อิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์บรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และฝรั่งเศส โดยมีผลตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
การหยุดยิงเริ่มต้นขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงในการยุติความขัดแย้งและการสู้รบข้ามพรมแดนที่กินเวลานานเกือบ 14 เดือน และปะทุเป็นสงครามเต็มรูปแบบกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายพันคนทั้งในอิสราเอลและเลบานอน
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าวยังเป็นที่จับตามองว่าจะประสบความสำเร็จหรือช่วยลดระดับความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้จริงหรือไม่ และจะส่งผลกระทบในแง่ใดบ้างต่อสงครามในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ
เกิดอะไรขึ้น?
ในช่วงก่อนบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิง ฝ่ายอิสราเอลยังเดินหน้าโจมตีเลบานอนอย่างหนัก โดยส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดในพื้นที่ชานเมืองทางใต้ของกรุงเบรุต และยังมีการโจมตีเกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนแถลงเรื่องข้อตกลงหยุดยิง
แถลงการณ์ร่วมของไบเดนและ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ระบุว่า “การหยุดยิงจะสร้างเงื่อนไขเพื่อฟื้นฟูความสงบสุขอย่างยั่งยืนและเปิดทางให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย”
ภายหลังข้อตกลงหยุดยิงมีผลบังคับใช้ ประชาชนเลบานอนที่อพยพหนีตายออกมาจากหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเบรุตและพื้นที่ชายแดนทางใต้ที่ถูกอิสราเอลโจมตี ต่างทยอยเดินทางกลับบ้านและออกมาโบกธงเฉลิมฉลองด้วยความดีใจ
โดย นาจิบ มิคาติ นายกรัฐมนตรีของเลบานอน แสดงความยินดีกับข้อตกลงหยุดยิง และขอบคุณทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศสสำหรับความพยายามผลักดันข้อตกลง
ด้านสำนักงานนายกรัฐมนตรีอิสราเอลเปิดเผยว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ได้พูดคุยกับไบเดน โดยกล่าวว่า “รัฐบาลอิสราเอลได้อนุมัติข้อตกลงหยุดยิง และตัวเขารู้สึกซาบซึ้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าใจว่าอิสราเอลจะยังคงรักษาเสรีภาพในการดำเนินการในการบังคับใช้ข้อตกลงนี้”
ขณะที่ ไอแซก เฮอร์ซ็อก ประธานาธิบดีของอิสราเอล กล่าวว่า การหยุดยิงในเลบานอนจำเป็นต้องรับประกันความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ตอนเหนือของอิสราเอลเช่นกัน
ทั้งนี้ หลายแหล่งข่าวในเลบานอนรายงานว่า กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ตอบตกลงตามเงื่อนไขของข้อตกลงหยุดยิงดังกล่าว แต่ไม่มีรายงานเกี่ยวกับการเจรจาใดๆ ระหว่างฝ่ายกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับอิสราเอลหรือชาติตะวันตก
เงื่อนไขหยุดยิงคืออะไร?
สำหรับเงื่อนไขหลักของข้อตกลงหยุดยิงคืออิสราเอลจะค่อยๆ ถอนทหารออกจากตอนใต้ของเลบานอนในเวลา 60 วัน และกองทัพเลบานอนจะเข้าไปดูแลพื้นที่ ส่วนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะต้องถอนกองกำลังออกไปทางเหนือของแม่น้ำลิตานี ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนอิสราเอล-เลบานอนประมาณ 40 กิโลเมตร
โดยรัฐบาลเลบานอนจะกำหนดมาตรการควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการรวมตัวกันในพื้นที่ชายแดนอีก ซึ่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ กองทัพเลบานอน และคณะกรรมการนานาชาติ จะได้รับมอบหมายให้ดูแลการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลให้คำมั่นว่าจะกลับไปปฏิบัติการทางทหารอีกครั้งในกรณีที่เกิดการละเมิดข้อตกลง
ข้อตกลงหยุดยิงจะมีผลกระทบต่อสงครามกาซาหรือไม่?
เอชเอ เฮลเยอร์ นักวิจัยอาวุโสด้านความมั่นคงศึกษาจากสถาบัน Royal United Services Institute (RUSI) ในลอนดอน มองว่า การหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ไม่น่าจะมีความหมายใดๆ ต่อสงครามในฉนวนกาซา และไม่อาจช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับชาวปาเลสไตน์ในกาซาได้
โดยการเจรจาหยุดยิงในกาซาอย่างจริงจังระหว่างอิสราเอลและฮามาสนั้นหยุดนิ่งมานานหลายสัปดาห์ และยังไม่มีวี่แววจะเริ่มต้นได้ในเร็วๆ นี้
ขณะที่ผลกระทบของสงครามในกาซาคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ไปแล้วมากกว่า 44,000 คน โดยการโจมตีของอิสราเอลทำให้ประชากรกาซาเกือบ 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น และเมืองต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ CNN เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะเป็นการ ‘ส่งสัญญาณไปยังฮามาส’ ว่าอิสราเอลและชาติพันธมิตรจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุข้อตกลงที่จะปลดปล่อยตัวประกันในกาซา แต่มองว่าอิสราเอลจำเป็นต้อง ‘เปลี่ยนความสำเร็จทางทหารให้กลายเป็นความสำเร็จเชิงยุทธศาสตร์เสียก่อน’
อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ใช้สิทธิ์ยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกฉบับที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในกาซาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและเป็นการถาวร โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่ามติดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการหยุดยิงกับการปลดปล่อยตัวประกันในกาซา
ภาพ: Adnan Abidi TPX IMAGES OF THE DAY / Reuters
อ้างอิง: