วันนี้ (2 มกราคม) อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า จากประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ฉบับที่ 32 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการปฏิบัติตัวของผู้เดินทางจากท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย และผู้เดินทางจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease: COVID-19) และต้องพำนักในจังหวัดบุรีรัมย์ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 ครั้งที่ 5 ได้กล่าวถึงเงื่อนไขการเดินทางผ่านท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
สรุปได้ว่า กรณีผู้โดยสารที่เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง โดยผ่านทางท่าอากาศยานบุรีรัมย์ทุกคน จะต้องผ่านขั้นตอนการคัดกรองดังต่อไปนี้
- ลงทะเบียนในแบบคำถามสุขภาพในแบบฟอร์ม ต.8 บร. ตามความเป็นจริง
- เช็กอินแอปพลิเคชันหมอชนะ
- ผู้โดยสารทุกคนต้องถูกกักตัวในที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์กำหนด 14 วัน โดยห้ามออกนอกพื้นที่กักกันตัว และหากมีอาการป่วยต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อภายใน 3 ชั่วโมง
- กรณีผู้โดยสารที่ไม่ต้องการกักตัว จะต้องเข้ารับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าพ้นระยะติดต่อของโรค ด้วยวิธี Rapid Test ทันที ณ สถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด โดยผู้โดยสารต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองจำนวน 600 บาทต่อคน หากผลการตรวจผ่านไม่ต้องเข้ารับการกักตัว
โดยผู้โดยสารที่ต้องการเลื่อนการเดินทาง เปลี่ยนบัตรโดยสาร สามารถติดต่อกับสายการบินได้ที่ สายการบินนกแอร์ โทร. 0 4466 6721, สายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 4463 4968 ซึ่งกรมท่าอากาศยานพร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในท่าอากาศยานอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางผ่านท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานทุกแห่ง
สำหรับจังพื้นที่จังหวัดสีแดงตามประกาศประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม สมุทรปราการ ตราด สมุทรสงคราม นนทบุรี ปทุมธานี และจันทบุรี ต้องมีการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล