×

อิตาลีภายใต้รัฐบาลใหม่ กับนโยบายผลักดันผู้อพยพออกนอกประเทศ

04.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • มัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีมหาดไทยคนใหม่จากพรรคฝ่ายขวาของอิตาลีประกาศจุดยืนแน่ชัดว่าไม่ต้องการให้อิตาลีเป็นศูนย์กลางรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยของยุโรปอีกต่อไป
  • ถ้อยแถลงของซัลวินีสร้างความวิตกให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชน เพราะปัจจุบันอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทางหลักของผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือที่ต้องการเดินทางเข้ายุโรป

ชะตากรรมของผู้อพยพผิดกฎหมายในอิตาลีกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกขณะนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มสูงที่พวกเขาจะถูกผลักดันออกนอกประเทศภายใต้รัฐบาลประชานิยมใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรีจูเซปเป คอนเต้ หลังมัตเตโอ ซัลวินี รัฐมนตรีมหาดไทยป้ายแดงจากพรรคฝ่ายขวาของอิตาลี ประกาศเจตนารมณ์แน่ชัดว่าไม่ต้องการให้เกาะซิซิลีทางใต้ของประเทศเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของยุโรปอีกต่อไป

 

 

อิตาลีเพิ่งได้นายกฯ คนใหม่และฟอร์มรัฐบาลสำเร็จเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังตกอยู่ในภาวะสุญญากาศทางการเมืองนานกว่า 11 สัปดาห์ สืบเนื่องจากพรรค Five Star Movement (M5S) ของ ลุยจิ ดิมาโย ซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงสุดแต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (32%) และกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา Northern League หรือ Lega Nord ของมัตเตโอ ซัลวินี ซึ่งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 (18%) ไม่สามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามทั้งสองพรรคสามารถรอมชอมกันในท้ายที่สุด โดยการเสนอชื่อ จูเซปเป คอนเต้ นักกฎหมายที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารประเทศมาก่อนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเทคโนแครต

 

แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรค M5S และ Lega Nord ได้สร้างความไม่แน่นอนขึ้นในยุโรป เนื่องจากพรรค M5S ชูนโยบายต่อต้านการรวมกลุ่มกับ EU หรือ Eurosceptic ขณะที่พรรค Lega Nord เป็นพรรคการเมืองขวาจัดที่มีนโยบายต่อต้านการเปิดรับผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

 

 

มื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) ซัลวินีได้เดินทางไปยังเกาะซิซิลี ซึ่งเป็นแคว้นปกครองตนเองของอิตาลีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พร้อมประกาศย้ำจุดยืนของเขาที่จะขยายขอบเขตการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศ และจำกัดโควตาการเปิดรับผู้ลี้ภัยใหม่ โดยให้เหตุผลว่าการทำเช่นนี้จะช่วยชีวิตผู้คนได้มาก นอกจากนี้เขายังย้ำว่า การส่งผู้อพยพกลับบ้านถือเป็นนโยบายที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของรัฐบาล

 

“พอแล้วสำหรับซิซิลีในการเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของยุโรป ผมจะไม่นิ่งดูดายกับการเห็นผู้อพยพเดินทางมาที่นี่กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เราต้องการศูนย์เนรเทศ” ซัลวินีกล่าวที่ท่าเรือคาตาเนียบนเกาะซิซิลี

 

 

“ผมเชื่อว่าหนทางดีที่สุดที่จะช่วยชีวิตผู้คนก็คือการป้องกันไม่ให้พวกเขาเดินทางขึ้นเรือได้ เพราะที่อิตาลีไม่เหลือพื้นที่เพียงพอสำหรับอยู่อาศัยหรือเหลือตำแหน่งงานไว้รองรับชาวอิตาลีแล้ว นับประสาอะไรกับชาวแอฟริกาอีกครึ่งทวีป”

 

นอกจากนี้เขายังโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ด้วยว่า “จงกลับบ้านเถอะ”

 

นอกจากคาตาเนียแล้ว ซัลวินียังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือพอสซัลโลด้วย โดยท่าเรือแห่งนี้เพิ่งรับผู้อพยพกลุ่มใหม่กว่า 150 คนซึ่งเดินทางมาโดยเรือที่เข้าเทียบท่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 มิ.ย.) ด้วยความช่วยเหลือจากคณะทำงานด้านมนุษยธรรม

 

 

ซัลวินีกล่าวว่า การผลักดันผู้อพยพออกนอกประเทศจะช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการดูแลพวกเขาได้ราวปีละ 5 พันล้านยูโร โดยในปีที่แล้วอิตาลีผ่านงบประมาณ 4.2 พันล้านยูโรสำหรับดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาจากลิเบีย โดย 2 ใน 3 ของงบก้อนนี้จัดสรรไปให้กับศูนย์รับผู้อพยพ

 

อย่างไรก็ตามมีผู้วิจารณ์ว่าแผนการของซัลวินีจะทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะปัจจุบันอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทางหลักของผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือที่ต้องการเดินทางเข้ายุโรป

 

 

แต่กระนั้นการเปลี่ยนแปลงท่าทีและนโยบายของอิตาลีอาจทำให้เกิดวิกฤตด้านผู้อพยพขึ้น เพราะยุโรปในเวลานี้ก็มีกระแสต่อต้านผู้อพยพในหลายประเทศ พร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมามีบทบาทของพรรคการเมืองแนวชาตินิยมหรือพรรคฝ่ายขวา รวมถึงฝรั่งเศสด้วย ขณะที่เยอรมนีซึ่งมีโควตารับผู้อพยพจำนวนมากก่อนหน้านี้ก็กำลังประสบปัญหาผู้อพยพล้นประเทศเช่นกัน

 

ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเดินทางมาอิตาลีด้วยเรือจำนวน 13,521 คน ทำให้ยอดรวมเพิ่มขึ้นกว่า 600,000 คนนับจากปี 2014 ขณะที่ตัวเลขทางการนับจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2017 ระบุว่า มีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลีมากถึง 5,047,028 คน หรือคิดเป็น 8.2% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเพิ่มขึ้นกว่า 92,000 คนจากปี 2016

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X