×

ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีพิธาถือหุ้นสื่อและก้าวไกลหาเสียงแก้ ม.112 เดินหน้าพิจารณาคดีต่อ 22 พ.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2023
  • LOADING...

วันนี้ (15 พฤศจิกายน) ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารชี้แจง 2 คดีที่กำลังอยู่ในความสนใจ คือ คดีการถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคดีการหาเสียงด้วยนโยบายแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การพิจารณาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

 

สืบเนื่องจากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้พิธา ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 

 

ต่อมาพิธายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม ศาลได้อภิปรายกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น.

 

ส่วนคดีที่ 2 คือ กรณี ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (1) หรือไม่ 

 

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายและกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น.

 

ย้อนที่มา 2 คดีชี้ชะตาพรรคก้าวไกลและพิธา

 

  1. คดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อ ITV

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับหัวหน้าพรรคร่วมอุดมการณ์ก่อนหน้านี้คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในคดีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และอาจจะทำให้หลุดจากเก้าอี้ สส. ทันทีหากศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด

 

การถือหุ้น ITV ของพิธากลายเป็นเรื่องร้อนไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 หลังถูก เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้องต่อ กกต. ให้สอบกรณีที่พิธาถือหุ้น ITV 

 

ก่อนที่ กกต. จะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้อง และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันเดียวกับที่รัฐสภากำลังถกเถียงว่าจะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในสมัยประชุมเดียวกันได้หรือไม่

 

แม้ระหว่างนั้นจะมีการถกเถียงจากหลายฝ่ายว่าตกลงแล้ว ITV ถือเป็นหุ้นสื่อหรือไม่ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ ITV ได้หยุดออกอากาศเป็นระยะเวลากว่า 15 ปีแล้ว คงเหลือไว้เพียงตัวบริษัทที่ใช้ในการสู้คดีความ 

 

และมีการตรวจสอบพบว่า รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ประจำปี 2566 ระบุว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่” ขณะที่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ระบุว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ” ซึ่งไม่ตรงกัน จนแกนนำพรรคก้าวไกลเชื่อว่านี่คือกระบวนการปลุกผี ITV ขณะที่พิธาเองก็ยืนยันว่า การถือหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่มาจากผู้เป็นบิดา โดยตนเองถือในฐานะผู้จัดการมรดก

 

จนถึงขณะนี้คดีความยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลยังไม่ได้นัดหมายคู่ความในการฟังคำวินิจฉัยแต่อย่างใด

 

  1. คดีเสนอนโยบายแก้มาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง

 

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระวัย 49 ปี และยังเป็นทนายให้กับ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธะอิสระ อดีตแกนนำ กปปส. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (1) หรือไม่

 

คำร้องจำนวน 18 หน้าได้ยกพฤติการณ์ของพรรคก้าวไกลและพิธาระหว่างการหาเสียงบนเวทีดีเบต เวทีหาเสียงต่างๆ รวมถึงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 มาใช้ประกอบคำร้อง

 

อีกทั้งคำร้องดังกล่าวได้อ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 กรณี ณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำที่ขัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และให้ยุติการกระทำตามวรรคสอง

 

การกระทำที่ว่านั้นคือ การเสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ​ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกร้อง 3 คน คือ อานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1, ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ถูกร้องที่ 2 และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 และสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว

 

และ 1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกร้องยุติการกระทำ แต่ไม่ได้ขอให้ศาลยุบพรรคผู้ถูกร้องแต่อย่างใด

 

โดยคดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลยังไม่ได้นัดหมายคู่ความในการฟังคำวินิจฉัยแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X