×

เจมส์ เว็บบ์ ปล่อยภาพ ‘กาแล็กซีชนกัน’ ก่อกำเนิดดาวฤกษ์ใหม่เร็วกว่าทางช้างเผือก 20 เท่า

27.10.2022
  • LOADING...

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 ตุลาคม) กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ปล่อยภาพของ IC 1623 ซึ่งเป็นสองกาแล็กซีที่กำลังชนกัน โดยอยู่ห่างจากโลกของเราออกไปราว 270 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวซีตัส (กลุ่มดาววาฬ)

 

การหลอมรวมกันของดาราจักรทั้งสองนี้ ได้ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ใหม่จำนวนมากอย่างรวดเร็ว จากปฏิกิริยาที่เรียกว่า Starburst โดยอัตราการเกิดใหม่ของดวงดาวในที่นี้เร็วกว่าอัตราการเกิดของดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรากว่า 20 เท่า

 

ทีมนักดาราศาสตร์ได้ถ่ายภาพอินฟราเรดของ IC 1623 โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยของเจมส์ เว็บบ์ 3 ตัว ได้แก่ MIRI, NIRSpec และ NIRCam ทำให้เราได้เห็นภาพของ IC 1623 ที่คมชัดกว่าภาพในอดีตที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยบันทึกไว้ได้ โดยจากภาพนี้เราจะเห็นแกนของกาแล็กซีที่สว่างสดใส ส่งผลให้ชุมชนนักดาราศาสตร์มีโอกาสศึกษาปฏิกิริยาที่ซับซ้อนในระบบนิเวศของกาแล็กซีได้มากขึ้น

 

อนึ่ง NASA ได้ปล่อยเจมส์ เว็บบ์ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 เพื่อรับช่วงต่อจากกล้องฮับเบิลที่กำลังจะปลดประจำการ ซึ่งเวลาผ่านไปยังไม่ทันถึงปี เจมส์ เว็บบ์ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปล่อยภาพสุดคมชัดของดวงดาวและดาราจักรมากมายในห้วงอวกาศ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลใหม่ๆ ที่โลกยังไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งต้องรอชมกันต่อไปว่าในอนาคต เจมส์ เว็บบ์ จะสร้างผลงานใดให้เราได้ทึ่งกันอีก

 

ภาพ: ESA / Webb, NASA & CSA, L. Armus & A. Evans

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X