หุ้น IVL หรือ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นหนึ่งในหุ้นที่ใหญ่สุด 30 อันดับแรกของไทยที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ราว 1.3 แสนล้านบาท ล่าสุด ราคาหุ้นดิ่งลงกว่า 6% ในระหว่างการซื้อขายช่วงเช้าของวันนี้ (27 กุมภาพันธ์)
ราคาหุ้นที่ร่วงลงมาแตะ 22.10 บาท ถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดในช่วงวิกฤตโควิด และหากมองย้อนไปไกลกว่านั้นจะเห็นว่าหุ้น IVL มีช่วงที่เคยวิ่งขึ้นไปถึงระดับ 50-60 บาท ถึง 3 ครั้ง ก่อนจะร่วงกลับลงมาอยู่บริเวณ 20 บาท เป็นครั้งที่ 3 ในครั้งนี้
มูลค่าหุ้นที่หายไปกว่า 50% ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะผลประกอบการของบริษัทที่กลับมาอ่อนแออีกครั้ง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 1.14 หมื่นล้านบาท และแม้ว่า 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง แต่ก็เป็นกำไรที่เบาบางเพียง 1.6 พันล้านบาท ก่อนที่ไตรมาสล่าสุดบริษัทจะขาดทุนสุทธิถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้ทั้งปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.07 หมื่นล้านบาท
IVL อธิบายว่าผลขาดทุนของปี 2566 ส่วนใหญ่เกิดจากการด้อยค่า (รายการที่ไม่ใช่เงินสด) ของสินทรัพย์คือ Corpus Christi จำนวน 308 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้นทุนโครงการที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และมูลค่ายุติธรรมที่ลดลง โดย 1 ใน 3 ของต้นทุนค่าบำรุงรักษาประจำปีของโรงงานที่บริษัทถือครองอยู่ที่ประมาณ 6-10 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างหยุดการก่อสร้างชั่วคราวจนกว่าจะสามารถระบุแผนโครงการที่ได้รับการอนุมัติโดยปรึกษาร่วมกับคู่ค้า เพื่อควบคุมต้นทุนโครงการโดยรวม
นอกจากนี้ ด้วยราคาน้ำมันดิบเบรนต์เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 18% จากปีก่อนหน้า ทำให้บริษัทมีขาดทุนจากสินค้าคงเหลือ 115 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าจากผลการดำเนินงานตลอดทั้งวงจรธุรกิจของบริษัท นับจากช่วงจุดสูงสุดถึงจุดสูงสุด ระหว่างปี 2561-2565 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เท่ากับ 130 ดอลลาร์ต่อตัน
กลับกันในช่วงธุรกิจชะลอตัว ปี 2563-2566 พอร์ตโฟลิโอของบริษัทมี EBITDA เท่ากับ 120 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อมองไปในอนาคต จากแบบจำลองของบริษัทคาดว่าปริมาณขายและกำไรจะปรับตัวดีขึ้นซึ่งสามารถเห็นได้จากปี 2567-2569 โดยบริษัทวางแผน EBITDA เฉลี่ยในช่วง 3 ปีนี้เท่ากับ 125 ดอลลาร์ต่อตัน ด้วยแรงหนุนจากการลดระดับสินค้าคงคลัง การปรับปรุงอัตรากำไรมาตรฐานและการจัดการโดยฝ่ายบริหาร
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตรากำไรของสินค้าในกลุ่ม Integrated PET จะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป เม็กซิโก อินเดีย และอื่นๆ เริ่มประกาศใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ จากจีน ซึ่งจะส่งผลดีกับบริษัท เนื่องจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน ช่วยให้อัตรากำไรสูงขึ้น
อีกหนึ่งแนวทางในการบริหารจัดการของบริษัทในปี 2567 คือ การใช้มาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ โดยบริษัทได้ทบทวนการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเคร่งครัดเพื่อการรักษาระดับเงินสดและลดต้นทุนคงที่ โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจได้ระบุประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ พร้อมแผนปฏิบัติการซึ่งมีรายละเอียดและทรัพยากรที่ต้องใช้
ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจ Fibers ได้ระบุประเด็นสำคัญในการดำเนินงาน 4 ประเด็นในปี 2567 ได้แก่ อัตรากำลังการผลิต ต้นทุนคงที่ ความเป็นเลิศทางการค้า และเงินทุนหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นที่การสร้าง EBITDA และปรับปรุงสถานะกระแสเงินสด
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายสำหรับ 3 ปีนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- การรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ให้ต่ำกว่า 3 เท่า
- การปรับปรุงอัตรา ROCE ให้สูงกว่า 12% เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงบวก
- โครงการ Olympus 2.0 มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนสะสมโดยรวมเพิ่มขึ้น 450 ล้านดอลลาร์