×

เรารู้อะไรบ้างจากโศกนาฏกรรมอิแทวอน และข้อแนะนำผู้เชี่ยวชาญกับการเอาตัวรอดในเหตุการณ์เช่นนี้

30.10.2022
  • LOADING...

เมื่อคืนนี้ (29 ตุลาคม) อาจมีหลายคนที่หลับไม่ลง หลังได้เห็นข่าวสะเทือนใจจากเหตุการณ์ความแตกตื่นที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนนับร้อยรายในงานปาร์ตี้ฮาโลวีนในย่านอิแทวอน โดยคลิปวิดีโอที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นเจ้าหน้าที่และพลเมืองดีที่พยายามทำ CPR ให้กับผู้คนจำนวนมากที่ล้มลงหมดสติบนพื้นถนน จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงโซล ที่ปกติแล้วจะเต็มไปด้วยบรรยากาศแสนสนุกสนาน

 

เกิดอะไรขึ้นที่อิแทวอนเมื่อคืนนี้? รัฐบาลเกาหลีใต้จัดการสถานการณ์อย่างไรแล้วบ้าง? และหากมันเกิดขึ้นกับเรา จะทำอย่างไรกันดี? THE STANDARD ขอสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางป้องกันจากผู้เชี่ยวชาญ หากคุณต้องเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เกิดอะไรขึ้นที่อิแทวอน

 

  • ย่านอิแทวอนของกรุงโซลเป็นย่านช้อปปิ้งและแหล่งสังสรรค์ยามค่ำคืนยอดนิยมของทั้งคนเกาหลีเองและชาวต่างชาติ โดยอิแทวอนนั้นมีชื่อเสียงในด้านการจัดงานปาร์ตี้ฮาโลวีนที่สนุกสุดเหวี่ยงมาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งโดยปกตินั้นประชาชนและนักท่องเที่ยวจะครีเอตลุคแต่งตัวเป็นผีออกมาเที่ยวกันในยามราตรี เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของย่านอิแทวอนที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากทั้งนอกและในประเทศหลั่งไหลกันไปเป็นประจำทุกปี

 

  • แต่ในช่วงที่โควิดระบาด รัฐบาลได้ประกาศข้อจำกัดด้านการควบคุมโรค จึงทำให้ไม่สามารถจัดงานปาร์ตี้แบบยิ่งใหญ่ได้เหมือนในปีที่ผ่านๆ มา

 

  • โดยเมื่อคืนนี้ถือเป็นปาร์ตี้ฮาโลวีนครั้งแรกในรอบ 3 ปีในอิแทวอนที่ไม่มีกฎข้อบังคับด้านการเว้นระยะห่าง หรือการสวมหน้ากากอนามัย ผู้คนจึงได้แห่กันไปเที่ยวงานดังกล่าวกันอย่างท่วมท้น ซึ่งประมาณการว่ายอดนักท่องเที่ยวในอิแทวอนเมื่อวานนี้อาจสูงแตะ 100,000 คนเลยทีเดียว

 

  • แต่แล้วเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เนื่องจากปริมาณผู้คนที่หนาแน่นเกินกว่าที่ตรอกซอยเล็กๆ จะรับไหว เป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากเบียดกันแน่น ล้ม และเหยียบกัน (Stampede) จนขาดอากาศหายใจ โดยเฉพาะในบริเวณซอยแคบๆ ทางลงถนนหลักบริเวณโรงแรม Hamilton ซึ่งมีความกว้างแค่ 4 เมตรเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า พวกเขาได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุชุลมุนที่เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 22.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 

  • แม้ขณะนี้ทางการโซลจะยังไม่ได้สรุปสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวน แต่ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งได้โพสต์ข้อความลงบน Twitter ว่า ในซอยดังกล่าวมีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปจำนวนมาก จากนั้นคนก็เริ่มผลักกันไปมา จนสักพักก็มีเสียงกรีดร้องดังขึ้น และคนก็ล้มทับกันราวกับโดมิโน ตนเองที่อยู่ในเหตุการณ์ก็คิดว่าจะต้องตายแล้ว เพราะฝูงคนจำนวนมากยังคงผลักดันกันเข้าไปโดยไม่รู้เลยว่ามีคนที่ล้มลงไปอยู่ด้านล่าง และเริ่มมีการเหยียบกันเกิดขึ้น

 

  • ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์อีกรายหนึ่ง เป็นหญิงวัย 20-30 ปีนามสกุลพัค (Park) เล่าว่าเหตุเหยียบกันเกิดขึ้นหลังจากที่ฝูงชนแห่กันเข้าไปในซอยแคบๆ ในช่วงเวลาเพียงแค่แป๊บเดียว เธอเล่าว่า ด้วยความที่เธอตัวไม่สูง เธอแทบจะหายใจไม่ออก แต่ที่รอดมาได้เพราะตนเองอยู่บริเวณริมถนนดังกล่าว แต่ผู้ที่ทรมานที่สุดคือกลุ่มคนที่ติดอยู่ตรงกลางซอย

 

  • ขณะข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก ‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ ระบุว่า เหตุเหยียบกันตาย หรือ Stampede นั้น สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากการเหยียบกันด้วยเท้า แต่เป็นเพราะผู้คนเบียดเสียดกันจนทรวงอกถูกกดทับ และขยายเพื่อหายใจไม่ได้ จนเกิดภาวะขาดอากาศหายใจ และหากขาดอากาศนานเกินไปก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

 

  • ซึ่งเมื่อวานนี้เกิดเหตุที่ประชาชนราว 50 คนมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันพร้อมกัน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และพลเมืองดีต้องเร่งเคลียร์พื้นที่และปั๊มหัวใจประชาชนบนพื้นถนน 

 

  • โดยล่าสุดเมื่อเช้านี้ สำนักข่าว Yonhap รายงานว่ายอดผู้เสียชีวิตจากงานปาร์ตี้ในย่านอิแทวอนพุ่งแตะที่อย่างน้อย 151 รายแล้ว ขณะมีผู้บาดเจ็บ 82 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและผู้ที่มีอายุ 20-30 ปี โดยเป็นหญิง 97 ราย และชาย 54 ราย และมีรายงานว่ามีชาวต่างชาติที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 19 ราย รวมถึงพลเมืองจากอิหร่าน อุซเบกิสถาน จีน นอร์เวย์ และไทย

 

  • สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ระบุว่า ในเบื้องต้นมีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางการเกาหลีใต้เพื่อสอบถามรายละเอียด และแจ้งให้ญาติของผู้เสียชีวิตรับทราบ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในการจัดการศพผู้เสียชีวิตต่อไป

 

  • รัฐบาลกรุงโซลยังเปิดเผยในเช้าวันนี้ด้วยว่า ทางการได้รับรายงานผู้สูญหายจากเหตุดังกล่าวถึง 355 คน ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการตรวจสอบแล้ว

 

รัฐบาลทำอะไรแล้วบ้าง

 

  • หลังจากการเกิดชุลมุนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินกว่า 1,700 คนได้ถูกส่งเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 517 คน ตำรวจ 1,100 คน เจ้าหน้าที่ของรัฐราว 70 คน และรถดับเพลิงอีกเกือบ 150 คัน 

 

  • หลังเกิดเหตุ ประธานาธิบดียุนซอกยอลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินเร่งเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลผู้เคราะห์ร้าย รวมถึงเร่งจัดหาเตียงผู้ป่วยส่งเข้าไปในพื้นที่ทันที และเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งเคลื่อนย้ายและช่วยชีวิตผู้คนเป็นอันดับแรก

 

  • นอกจากนี้ประธานาธิบดียังประกาศมาตรการรับมือฉุกเฉิน เช่น เคลียร์เส้นทางสำหรับรถพยาบาล และควบคุมไฟสัญญาณจราจร เพื่อเปิดทางให้เดินทางได้อย่างทันท่วงที

 

  • ด้านโอเซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางเยือนยุโรป ได้ตัดสินใจบินกลับประเทศทันที เพื่อเข้าดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

  • นอกจากการสืบสวนเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังวางแผนที่จะเตรียมตรวจสอบว่าบาร์และสถานบันเทิงในพื้นที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยด้วยหรือไม่

 

  • เช้านี้ยุนซอกยอลได้ประกาศให้มีการไว้อาลัยทั่วประเทศ ‘จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้’ พร้อมกล่าวว่า “ในฐานะประธานาธิบดี ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน หัวใจของผมรู้สึกหนักอึ้ง และพยายามอย่างยิ่งที่จะรับมือกับความโศกเศร้า…รัฐบาลจะขอกำหนดให้ช่วงเวลาตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่อุบัติเหตุสามารถควบคุมได้หมด เป็นช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ของชาติ และรัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุดในด้านมาตรการเยียวยาและติดตามการดำเนินงาน”

 

  • นอกจากนี้ผู้นำเกาหลีใต้ยังให้คำมั่นว่า จะออกมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เหตุน่าสลดเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม โดยจะสั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย ดำเนินการตรวจสอบฉุกเฉิน โดยไม่เพียงแค่ตรวจสอบเหตุการณ์สำหรับวันฮาโลวีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทศกาลในท้องถิ่นอื่นๆ ด้วย เพื่อให้การจัดงานทุกงานเป็นระเบียบและปลอดภัยสำหรับทุกคน

 

  • ชูคยองโฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ ได้ให้คำมั่นที่จะมอบความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลืออื่นๆ ให้กับเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยจะประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อเอื้อให้ทุกฝ่ายสามารถรับมือสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเยียวยาเหยื่อจากโศกนาฏกรรม

 

  • ฮันด็อกซู นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมอบความช่วยเหลือและเงินทุนให้กับครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยจะมีทีมเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลเรื่องงานศพ และดูแลผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะเข้ามาดูแลเรื่องการรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บ

 

หากเกิดขึ้นกับเรา จะเอาตัวรอดกันอย่างไร?

 

  • แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่เกาหลีใต้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราคนไทย เพราะเหตุเหยียบกันหรือคนเบียดเสียดแน่นกันแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่คนเรารู้สึกอัดอั้น อยากออกไปเที่ยว อยากดูกีฬา อยากชมคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรด จนทำให้สถานที่เล็กๆ อัดแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งนี่ยังเป็นช่วงเวลาใกล้สิ้นปี ซึ่งมักจะมีอีเวนต์ใหญ่ๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจกันมากด้วย

 

  • THE STANDARD จึงรวบรวมข้อควรปฏิบัติสำหรับการเอาตัวรอดในสถานการณ์ดังกล่าว จากคำแนะนำของ Mehdi Moussaïd นักวิทยาศาสตร์ประจำกรุงเบอร์ลิน ผู้ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของคนเมื่ออยู่รวมกันหมู่มาก มาเป็นไกด์ให้ทุกคนได้ศึกษากัน

 

  • Moussaïd ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NPR ว่า ประการแรกนั้น คุณจะต้องตื่นตัวเพื่อจับตาดูสัญญาณที่จะนำไปสู่เหตุอันตราย โดยเมื่อคุณอยู่ในฝูงชนจำนวนมาก และเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันอัดแน่นผิดปกติ ให้เลี่ยงออกมาจากสถานการณ์นั้นโดยเร็วที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ที่เป็นเหยื่อนั้นมักไม่รู้ว่าสถานการณ์กำลังเข้าสู่ภาวะอันตราย 

 

  • โดยปกติแล้ว คนทั่วไปเวลาเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว หรือหายใจไม่ค่อยออก ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยออกไปพื้นที่โล่ง เพราะติดพันอยู่กับกิจกรรมตรงหน้า อยากดูคอนเสิร์ต อยากชมการแสดง กลัวพลาดช็อตสำคัญ คิดว่าเดี๋ยวตัวเองก็รู้สึกดีขึ้น จนสุดท้ายก็นำไปสู่เหตุการณ์น่าเศร้า ฉะนั้นจงจำไว้ว่า “ถ้าเริ่มรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อไร แสดงว่าสถานการณ์เริ่มอันตรายแล้ว ให้พาตัวเองออกจากตรงนั้นไปยังที่ปลอดภัยทันที”

 

  • ถ้าอยู่ในที่คนเยอะๆ ให้พยายามยืนอย่างมั่นคง เพราะถ้าพลาดล้มลงไปแล้ว โอกาสที่จะลุกขึ้นมาได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีใครสักคนล้มลงไปแล้ว คนข้างหลังจะเสียการทรงตัวจนล้มตามกันเป็นโดมิโน ทำให้เกิดการกดทับและหายใจไม่ออก 

 

  • อย่าวางกระเป๋าไว้ที่พื้น เพราะกระเป๋าอาจเป็นอุปสรรคให้คนสะดุดล้มลงไปเนื่องจากไม่ทันสังเกตเห็น ซึ่งจะนำไปสู่การล้มลงเป็นโดมิโนแบบที่กล่าวไปข้างต้นได้ด้วยเช่นกัน

 

  • เว้นระยะห่างให้ทรวงอกยังขยายตัวได้ ข้อนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากเพจห้องฉุกเฉินต้องรู้ กล่าวคือ สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนมากมักเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ฉะนั้นควรเว้นระยะห่างจากคนด้านหน้าในช่วงระยะที่เรายังพอหายใจได้ โดยใช้แขนยกขึ้นป้องช่วงอกเอาไว้ เพื่อสร้างสเปซกับคนข้างหน้า ในกรณีที่คนเริ่มแน่น วิธีนี้อาจไม่สามารถช่วยให้คุณหายใจสะดวกเต็มที่ แต่ก็ยังพอถ่วงเวลาที่จะเอาชีวิตรอดไว้ได้

 

  • อย่าพยายามดันคนข้างหน้า เพราะพฤติกรรมโดยปกติของมนุษย์นั้น หากเราถูกคนข้างหลังดันขึ้นมา เราก็จะดันคนข้างหน้าไปด้วยตามอัตโนมัติ และก็จะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เสี่ยงทำให้เกิดอันตรายมาก ฉะนั้นหากมีคนข้างหลังดันมา จงจำไว้ว่าอย่าดันคนข้างหน้าเรา แต่ปล่อยตัวให้ไหลตามฝูงชนไปจนกว่าจะถึงทางออก

 

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผนังหรือของแข็งต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ให้ปล่อยตัวไหลไปตามฝูงชน แต่พยายามอย่าเข้าไปชิดติดกับผนังหรือเสา เพราะจะกลายเป็นทางตันที่คุณออกไปไหนไม่ได้ และคลื่นฝูงชนจะบดคุณเข้ากับผนังจนหายใจไม่ออก

 

  • และท้ายที่สุดคือ พยายามช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะทำได้ เพราะพฤติกรรมช่วยเหลือ (หรือความเห็นแก่ตัว) เป็นเหมือนโรคติดต่อ ถ้าต่างคนต่างเห็นแก่ตัวเอง เราจะเห็นภาพของผู้คนที่ตะกายเอาชีวิตรอด แต่ถ้าทุกคนพยายามช่วยเหลือกัน เตือนกัน ระมัดระวังกันและกัน พฤติกรรมนี้จะค่อยๆ แพร่กระจายออกไป จนสร้างบรรยากาศเชิงบวกและการช่วยเหลือกัน ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดเหตุร้ายลดลงได้

 

ภาพ: Chung Sung Jun /Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X