เหตุตัดต้นนนทรีหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 14 ต้น ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ‘อิตาเลียนไทย’ บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่ได้รับสัมปทานการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นผู้ลงมือตัด กลายเป็นเหตุลุกลามจากโซเชียลมีเดีย นำไปสู่การเรียกร้อง และตั้งคำถามต่อการจัดการ ‘ต้นไม้ใหญ่ในเมือง’
โดยเฉพาะ ‘ต้นไม้ใหญ่’ ที่อยู่ในแนวเขตก่อสร้าง ซึ่งหากนับแล้วมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครรวม 11 สาย ความเป็นห่วงและกังวลใจดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความไม่เข้าใจในการตัดและล้อมย้ายต้นไม้อย่างถูกวิธี แม้จะมีการลงโทษโดยการสั่งปรับและเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายแล้วก็ตาม
แต่นั่นอาจเป็นแค่การจัดการที่ปลายเหตุ เพราะต้นตอที่สำคัญก็คือความเข้าใจและการหาทางที่จะร่วมมือในการจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมือง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะ ‘ปอด’ ของคนเมือง
ประเทศไทยไร้ซึ่งระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง
ต่อประเด็นการตัดต้นไม้ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มีการออกมาเคลื่อนไหวของ 5 เครือข่ายภาคประชาชนที่รักต้นไม้ ประกอบด้วย กลุ่มบิ๊กทรี, กลุ่มจตุจักรโมเดล, ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมต่อต้านโลกร้อน โดยวันนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการเปิดวงเสวนาขึ้นอีกครั้ง เพื่อหาทางออกและสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการ ‘ต้นไม้ใหญ่ในเมืองกรุง’
วงเสวนาที่นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ได้อธิบายผ่านเอกสารถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายต้นไม้ในเมืองได้เคยมีการร้องเรียนเรื่องการตัดต้นไม้ผิดวิธีในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งในเวลาต่อมาได้เชิญนักวิชาการด้านการล้อมย้ายต้นไม้มาบรรยายให้ความรู้แก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรับเหมาก่อสร้างทุกรายในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ขณะที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนึ่งเดือนถัดมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ได้ดำเนินการตัดต้นไม้ที่หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างผิดวิธี แสดงให้เห็นว่าทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และ รฟม. เจ้าของสัมปทานยังไม่มีแนวทางการปฏิบัติต่อต้นไม้ในเมืองที่ดีพอ อีกทั้งยังมีการพบต้นไม้จำนวนมากที่ล้อมย้ายไปจากบริเวณก่อสร้างรถไฟฟ้าถูกกุดหัวและยืนตายอยู่เป็นจำนวนมาก
(ภาพ: Facebook เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์)
ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้แทนเครือข่ายต้นไม้ในเมือง อธิบายถึงความสำคัญของการจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมืองว่า
“ประเทศไทยไร้ซึ่งระบบบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนเรื่องนโยบายที่ไม่มีระบบบริหารจัดการเรื่อง ส่วนความจำเป็นที่ต้องมีระบบเหล่านี้เนื่องจากต้นไม้ในเมืองเป็นการเติบโตแบบผิดธรรมชาติ เกิดที่ฟุตปาธ หน้าคอนโดฯ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีอาจมีผลกระทบตามมา เช่น ล้มลงมาฟาดโดนคนหรือรถยนต์ ถามว่าเหตุใดต้องเอาต้นไม้มาไว้ในเมือง ก็เพราะเมืองหลวงมีมลพิษที่เกิดจากความระอุของซีเมนต์ มีคาร์บอนไดออกไซด์ มีฝุ่น มีมลพิษทางอากาศเต็มไปหมด ซึ่งต้นไม้ใหญ่ในเมืองคือคำตอบของการแก้ปัญหาเหล่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้นไม้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องก๊าซพิษ”
ซึ่งหากปล่อยให้มีการจัดการที่ผิดวิธีและไม่มีแผนดูแลที่เป็นระบบจะส่งผลต่อปัญหาความเป็นอยู่ของคนเมืองอย่างแน่นอน โดยองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญถึงขนาดจัดให้มีการประชุมการจัดการต้นไม้ในเมืองโลก เฉพาะเพื่อนบ้านอาเซียนของไทย หลายประเทศมีระบบการจัดการต้นไม้ในเมืองที่ดีกว่า เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่การพัฒนาประเทศยังตามหลังเราในหลายด้าน
สำหรับต้นไม้ใหญ่อย่าง ‘ต้นนนทรี’ ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว รุกขกร กรมป่าไม้ เคยให้ความเห็นว่า ต้นนนทรีที่ถูกตัดไปจำนวน 14 ต้น มีอายุประมาณ 30-40 ปี ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมที่ช่วยดูดก๊าซพิษ ให้ความร่มเย็นแล้ว ยังมีคุณค่าทางจิตใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
อีกทั้งยังเป็นไม้ในเมืองชนิดหนึ่งที่มีอายุยืน เหมาะที่จะปลูกในเมือง เนื่องจากมีขนาดใบเล็กและมีจำนวนมาก ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซออกซิเจนได้มากขึ้นไปด้วย รูปทรงก็ไม่ใหญ่โตมาก เหมาะที่จะปลูกริมทาง
อนาคต ‘ปอด’ คนกรุงอาจไม่เหลือ หากจัดการต้นไม้ในเมืองผิดวิธี
ปัญหาการจัดการต้นไม้ในเมืองเป็นปัญหาในเชิง ‘ระบบ’ ที่สำคัญ ต้นนนทรีที่ถูกตัดไปโดยไม่ได้คำนึงถึงหลักวิชาการที่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อการจัดการต้นไม้ที่ผิดพลาดในอนาคตตลอดเส้นแนวสร้างรถไฟฟ้าอีก 11 สาย ที่มีต้นไม้นับหมื่นต้น
สถานการณ์ดังกล่าวสามารถทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องสูญเสีย ‘ปอด’ ของคนเมืองครั้งใหญ่ เพราะต้นไม้เป็นทั้งเครื่องฟอกอากาศและปรับอากาศให้เมือง ต้นไม้ใหญ่ที่หายไปจำนวนมากน่าจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก
ในรายงานและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550-2555 หน้า 22 ระบุว่า ในปี 2549 ต้นไม้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านต้นใน กทม. สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 แสนตันต่อปี แต่ใน กทม. มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 42 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความเจริญจากรถไฟฟ้าไม่ควรเป็นอุปสรรคที่จะเข้ามาทำลาย ‘เครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติจากต้นไม้ใหญ่ในเมือง’ ของคนกรุง เพราะหากมีระบบการจัดการที่ดี ประชาชนก็ไม่ต้องเลือกหรือแลกอีกต่อไป
ภาพ: Facebook เครือข่ายต้นไม้ในเมือง
ขณะที่ภาคประชาชนได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ รฟม. และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องหยุดการตัด ย้าย หรือการกระทำใดๆ ต่อต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้า 11 สาย
และยังมีการยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. โดยเรียกร้องให้ตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ที่ไม่เคารพในกฎกติกาของสังคม ไม่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เคารพในทรัพย์สมบัติที่เป็นของสาธารณะหรือไม่
ด้านการใช้กฎหมายในการดำเนินการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เสนอให้กรุงเทพมหานคร แจ้งความเอาผิดกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพิ่มเติมอีก ในข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะตามกฎหมายอาญา มาตรา 360 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ และคดีทางแพ่ง
“เพราะต้นไม้เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ข้อนี้ไม่ต้องสงสัย เป็นร่มเงา เป็นสิ่งที่ให้ออกซิเจนแก่เรา ต้นไม้คือแอร์คอนดิชันโดยธรรมชาติของเมือง การที่ผู้ใดผู้หนึ่งมาทำให้เสียไป ก็มีความผิดตามกฎหมาย คำถามผมก็คือ กทม. ได้มีการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือยังครับ”
ประเด็นนี้ นายสุรเชษฐ์ โพธิ์เจริญ หัวหน้าสวนธนบุรีรมย์ ในฐานะผู้แทน กทม. ได้แจ้งว่า “มีการดำเนินการแล้ว” ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา ได้ขอให้สื่อมวลชนได้ไปติดตามต่อจากพนักงานสอบสวน
“การบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะยังมีต้นไม้อีกหลายร้อยหลายพันในอนาคตที่อาจจะต้องถูกดำเนินการแบบไม่ถูกต้องแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย”
3 ทางออก ไม่ให้เกิดปัญหาตัดต้นไม้ผิดวิธีซ้ำซาก
ขณะที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ได้โพสต์ชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ก Italian-Thai Development Public Company Limited “ITD” โดยยืนยันว่าเป็นเพียงการรื้อถอนย้ายต้นไม้ทางเท้า เพื่อความปลอดภัยในขณะขนย้ายไม่ให้เกี่ยวกับสายไฟริมทาง และได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกองสวนสาธารณะ กทม. โดยระบุตอนหนึ่งว่า
“ในการรื้อย้ายต้นไม้ด้วยวิธีขุดล้อมแล้วยกต้นไม้ออกไปอนุบาลในพื้นที่ที่จัดไว้ ตามมาตรฐานการรื้อย้ายของกองสวนสาธารณะ กทม. นั้น จะเริ่มต้นด้วยการลิดกิ่ง ตัดกิ่งออกก่อน เพื่อเป็นการเตือนต้นไม้ให้ปรับตัว ลดการคายน้ำของใบ จากนั้นจึงจะเริ่มขุดล้อม แล้วยกต้นไม้ออกไปไว้ที่ที่สำหรับอนุบาลต้นไม้”
อย่างไรก็ตาม นายสุรเชษฐ์ได้ชี้แจงว่า บริษัทดังกล่าวมีการตัดต้นไม้โดยที่ กทม. ยังไม่ได้มีการอนุญาต ขณะเดียวกันวิธีการตัดก็มีปัญหา เพราะไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ ซึ่งหากไปดูการตัดจะพบว่า ตัดแทบจะเหลือแต่ตอ เป็นการกุดหัวต้นไม้ที่ทำให้มีโอกาสจะยืนต้นตายได้
สำหรับข้อเรียกร้องและทางออกว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหานี้อย่างซ้ำซากอีก วงเสวนาได้มีข้อเสนอ จำนวน 3 ข้อคือ
- ให้ กทม. และ รฟม. เปิดเผยต่อสาธารณะถึงข้อมูลจำนวนต้นไม้ที่ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายและแผนการดำเนินงานโดยละเอียด
- ให้กำหนดมาตรการดูแลต้นไม้ที่ถูกผลกระทบในสัญญาการก่อสร้าง โดยมีการจัดตั้งตัวแทน 4 ฝ่าย เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติต่อต้นไม้คือ 1) ตัวแทนจาก กทม. 2) ตัวแทนจาก รฟม. และบริษัทรับเหมา 3) ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และ 4) ตัวแทนภาควิชาการ เช่น นักวิชาการด้านการล้อมย้ายและดูแลต้นไม้ ฯลฯ มาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการจัดการต้นไม้และทางเท้าสาธารณะที่มีผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมทั้งกำหนดการออกแบบทางเท้าและต้นไม้สาธารณะตามเส้นทางรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอื่นที่มีผลกระทบเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาการก่อสร้าง โดยให้การออกแบบและการควบคุมงานโดยภูมิสถาปนิกที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
- ต้นไม้ที่ล้อมย้ายต้องได้รับการดูแลอย่างดี ถูกหลักวิชาการ รวมทั้งในบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า จะต้องมีการปลูกทดแทนต้นไม้ที่ถูกล้อมย้ายออกไป และหากไม่เป็นไปตาม 3 ประเด็นข้างต้น จะต้องมีบทลงโทษหน่วยงานที่ทำความเสียหายให้กับต้นไม้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้า
Cover Photo: สำนักข่าวไทย