×

ไอติม ชวนจับตาการลงมติของสภาวันนี้ หลังก้าวไกลเสนอให้จัดประชามติแก้ รธน. พร้อมเลือกตั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า วันนี้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติเกี่ยวกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ให้มีการจัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งเพื่อถามประชาชนว่า ‘เห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน’

 

พริษฐ์ระบุว่า ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด และได้ยืนยันอีกครั้งในการเปิดตัวนโยบาย ‘การเมืองไทยก้าวหน้า’ ว่าหากประเทศไทยจะออกจากวิกฤตทางการเมือง เราจำเป็นต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย มีกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และถูกขีดเขียนร่วมกันโดยประชาชนทุกคนเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจ ผ่านการถูกเขียนขึ้นโดยคนไม่กี่คนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ผ่านประชามติเมื่อปี 2559 ที่ดำเนินไปอย่างไม่เสรีและไม่เป็นธรรม และผ่านการฝังกลไกที่สามารถถูกใช้ในการกดทับเสียงของประชาชนได้ (เช่น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ คสช. แต่งตั้ง / ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ ส.ว. รับรอง / ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี)

 

หากเรายึดตามกติกาในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และการตีความของรัฐสภาต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 กระบวนการที่จะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากการจัดทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยพรรคก้าวไกลเสนอให้จัดประชามติดังกล่าวในวันเดียวกับวันเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติ 2564 เพราะ

 

  1. ในเชิงปฏิบัติ: จะช่วยประหยัดงบประมาณ และสะดวกสำหรับประชาชนในการใช้สิทธิ

 

  1. ในเชิงหลักการ: จะทำให้กระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด

 

  1. ในเชิงสัญลักษณ์: จะทำให้วันเลือกตั้งมีความหมายมากขึ้น เพราะไม่ใช่แค่โอกาสในการเปลี่ยนนายกฯ หรือเปลี่ยนรัฐบาล แต่คือโอกาสในการเปลี่ยนกติกาสูงสุดของประเทศให้เป็นประชาธิปไตย

 

หากเราทบทวนการลงมติและคำพูดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากทุกพรรค ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การได้เสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎรไม่ควรเป็นเรื่องยาก เพราะ

 

  1. เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (พฤศจิกายน 2563): รัฐสภาเคยลงมติรับหลักการญัตติที่เสนอให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นถึง 647 จาก 732 (88%) ของสมาชิกรัฐสภา หรือ 471 จาก 487 (97%) ของ ส.ส.

 

  1. เมื่อ 1.5 ปีที่แล้ว (มีนาคม 2564): รัฐสภา – นำโดย ส.ว. และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ – คว่ำญัตติดังกล่าวเกี่ยวกับ สสร. ในวาระที่ 3 โดยการหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาอ้างว่าต้องจัดทำประชามติก่อน

 

  1. เมื่อ 1.5 เดือนที่แล้ว (กันยายน 2565): ส.ส. แทบทุกพรรคอภิปรายสนับสนุน และ 95% ของ ส.ส. ที่ลงมติ ลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้จัดประชามติดังกล่าวในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพียงแต่การลงมติไม่สมบูรณ์เพราะจำนวนคนลงมติไม่ครบองค์ประชุม (มีผู้ลงมติ 227 คน)

 

แม้ไม่ควรมีเหตุผลอะไรที่ ส.ส. จะกลับลำจากสิ่งที่เคยลงมติหรือเคยพูดไว้ แต่การลงมติคว่ำ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เมื่อวานนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเรายังคงต้องร่วมกันจับตามองอย่างใกล้ชิด และเรียกร้องให้ ส.ส. เกือบทุกคนที่เคยเห็นชอบกับการจัดประชามติและการมี สสร. ให้ลงมติเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

 

หากจะไม่ใช่เป็นการลงมติเพราะความเชื่อของท่านในการนับหนึ่งไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ขอให้เป็นการลงมติเพื่อรักษาและรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวท่านเองในอดีต

 

พริษฐ์ระบุด้วยว่า นอกจากการลุ้นการลงมติของ ส.ส. ในสภาฯ (ซึ่งหากผ่านแล้วต้องไปต่อที่วุฒิสภา) ทุกคนสามารถขับเคลื่อนได้อีกช่องทางผ่านการลงชื่อด้วยตนเองที่ลิงก์ www.resetthailand.org เพื่ออาศัยกลไก พ.ร.บ.ประชามติ 2564 ในการยื่นข้อเสนอตรงไปที่คณะรัฐมนตรีให้จัดประชามติพร้อมเลือกตั้ง แม้ปัจจุบัน เราได้รายชื่อเกิน 50,000 ตามที่กฎหมายกำหนดแล้วภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่เพื่อความรัดกุมในกรณีที่บางรายชื่ออาจไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ตนจึงอยากขอแรงประชาชนช่วยกันลงชื่อให้ทะลุ 60,000 รายชื่อ ก่อนที่เราจะนำทั้งหมดไปยื่นที่คณะะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร็วๆ นี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising