×

Isuzu ไม่หวั่น ‘EV จีน’ บุกไทย ยันไร้ผลกระทบยอดขายรถกระบะ เดินหน้าเปิดตัวกระบะ EV ที่ยุโรปปี 2025 โดยมีไทยเป็นฐานผลิต

14.10.2023
  • LOADING...
Isuzu

ตรีเพชรอีซูซุเซลส์เผย การมาของรถยนต์ EV แบรนด์จีนไม่กระทบยอดขายรถกระบะ ชี้กลุ่มรถยนต์ขนส่งต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่าน ยืนยัน D-Max EV เปิดตัวที่แรกในยุโรป ปี 2025 พร้อมศึกษาการสนับสนุนจาก BOI สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

 

ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบต่อยอดขายหลังมีแบรนด์รถยนต์ EV จากจีนที่เข้าทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น โดยระบุว่า รถยนต์ EV ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนรถกระบะเป็นรถที่ใช้ทำธุรกิจ และยังมองไม่เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด และเชื่อว่าต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย

 

อย่างไรก็ตาม อีซูซุยืนยันว่า แผนที่จะแนะนำรถกระบะไฟฟ้าในปี 2025 เป็นความจริง โดยใช้เป็นไทยฐานผลิตและส่งออก ซึ่งทวีปยุโรปเป็นแห่งแรกในการส่งออกสู่ตลาด เนื่องจากมีความเข้มงวดในเรื่องกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ มากขึ้น ส่วนไทยและประเทศอื่นๆ นั้นต้องอาศัยความต้องการของตลาดและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน อีซูซุยังศึกษาการขอรับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI เพื่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่เดิม รวมทั้งยังศึกษารูปแบบพลังงานประเภทอื่นอย่างไฮบริด ในการทำการตลาดในประเทศต่างๆ รวมถึงไทยด้วย

 

“จากที่เห็นรถกระบะไฟฟ้าไม่ได้วิ่งในตลาดของเรามากเท่าไรเลย หรือแทบจะไม่มีเลย ดังนั้น ถ้าลูกค้าต้องการและปัจจัยต่างๆ สมบูรณ์ เราพร้อมที่จะนำรถปิกอัพไฟฟ้าออกมาในเวลาที่เหมาะสม”

 

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าด้วยว่า “เรายินดีทั้ง 2 เรื่อง แต่สิ่งที่สำคัญและพิจารณาคือ การรักษาห่วงโซ่อุปทานและซัพพลายเชนให้อยู่ในประเทศไทย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์

 

“สำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนที่พูดกันบ่อยๆ มันเป็นเป้าหมายหลักและมีความสำคัญกับทั้งประเทศไทยและต่อโลกด้วย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถพลังงานทางเลือกอื่นๆ ล้วนสามารถส่งเสริมนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาและให้ความสำคัญคือ การรักษาห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนให้อยู่ในประเทศไทย เพราะมีบทบาทสำคัญในการจ้างงานในประเทศไทย การส่งออก และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย”

 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 526,489 คัน หดตัวลงจากปีก่อน 5.9% ส่วนรถกระบะนั้นมียอดขายจำนวน 189,555 คัน หดตัวลงจากปีก่อน 26.8% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าทุกชนิดเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ของประชาชนที่ลดลง อีกทั้งความเข้มงวดของสถาบันการเงินโดยเฉพาะการอนุมัติผ่านไฟแนนซ์ที่ยากขึ้น และสุดท้ายความขัดแย้งระหว่างประเทศ จึงคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2566 ตลาดรถยนต์ทุกเซกเมนต์น่าจะมียอดขายรวม 820,000 คัน ส่วนรถกระบะคาดว่าจะไม่เกิน 300,000 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 36-40% ของตลาดทั้งหมด

 

“เราเชื่อว่ารถรุ่นใหม่มีแรงดึงดูดพอที่จะทำให้ยอดขายเพิ่มได้มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับตลาดโดยรวมด้วยเหมือนกัน เพราะตลาดโดยรวมหดตัว มีส่วนแบ่งตลาด 44% จำนวนคันมันก็น้อยลง ตอนนี้เราจึงไม่ได้ห่วงเฉพาะปิกอัพ เราคิดว่าทำอย่างไรเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าเศรษฐกิจดี ธุรกิจต่างๆ ก็จะดีขึ้น ตลาดรถยนต์ก็จะตามมาด้วย”

 

ทั้งนี้ อีซูซุได้แนะนำ New Isuzu D-Max ที่ปรับโฉมในรอบ 4 ปี มาพร้อมดีไซน์ใหม่ภายใต้แนวคิด Sport Aggressive & Futuristic มาพร้อมกระจังหน้าแบบ 3-Dimensions ไฟหน้าแบบ Bi-LED พร้อม Multi-Functional Daytime Running Light ล้ออัลลอยลายใหม่ ไฟท้าย LED แบบ Triple Armor ส่วนภายในห้องโดยสารได้รับการตกแต่งใหม่แบบ Miura Design มาตราวัดแบบจอขนาด 7 นิ้ว Integrated MID เครื่องเสียงแบบจอสัมผัสขนาด 8-9 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย ด้านพละกำลังมี 2 แบบคือ ดีเซล 1.9 ลิตร 150 แรงม้า และ 3.0 ลิตร 190 แรงม้า อีกทั้งในรุ่นเคลื่อน 4 ล้อได้เพิ่มระบบ Rough Terrain 4×4 เพื่อช่วยกระจายแรงขับทั้ง 2 ล้อและ 4 ล้อ นอกจากนี้ ชุดระบบความปลอดภัยอย่าง ADAS ได้อัปเกรดให้แม่นยำขึ้น เสริมด้วยระบบช่วยเบรกขณะถอยหลัง RCTB ทั้งนี้ อีซูซุมั่นใจว่าจะสามารถครองตำแหน่งผู้นำรถกระบะได้อย่างแน่นอน สวนทางกับสภาพตลาดที่หดตัวลง

 

สำหรับราคาของ New Isuzu D-Max ได้มีการปรับราคาทุกรุ่นย่อย เริ่มต้นอยู่ที่ 540,000 บาท จนถึง 1,257,000 บาท โดยจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมเป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X