วันนี้ (8 กรกฎาคม) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการเจรจากับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อโหวตให้กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฎาคมนี้
พริษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมการ 2 ส่วน คือ 1. การเตรียมการในเรื่องการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี เราก็พยายามสื่อสารกับประชาชนและ ส.ว. เป็นวงกว้างให้มากที่สุด ซึ่งยังยืนยันหลักการเดิมว่า เราคาดหวังให้ ส.ว. ลงมติให้กับพิธา ไม่ใช่ว่าต้องชอบพิธาหรือชอบพรรคก้าวไกลเป็นการส่วนตัว แต่ในฐานะแคนดิเดตของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุด และรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. ตามครรลองประชาธิปไตย และเชื่อว่าจะมี ส.ว. จำนวนเพียงพอที่จะลงมติตามหลักการนั้น
พริษฐ์กล่าวต่อว่า 2. หากพิธาได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคร่วม ตาม MOU ที่ได้ทำร่วมกัน ซึ่งโจทย์ที่สำคัญกว่าคือการเตรียมความพร้อมการบริหารประเทศ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผังกลไกในฝ่ายบริหาร และตั้งคณะทำงาน เพื่อผสมผสานนโยบายของทั้ง 8 พรรค ขับเคลื่อนการทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติที่ทางพรรคก้าวไกลได้เตรียมชุดกฎหมายที่เราได้สื่อสารกับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เพื่อยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่ ส.ว. บางส่วนกลับลำไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พริษฐ์กล่าวว่า จะมีจำนวน ส.ว. เท่าไรเดี๋ยวก็รู้ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ตนไม่อยากให้สังคมตื่นตระหนกต่อความเห็นของ ส.ว. บางคนมากเกินไป เนื่องจากมี ส.ว. ที่ออกมาแสดงความเห็นหลากหลาย แต่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งหมดก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย
เมื่อถามว่า หากการโหวตครั้งแรกและครั้งที่ 2 พิธายังไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเปลี่ยนตัวเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พริษฐ์กล่าวว่า โดยหลักการตามประชาธิปไตยครั้งเดียวก็ควรจบ ยิ่งเป็นแคนดิเดตจากพรรคการเมืองที่ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน และรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินกึ่งหนึ่ง เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ผ่านไป 4 ปี ประชาชนก็จะตัดสินผลงานผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง
เมื่อถามย้ำว่า หากรวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียงจะทำอย่างไร พริษฐ์กล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดการณ์ไปถึงตรงนั้น เรายังมีความเชื่อมั่นและคาดหวังว่า ส.ว. จะมีเยอะเพียงพอที่เคารพเสียงข้างมากของ ส.ส.
เมื่อถามว่า เป็นห่วงหรือไม่ว่าเสียงโหวตไม่เป็นที่พอใจของประชาชนแล้วจะเกิดการชุมนุมทางการเมืองในอนาคต พริษฐ์กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิของประชาชน เพราะไม่ใช่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนเลือก 7 พรรคร่วมและพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในนี้ด้วย ซึ่งอาจมีสถานะเป็นฝ่ายค้าน คาดหวังว่าเมื่อเขาได้ออกไปแสดงความเห็น 1 สิทธิ 1 เสียงแล้ว การบริหารจัดตั้งรัฐบาลและบริหารงานก็เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน
ฉะนั้นหากการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่เคารพ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน ตนคิดว่าความไม่พอใจคงไม่จำกัดอยู่ที่พรรคก้าวไกล แต่จะเป็นประชาชนที่สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยทั้งหมด
เมื่อถามว่า มีสัญญาณดีจากพรรคอื่นที่จะโหวตให้โดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาลหรือไม่ พริษฐ์กล่าวว่า ถ้าเราอยู่ในระบบรัฐสภาที่เป็นปกติก็ไม่ได้คาดหวังว่าฝ่ายค้านจะมายกมือให้ซีกรัฐบาล แต่เมื่อเราอยู่ในระบบที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกปกติ เราก็จะขอบคุณอย่างยิ่ง ถ้ามี ส.ส. ที่ไม่ได้อยู่ใน 8 พรรค และมีสถานะเป็นฝ่ายค้านมายกมือให้พิธาในรอบนี้เป็นพิเศษ เพื่อยืนยันหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียงในการเลือกตั้ง
พริษฐ์กล่าวย้ำว่า พรรคก้าวไกลจะไม่มีการลดวาระที่เราจะขับเคลื่อนเพื่อให้ ส.ว. โหวตสนับสนุน เพราะเราถือว่าสิ่งที่เราต้องการจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง พิจารณาจากปัญหาประเทศที่เป็นอยู่ และเชื่อว่าจะตอบโจทย์ประเทศในอนาคตได้ดีที่สุด ซึ่งเราก็สื่อสารนโยบายก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อประชาชนให้ความไว้วางใจกับเราในวาระที่เสนอไป มันก็เป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ที่ต้องขับเคลื่อนวาระที่เสนอกับประชาชนไปแล้ว
พริษฐ์กล่าวอีกว่า หวังว่า ส.ว. ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล ก็อยากเห็นนักการเมืองที่รักษาคำพูดของตัวเอง ฉะนั้นหวังว่า ส.ว. จะไม่ใช้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ตนเองมีจากมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ มาเป็นเงื่อนไขพยายามให้เราเปลี่ยนวาระจากที่เราได้สื่อสารกับประชาชน