วันนี้ (26 สิงหาคม) จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม โดยยืนยันว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนไม่เท่ากับปี 2554 อย่างแน่นอน เพียงแค่ช่วงนี้เป็นช่วงฝนฉับพลันเข้ามา ทำให้มีน้ำหลากในหลายพื้นที่ ทุกกระทรวงได้ร่วมมือกันเตรียมอุปกรณ์ที่จะช่วยในการระบายน้ำให้เกิดความรวดเร็ว
ทั้งนี้น้ำในเขื่อนต่างๆ ยังอยู่ในปริมาณต่ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการระบายน้ำและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะส่งอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งอาหารน้ำดื่มที่สะอาด ส่วนระบบสาธารณูปโภคกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดูแลให้โรงพยาบาลทุกแห่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและสามารถรองรับผู้ป่วย รวมถึงประสานงานไปยังโรงพยาบาลอื่นได้หากมีความจำเป็น
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ท่วมขัง ซึ่งในช่วง 2-3 วันนี้จะยังมีฝนตกหนักและน้อยลงในวันที่ 29-31 สิงหาคม 2567 จึงต้องเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด
จักรพงษ์ยืนยันว่า น้ำที่ท่วมขังสะสมเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 มีระดับน้ำฝนเลยค่ามาตรฐานมาตั้งแต่เดือนเมษายน และน้ำในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณสูง แต่ในปีนี้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งน้ำในเขื่อนยังอยู่ในปริมาณที่สามารถดูแลได้ แค่ต้องเร่งระบายน้ำช่วงนี้เป็นหลัก จึงยืนยันว่าในปีนี้กรุงเทพมหานครไม่ท่วมอย่างแน่นอน
ส่วนน้ำในแม่น้ำยมที่กำลังไหลลงมาจะมีการกระจายออกไปด้านข้าง โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันที่มีปริมาณน้ำสูงที่สุด ถ้าผ่านพรุ่งนี้ไปได้จะโอเค อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศว่าจะมีพายุเข้ามา 1-2 ลูก แต่จะเข้าประเทศไทยหรือไม่นั้นยังต้องรอดู แม้ในเดือนกันยายนจะมีปริมาณน้ำมาก จึงจำเป็นต้องทุ่มงบในการบริหารจัดการเร่งระบายน้ำให้มากและมีประสิทธิภาพ เพราะหากมีน้ำในเขื่อนมากเกินไปจะกระทบต่อประชาชน ก่อนที่ในช่วงเดือนตุลาคมจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นอีก
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำจะประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งจะเร่งนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด
โดยส่วนแรกเป็นงบประมาณของรองนายกรัฐมนตรีที่มีการจัดสรรให้กับรองนายกฯ แต่ละคน แต่อยู่ในระหว่างการหารือว่าจะจัดสรรอย่างไร
ส่วนที่ 2 งบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นงบทดลองจ่ายคนละ 50 ล้านบาท แต่ในที่ประชุมได้เห็นว่าควรทำเรื่องขอขยายไว้ก่อนเผื่อมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
ส่วนที่ 3 เป็นงบของแต่ละกระทรวงที่สามารถเสนอขอเข้ามาซื้ออุปกรณ์เพื่อจัดหาเครื่องมือระบายน้ำ เช่น เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ โดยเบื้องต้นกระทรวงกลาโหมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือ
ขณะที่ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีปริมาณน้ำสูงสุดที่สถานี Y14A อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ก่อนที่จะไหลมาที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ และระบายต่อไปยังคลองยม-น่าน โดยก่อนหน้านี้ได้รื้อสะพานรถไฟซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้นจาก 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เป็น 300 ลบ.ม./วินาที
และอีกส่วนจะระบายไปยังแม่น้ำยมเก่าประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที และที่เหลือจะระบายมายังตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งขณะนี้ระบายอยู่ที่ 500 ลบ.ม./วินาที อาจล้นพนังกั้นน้ำเล็กน้อย ซึ่งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเสริมกระสอบทรายและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออก เพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของเมืองสุโขทัย ทั้งนี้หากผ่านพรุ่งนี้ (27 สิงหาคม) ไปได้ก็จะสามารถรักษาตัวเมืองเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตามมวลน้ำเหล่านี้จะไหลลงมายังจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ซึ่งอาจจะกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดพิจิตร โดยจะประกาศแจ้งประชาชนให้เตรียมการรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และอีกส่วนจะระบายไปยังทุ่งบางระกำและทุ่งอื่นๆ แต่หลังจากนี้จะเร่งระบายไปยังแม่น้ำน่าน
ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าในเดือนกันยายนจะมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ และในโซนพื้นที่เดิมที่เคยได้รับผลกระทบ โดยน้ำทั้งหมดจะมาที่จังหวัดนครสวรรค์ และจะมีการระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 700-1,000 ลบ.ม./วินาที ไม่เหมือนกับปี 2554 ที่มีการระบายน้ำท้ายเขื่อนกว่า 3,000 ลบ.ม./วินาที