วันนี้ (18 มิถุนายน) เวลา 10.30 น. จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจจุดผ่อนผันทำการค้า 3 จุด ในพื้นที่เขตคลองสานและเขตธนบุรี ประกอบด้วย
- จุดผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตลาดท่าดินแดง (บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย) เขตคลองสาน
- จุดผู้ค้าหาบเร่แผงลอยถนนลาดหญ้า (ฝั่งโรบินสันเก่า) เขตคลองสาน
- จุดผู้ค้าหาบเร่แผงลอยหน้าตลาดสำเหร่ เขตธนบุรี
โดยมี ศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ, อารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตคลองสาน, ว่าที่ร้อยตรี สรวุฒิ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล
จักกพันธุ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจุดผ่อนผันทั้งหมด 86 จุด มีผู้ค้าทั้งสิ้น 5,340 ราย วันนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดผ่อนผันในพื้นที่เขตคลองสาน ซึ่งมีจุดผ่อนผันทั้งหมด 10 จุด ผู้ค้าประมาณ 630 ราย โดยมาตรวจจุดผ่อนผัน 2 จุด คือ บริเวณตลาดท่าดินแดง มีผู้ค้า 119 ราย และริมถนนลาดหญ้า มีผู้ค้า 51 ราย ส่วนจุดผ่อนผันในพื้นที่เขตธนบุรี มีจุดผ่อนผันทั้งหมด 4 จุด ในส่วนของบริเวณตลาดสำเหร่ มีผู้ค้า 60 ราย จากการตรวจจุดผ่อนผันบริเวณตลาดท่าดินแดง ริมถนนลาดหญ้า เขตคลองสาน พบว่าผู้ค้าตั้งแผงค้าเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะอาด มีการเทน้ำลงไปในพื้นผิวจราจร ส่วนบริเวณตลาดสำเหร่ เขตธนบุรี พบว่ามีบางร้านค้าที่อยู่ในอาคารได้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นทางเท้า ซึ่งทางสำนักงานเขตได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในเรื่องนี้แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้ผู้ค้าปรับปรุงแก้ไข ซึ่งผู้ค้ารับปากที่จะดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว
จักกพันธุ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของแผงค้าซึ่งมีความกว้างประมาณ 1 เมตร ผู้ค้าได้ร้องขอให้ กทม. ขยายแผงค้าให้กว้างขึ้นเป็น 1.50 เมตร ซึ่งการขยายแผงค้านั้นจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ขั้นตอนของ กทม. ต้องมีการพิจารณากันอีกที อย่างไรก็ตาม การพิจารณากำหนดจุดผ่อนผันแต่ละจุดนั้น ทาง กทม. จะสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้ทางเท้าและใช้พื้นผิวการจราจร เจ้าของอาคาร รวมถึงประชาชนที่ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว ว่ามีความเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีจุดผ่อนผันบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะต้องพิจารณาไปตามกฎเกณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ จะจัดหาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการซึ่งเป็นที่ว่าง หรือบริเวณหน้าอาคารที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อหาแนวทางดำเนินการนำร่องในแต่ละพื้นที่เขตต่อไป
“การใช้พื้นที่ทางเท้านั้น นอกเหนือจากจะเป็นจุดผ่อนผันให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้ใช้ทำการค้าขายแล้ว ในขณะเดียวกันยังเป็นพื้นที่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้สอยและใช้ในการเดินทางสัญจร ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางเท้าร่วมกัน” จักกพันธุ์กล่าวในที่สุด