พรรค Five Star Movement (M5S) ของ ลุยจิ ดิมาโย ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่ 31% แต่พรรคไม่สามารถกวาดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาได้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ส่งผลให้การเมืองแดนมะกะโรนีต่อจากนี้ต้องเผชิญกับภาวะ ‘Hung Parliament’ โดยที่รัฐบาลผสมอาจมีอุปสรรคในการกำหนดนโยบายต่างๆ
ขณะที่พรรคแนวร่วมกลาง-ขวา นำโดย Northern League หรือ Lega Nord ของมัตเตโอ ซัลวินี (พรรคขวาจัดที่ต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพ), พรรค Forza Italia ของอดีตนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี และพรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นกลุ่มฟาสซิสต์ใหม่ มีแนวโน้มจับกลุ่มเป็นขั้วการเมืองใหญ่สุดในสภาผู้แทนราษฎรอิตาลี ด้วยคะแนนเสียงรวมกันกว่า 37% โดยพรรค Northern League ที่ประชาชนเทคะแนนให้ 18% อาจกวาดที่นั่ง ส.ส. ในสภาได้มากถึง 123 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 6 เท่า
หลังจากนี้พรรคการเมืองต่างๆ จะเจรจากันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน ท่ามกลางผลงานที่น่าผิดหวังของพรรค Democratic Party ของ มัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีหัวปฏิรูป ซึ่งสูญเสียที่นั่งในสภาจาก 281 ที่นั่ง เหลือเพียง 104-110 ที่นั่ง โดยกลุ่มการเมืองกลาง-ซ้าย นำโดยพรรค Democratic Party และพรรค More Europe อาจมีคะแนนเสียงรวมกันเพียง 23.5% ซึ่งน้อยกว่าทั้งพรรค M5S และกลุ่มการเมืองกลาง-ขวา ขณะที่ล่าสุดมีรายงานว่า มัตเตโอ เรนซี เตรียมพิจารณาก้าวลงจากเก้าอี้ผู้นำพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งแล้ว
ทั้งนี้การกวาดคะแนนเสียงที่สูงเกินคาดของพรรค Five Star Movement ยังเป็นการส่งสาส์นเตือนสหภาพยุโรป (EU) ถึงการกลับมาผงาดของกระแส Eurosceptic ในยุโรป เนื่องจากพรรค M5S ชูนโยบายต่อต้านการรวมกลุ่มกับ EU ซึ่งหากดิมาโยสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จ ก็อาจมีการเดินหน้าผลักดันให้อิตาลีแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป คล้ายกับที่ มารีน เลอแปน เคยสร้างความกังวลให้กับ EU ด้วยแคมเปญนำฝรั่งเศสแยกตัวออกจาก EU หากพรรค National Front ของเธอชนะการเลือกตั้ง
ปัจจุบันอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน และเป็นหนึ่งในประตูทางเข้าที่สำคัญของผู้อพยพจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียที่ต้องการเดินทางเข้ายุโรป ซึ่งการที่พรรคต่อต้านกลุ่มอำนาจเดิม (Anti-Establishment) และพรรคชาตินิยมฝ่ายขวาอย่าง M5S และ Lega Nord สามารถกวาดคะแนนเสียงได้มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ย่อมสะท้อนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในอิตาลีที่อาจเอือมระอากับ EU และนโยบายเปิดรับผู้อพยพต่างชาติเต็มที
อ้างอิง: