×

เก่งช่องทางเดียวอาจไม่รอด ‘กลุ่มไอที’ ชี้ ยุคนี้ต้องไฮบริด เดินหน้าบิลด์ยอดขายออนไลน์ มองแผนล็อกดาวน์รอบนี้ อยากให้ ‘เจ็บแต่จบ’ แบบมีการเยียวยา

12.07.2021
  • LOADING...
กลุ่มไอที

ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิดในประเทศไทย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดอย่างหนักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนทำให้มีประกาศขยายเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน เคอร์ฟิว 10 จังหวัด และอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดที่เคอร์ฟิวเปิดให้บริการเฉพาะโซนซูเปอร์มาร์เก็ต โซนอาหารแบบรับกลับ โซนยาและเวชภัณฑ์ และร้านค้าสินค้าไอที จนถึงเวลา 20.00 น. เท่านั้น

 

CPW ยัน เปิดหน้าร้านได้ราว 50% 

ปรเมศร์ เหรียญเจริญสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอปเปอร์ ไวร์ด หรือ CPW กล่าวว่า จากมาตรการเคอร์ฟิวซึ่งมีผลต่อการให้บริการสาขาในห้างสรรพสินค้าของ CPW ด้วย แต่ในเบื้องต้นประเมินว่า CPW มีสาขาหน้าร้านที่เปิดให้บริการได้ราว 50% อย่างไรก็ตาม เรื่องความชัดเจนต้องรอทางห้างสรรพสิค้าแต่ละแห่งแจ้งรายละเอียดการเปิดปิดพื้นที่ในห้างเสียก่อน 

 

“จริงๆ ห้างก็อยากเปิด และก็อยากให้มีทราฟฟิกเยอะๆ แต่ห้างก็ต้องประเมินความคุ้มค่าในการเปิดพื้นที่ด้วย เนื่องจากแต่ละห้างก็มีการจัดโซน หากเปิดทั้งโซนแล้วมีร้านที่เปิดอยู่แค่ 2-3 ร้าน ก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่าและต้นทุนค่าใช้จ่าย โดย CPW น่าจะได้รู้ข้อสรุปเรื่องจำนวนหน้าร้านในห้างที่เปิดได้ว่ามีกี่แห่งเร็วๆ นี้”​

 

ชี้รัฐควรประกาศมาตรการชัดเจน ปฏิบัติเคร่งครัด

ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน และในเชิงปฏิบัติของรัฐก็ต้องชัดเจนด้วย รวมทั้งควรมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจน ทั้งภาคแรงงานและภาคธุรกิจ เช่น เงินเดือนชดเชยจากการต้องหยุดทำงานตามประกาศของรัฐ หรือการชดเชยทางด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการ 

 

สำหรับผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจนั้น ในระยะสั้นประเมินว่ากระทบไม่มาก โดยยังมีสาขาหน้าร้านในจังหวัดอื่นๆ ที่สามารถเปิดให้บริการได้ อีกทั้งยังมีการขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อเทียบกับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในปี 2563 นับว่ามาตรการรอบนี้เบากว่ามาก ขณะที่ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ทางห้างจะมีการปรับลดค่าเช่าพื้นที่ให้ตามความเหมาะสม 

 

โดยตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดระลอกแรก CPW ปรับตัวโดยการเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่รองรับระบบออนไลน์มากขึ้น เช่น การเพิ่มช่องทางสื่อสารออนไลน์แบบออฟฟิเชียล เพิ่มช่องทางสื่อสารระหว่างลูกค้าและพนักงานหน้าร้านโดยเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่คล้าย Personal Shopper ซึ่งจะเน้นการสื่อสารเชิงลึกขึ้น คือมีทั้งเสียงและภาพ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาการให้บริการด้านการขายถึงที่บ้าน แต่ต้องรอข้อสรุปหลายอย่าง 

 

ชูสูตร ‘ไฮบริด’ ระหว่างออฟไลน์-ออนไลน์

ปรเมศร์กล่าวว่า กลยุทธ์ของ Retailer ในยุคนี้ต้อง Hybrid หรือผสมผสาน ระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปมาก และเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของและชำระเงินแบบออนไลน์กันมากขึ้น 

 

โดยสินค้าที่ขายดีมาต่อเนื่องตั้งแต่โควิดระลอกแรกคืออุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์สำหรับสำนักงาน เช่น ไอโฟน ไอแพด แม็กบุ๊ก โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ เช่น หน้าจอ ลำโพง หูฟัง เป็นต้น และเชื่อว่าสินค้าประเภทนี้จะขายดีต่อเนื่อง เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก ก่อนหน้านี้มีการ Work from Home, Learn from Home  แต่ขณะนี้ผู้คนใช้ชีวิตเกือบทั้งวันอยู่ที่บ้าน และยังต้องสร้างระยะห่างระหว่างวัน เนื่องจากการเดินทางไปมาหาสู่กันและการสังสรรค์แบบพบหน้าก็ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป 

 

นอกจากนี้ยังมีแผนจะจัดทำโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้าในช่วงที่เหลือของปีนี้เช่นกัน 

 

SPVI รับล็อกดาวน์ 14 วัน กดยอดขาย

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอส พี วี ไอ หรือ SPVI กล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบของภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ แต่เบื้องต้นจากมาตรการเคอร์ฟิวและควบคุมการเปิดให้บริการในพื้นที่จังหวัดควบคุมน่าจะทำให้ยอดขายของ SPVI ปรับลดลง แต่ไม่มาก เนื่องจากมียอดขายทางช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย โดยปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ราว 5% ของรายได้รวม 

 

อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอด โดยเฉพาะกลุ่ม Retailer การเพิ่มช่องทางออนไลน์คงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ควรมีการผสมผสานแบบบูรณาการ (Integrated) เพื่อให้เท่าทันกับพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปและโน้มเอียงไปทางออนไลน์มากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันสินค้าไอทีเป็น Consumer Product สูง นัยว่าเป็นสินค้าที่ลูกค้าอยากจับต้องและทดลองก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ ฉะนั้นแพลตฟอร์มออฟไลน์และออนไลน์จึงมีความจำเป็นทั้งคู่ และควรจะสอดรับหรือประสานการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพกันและกัน 

 

“ด้วยจุดแข็งของ SPVI ที่มีตลาดหลักอยู่ที่กลุ่มสถานศึกษาและองค์กร ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการประกาศเคอร์ฟิว หรือแม้แต่การประกาศปิดห้างเมื่อปีที่แล้ว แต่มาตรการต่างๆ ของรัฐก็ทำให้เรารู้ว่าต้องปรับตัวไปในทิศทางไหน ซึ่งก็ทำมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว สานต่อมาจนปัจจุบัน จนทำให้ยอดขายออนไลน์เราเพิ่มสัดส่วนเป็น 5% ของยอดขายรวม และก็น่าจะเห็นเทรนด์การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”

 

แนะรัฐสื่อสารชัด-มีแผนเยียวยารองรับ

สำหรับสิ่งที่อยากเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยส่วนตัวอยากให้ใช้มาตรการเจ็บครั้งเดียวและจบจริงๆ และภาครัฐควรมีแผนปฏิบัติการรับมือกับโควิดเป็นขั้นเป็นตอน ควรสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจโดยทั่วกันในช่องทางที่น่าเชื่อถือได้ช่องเดียว (Single Window) 

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวในฐานะผู้ประกอบการว่า อยากให้มีการเยียวยาที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น เงินชดเชยเงินเดือน เป็นต้น 

 

JMART ระบุ แม้ไม่สั่งปิดห้าง แต่ทราฟฟิกน้อยลง

ด้าน นราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท โมบาย (Jaymart Mobile) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.เจ มาร์ท หรือ JMART กล่าวว่า มาตรการที่จะกระทบกับกลุ่มธุรกิจเจ มาร์ท คือการปิดห้าง เนื่องจากช่องทางขายหลักจะไม่สามารถดำเนินการได้ แม้จะมีการขายช่องทางออนไลน์ขึ้นมาเสริม แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย 

 

ในกรณีปัจจุบันแม้จะไม่ได้ประกาศปิดห้าง แต่ประเมินว่ายอดขายน่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากทราฟฟิกในห้างลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เฉพาะเดือนมิถุนายนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ พบว่าทราฟฟิกหายไป 60%

 

ดึงพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจช่วยดันยอดขาย

ทั้งนี้ กลุ่มเจ มาร์ท รับมือกับสถานการณ์โควิดรวมถึงมาตรการปิดห้าง/ควบคุมเวลาการให้บริการโดย 

 

  1. การเพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์ 
  2. ขายผ่านตัวแทนจำหน่ายของซิงเกอร์ (SINGER) ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกัน 
  3. เปิดสาขานอกห้างสรรพสินค้า 
  4. ร่วมมือกับพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจที่เพิ่มความสะดวกในการอนุมัติสินเชื่อ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าในเครือเจ มาร์ท ได้สะดวกยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ เจ มาร์ท ได้รับการตอบรับด้านออนไลน์ค่อนข้างดี เชื่อว่าปีนี้ยอดขายออนไลน์ราว 250 ล้านบาท คิดเป็นเติบโตขึ้น 150% จากปี 2563 ที่มียอดขายออนไลน์ 100 ล้านบาท 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising