วานนี้ (16 พฤศจิกายน) กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ได้ปล่อยภาพของห้วงอวกาศที่ดูตื่นตาราวกับนาฬิกาทรายสีเพลิง โดยเป็นภาพบริเวณของ ‘ดาวฤกษ์ก่อนเกิด’ หรือ Protostar ที่มีชื่อว่า L1527 ซึ่งถ่ายด้วยอุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้
ใจกลางภาพที่ดูเหมือนกับส่วนคอขวดคือจุดก่อเกิดของดาวฤกษ์ ซึ่งอยู่บนท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) โดยแสงที่ส่องออกมาจากตัว Protostar ทั้งด้านบนและล่างทำให้เห็นเป็นรูปทรงคล้ายกับนาฬิกาทราย บริเวณสีส้มจะเป็นบริเวณที่มีฝุ่นหนาแน่น ส่วนสีน้ำเงินเป็นบริเวณที่มีกลุ่มฝุ่นเบาบาง
L1527 อยู่ห่างออกไปจากโลกราว 430 ปีแสง และมีอายุเพียงประมาณ 100,000 ปีเท่านั้น นับเป็นเทหวัตถุในเอกภพที่มีอายุค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์ของเราซึ่งมีอายุประมาณ 4.6 พันล้านปี
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง NASA, องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) ซึ่งได้ปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 เพื่อรับช่วงต่อจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่กำลังจะปลดประจำการ โดยเวลาผ่านไปยังไม่ทันถึงปี เจมส์ เว็บบ์ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปล่อยภาพสุดคมชัดของดวงดาวและดาราจักรมากมายในห้วงอวกาศ สมกับค่าตัวที่สูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ: NASA, ESA, CSA, and STScI, J. DePasquale (STScI)
อ้างอิง:
- https://www.nasa.gov/feature/goddard/2022/nasa-s-webb-catches-fiery-hourglass-as-new-star-forms
- https://edition.cnn.com/2022/11/16/world/webb-telescope-hourglass-star-formation-scn/index.html
- https://www.facebook.com/spaceth/photos/a.430164337368065/1749692458748573/
- https://esawebb.org/images/weic2219a/?fbclid=IwAR3ngFqEfHcY8BIH7Q9zPTH5xPHNHDpJi7JvAS1E9Ld8JAXRN7huKLDFXEE
- https://www.theguardian.com/science/2022/nov/16/nasa-space-telescope-james-webb-hourglass-star