบื้องต้นอยู่ที่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย แต่ต้องผ่านการรับฟังความเห็นผู้ใช้ไฟก่อนออกประกาศ และพิจารณาจากปัจจัยแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) ตลาดโลกสูงขึ้น
นอกจากนี้อีกปัจจัยหลักมาจากปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายน 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนราคาน้ำมันดิบดูไบและราคา LNG มีความผันผวนสูง จึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เปลี่ยนแปลง จึงวางไว้ 3 ทางเลือก ดังนี้
- กรณีที่ 1 ค่า Ft 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 2 ค่า Ft 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ใน 1 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่อย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายค่าไฟ 4.93 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 3 ค่า Ft 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ใน 2 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายค่าไฟรวม 4.68 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวระบุว่า หากรัฐบาลต้องการตรึงค่าไฟฟ้าเบื้องต้นจากกรณีการขึ้นค่าไฟต่ำที่สุดคือ 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย
“การอุดหนุนทุกๆ 1 สตางค์ จะใช้เงิน 600 ล้านบาท ดังนั้นจึงเท่ากับรัฐบาลจะต้องใช้วงเงินอุดหนุนถึง 41,400 ล้านบาท ทั้งนี้ ต้องหาแหล่งเงินทุนเพราะจำนวนค่อนข้างสูง หากจะใช้วิธียืดหนี้ กฟผ. ต้องดูความพร้อมและสถานะการเงินควบคู่ด้วย” แหล่งข่าวระบุ
พลังงานแจง เป็นแค่ตัวเลขการคำนวณเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานออกมาระบุว่า ราคาค่าไฟที่ กกพ. เสนอเป็นแค่ตัวเลขเสนอแนะ ส่วนราคาสุดท้ายอยู่ที่ฝ่ายบริหาร กระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าจะเคาะอย่างไร ขอยืนยันว่าราคาขายไฟฟ้าจริงจะไม่ใช่ตัวเลขนี้ และประชาชนผู้ใช้ไฟจะไม่ต้องรับภาระจนหน้ามืดอย่างแน่นอน
ราคาค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นแค่ตัวเลขการคำนวณเบื้องต้นที่คำนวณจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยยึดโยงจากตัวแปรหลักตัวแปรเดียวคือการชำระหนี้ให้ กฟผ.
ซึ่งการทำงานของ กกพ. ทำหน้าที่เป็นการเสนอแนะแนวทางเชิงทฤษฎี เสมือนทีมวิชาการ (Think Tank) ส่วนทีมบริหารคือกระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
พีระพันธุ์กำชับคณะทำงาน ได้หาแนวทางลดภาระค่าไฟให้ประชาชน ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่ โดยจัดการราคาไว้ให้อยู่ที่ 4 บาทต้นต่อหน่วย และจะพยายามทำตัวเลขให้ลดลงได้มากที่สุด ซึ่งราคาใกล้เคียงความเป็นจริงที่กระทรวงจัดการได้ ราวๆ 4.20 บาทต่อหน่วย โดยใช้กลไกจัดการผสมผสานหลายขั้นตอนกว่าการลดราคาค่าไฟปกติทั่วไป ไม่ได้ใช้แค่เรื่องประวิงหนี้ กฟผ. อย่างเดียว
ย้ำว่านี่คือการบริหารการลดค่าครองชีพระยะสั้นให้ประชาชนเท่านั้น ทางกระทรวงพลังงานยังยืนยันการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ก๊าซธรรมชาติ ต้นตอของปัญหาราคาไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าสะอาดระยะยาวต่อไป
ขณะเดียวกัน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ระบุว่า จะเข้าไปพูดคุยรายละเอียดทั้งหมดในฐานะประธาน กกพ. ส่วนที่ว่าจะเป็นมาตรการต่อเนื่องหรือไม่ในเรื่องการลดราคาไฟฟ้า ก็ต้องไปนั่งดูก่อนเพราะเป็นเรื่องของงบประมาณด้วย แต่ขึ้นไปถึง 4.68 บาทคงไม่ไหว เยอะเกินไป