ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์อย่างน้อย 3 เหตุการณ์อันสัมพันธ์กับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล เหตุการณ์แรกคือข่าวที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่าตนเองได้ใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีเป้าหมายหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) ของอิหร่านในประเทศซีเรียเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านก็รายงานว่า ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการหญิงชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ ซึ่งเป็นนักโทษที่ถูกจำคุกข้อหาจารกรรมข้อมูลให้อิสราเอล ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในอิหร่านเพื่อแลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวอิหร่าน 3 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในไทย
ถัดจากนั้นเพียงแค่ 1 วันก็มีข่าวว่า ดร.โมห์เซน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการนิวเคลียร์อิหร่านถูกลอบสังหารเสียชีวิตใกล้กรุงเตหะราน ทางการอิหร่านประณามผู้ก่อเหตุโดยระบุชัดเจนว่าอิสราเอลเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง พร้อมทั้งประกาศจะล้างแค้นอย่างสาสม
เหตุการณ์ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดในระดับที่รุนแรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลอย่างไม่ต้องสงสัย ทว่าที่ผ่านมาปัญหานี้มักถูกบดบังจากกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน หรือการเผชิญหน้ากันระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย จนทำให้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงปัญหาเปราะบางในวิกฤตความรุนแรงระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลตลอดช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในแกนกลางของปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางและส่งผลกระทบต่อสันติภาพโลกเลยทีเดียว
บทความนี้นอกจากจะอธิบายถึงพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนยังจะสะท้อนลักษณะของการต่อสู้ระหว่างสองประเทศนี้ที่ใช้ทั้ง ‘สงครามตัวแทน’ (Proxy War) และ ‘สงครามลับ’ (Secret War) เป็นเครื่องมือห้ำหั่นกันอีกด้วย
สงครามตัวแทนอิหร่าน-อิสราเอล: จากอดีตถึงปัจจุบัน
หลังจากที่อิสราเอลประสบความสำเร็จในการสามารถจัดตั้งรัฐขึ้นได้ในปี 1948 อิหร่านกับอิสราเอลก็พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอันเกิดจากทั้งปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนแรก เดวิด เบน-กูเรียน ประกาศใช้นโยบาย ‘หลักการรัฐริมขอบ’ (Periphery Doctrine) อันหมายถึงการวางยุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐที่ไม่ใช่อาหรับในตะวันออกกลาง ทั้งอิหร่านและตุรกี เพราะรัฐแกนกลางในโลกอาหรับ 22 ประเทศขณะนั้นประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิสราเอลชัดเจน
ด้วยเหตุนี้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านในยุคนั้นจึงเป็นที่เข้าใจได้ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคและร่วมต่อต้านภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตขณะนั้น แต่ที่สำคัญคือทั้งอิหร่านและอิสราเอลต่างเป็นคู่ค้าสำคัญระหว่างกัน ขณะที่อิหร่านส่งน้ำมันไปขายให้อิสราเอล อิสราเอลก็ขายอาวุธทันสมัยให้อิหร่านเป็นการตอบแทน เรียกได้ว่าตลอดช่วง 3 ทศวรรษนับจากปี 1948-1978 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้มีความสนิทชิดเชื้อมากกว่าเป็นรัฐเพื่อนบ้านธรรมดา
ทว่ามิตรภาพที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนไปหลังการปฏิวัติอิหร่าน ปี 1979 นักการศาสนาที่เป็นผู้นำการปฏิวัติอิหร่านออกมาตราหน้าสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘ซาตานตัวใหญ่’ (Great Satan) และเรียกอิสราเอลว่า ‘ซาตานตัวเล็ก’ (Little Satan) พร้อมกันนั้นยังวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลที่ละเมิดสิทธิและปล้นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาปาเลสไตน์เสมือนเป็นปัญหาของตนเอง
แต่นั่นยังคงไม่ใช่จุดแตกหัก อันที่จริงสัมพันธภาพที่ร้าวลึกระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลเกิดขึ้นจากการที่อิสราเอลยกกองทัพเข้าไปยึดครองเลบานอนภาคใต้เมื่อปี 1982 การยึดครองของอิสราเอลที่นั่นกระทบต่อชีวิตบริสุทธิ์ของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวชีอะห์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ ด้วยเหตุนี้อิหร่านจึงส่งนายทหารระดับแนวหน้าสังกัด ‘กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน’ หรือ IRGC จำนวน 1,500 นายเข้าไปในภาคใต้ของเลบานอน ภารกิจสำคัญไม่ใช่เข้าไปปฏิบัติการรบกับอิสราเอลโดยตรง แต่เข้าไประดมผู้คนชาวชีอะห์ จัดการฝึกซ้อมรบให้ พร้อมทั้งสนับสนุนเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ จนกองกำลังจัดตั้งดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นเป็นขบวนการฮิซบอลเลาะห์ (Hizbullah) อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
การจัดตั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขึ้นนี้จึงถือเป็นต้นแบบของแผนยุทธศาสตร์ทางการทหารของอิหร่านในการทำ ‘สงครามตัวแทน’ กับอิสราเอลในภูมิภาคตะวันออกกลาง กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ขณะนั้นมีภารกิจเร่งด่วนสำคัญคือการขับไล่กองกำลังยึดครองของอิสราเอลออกไปจากภาคใต้ของเลบานอน
ศึกสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างดุเดือด ฮิซบอลเลาะห์ใช้วิธีการรบแบบจรยุทธภายใต้การสนับสนุนของอิหร่านจนอิสราเอลไม่สามารถทนต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตนได้ ท้ายที่สุดจึงต้องยอมถอนตัวออกไปจากภาคใต้ของเลบานอนเมื่อปี 2000 และนั่นถือเป็นครั้งแรกของอิสราเอลที่ต้องถอนตัวออกไปจากดินแดนอาหรับโดยไม่ได้ผ่านการทำข้อตกลงสันติภาพใดๆ อิสราเอลบอบช้ำจากสงคราม 18 ปีที่เกิดขึ้น ซึ่งมีอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นรอยบาดแผลที่อิสราเอลจดจำมาตลอดไม่เคยลืม ขณะนั้นอิสราเอลจึงเริ่มตระหนักว่าตนเองมิได้มีศัตรูเฉพาะรัฐอาหรับเท่านั้น แต่ภัยคุกคามที่สำคัญยิ่งกว่าคือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่มีอิหร่านเป็นผู้ให้กำเนิดและโยงใยอยู่เบื้องหลัง
นับวันกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้น กล่าวกันว่าปัจจุบันกองกำลังของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีศักยภาพมากกว่ากองทัพของเลบานอนด้วยซ้ำไป นอกจากจะเคลื่อนไหวทางการทหารแล้ว ระยะหลังฮิซบอลเลาะห์ยังเข้าไปเล่นการเมืองจนสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเลบานอนในปัจจุบัน ถึงอย่างนั้นการเผชิญหน้ากับอิสราเอลหลังปี 2000 ก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้อิสราเอลจะถอนตัวออกไปจากประเทศแล้วก็ตาม
ในปี 2006 ฮิซบอลเลาะห์ได้จับกุมทหารอิสราเอลไว้เป็นตัวประกัน 2 นายเพื่อเอาไว้ต่อรองแลกตัวประกันชาวปาเลสไตน์และชาวเลบานอนที่ถูกอิสราเอลกักขังไว้ แต่อิสราเอลปฏิเสธ พร้อมทั้งยกกองทัพเข้าไปถล่มโจมตีฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน นำไปสู่สงครามยาวนาน 34 วัน ทำให้ผู้คนชาวเลบานอนเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1,200 คน แต่ทหารและพลเรือนของอิสราเอลก็ตายไปไม่น้อยเช่นกันประมาณ 170 คน แม้ฮิซบอลเลาะห์จะสูญเสียมากกว่า แต่สงครามครั้งนี้หลายฝ่ายระบุว่าเป็นความพ่ายแพ้ของอิสราเอล เพราะอิสราเอลไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำสงคราม คือไม่สามารถนำตัวประกันกลับมา และไม่สามารถล้มล้างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ นี่จึงถือเป็นรอยบาดแผลอีกครั้งที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ขีดเอาไว้กลางหัวใจของอิสราเอล
ระยะหลังอิหร่านกลายเป็นประเทศที่สามารถขยายอิทธิพลออกไปได้มากในตะวันออกกลางผ่านการทำงานของ ‘กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน’ หรือ IRGC นอกจากอิหร่านจะสามารถแทรกซึมอิทธิพลของตนเองเข้าไปในเลบานอน ปาเลสไตน์ และซีเรียแล้ว อิหร่านยังสามารถขยายเครือข่ายของตนเข้าไปในอิรักหลังยุคประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน อีกด้วย
การปะทุของสงครามกลางเมืองซีเรียยิ่งเปิดช่องให้อิหร่านทำงานกับรัฐบาลซีเรียและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ง่ายขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างปี 2011-2019 อิหร่านได้ส่งการช่วยเหลือทางการทหารและเงินไปให้ซีเรียเป็นจำนวนมหาศาล ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังได้ส่งกองกำลังทหารของตนรวมถึงกลุ่มติดอาวุธชีอะห์จำนวนมากเข้าไปช่วยค้ำจุนรัฐบาลซีเรียอีกด้วย ว่ากันว่าอิหร่านมีกองกำลังทหารประจำอยู่ในฐานทัพซีเรียไม่ต่ำกว่า 36 ฐานทัพ
อิหร่านได้ใช้กองกำลังเหล่านี้ที่ประจำอยู่ในซีเรียเปิดศึกท้าทายอิสราเอล ส่งขีปนาวุธชนิดต่างๆ และโดรนเข้ามาเตรียมความพร้อม ขณะที่ฮิซบอลเลาะห์ก็เคลื่อนไหวอยู่ทางภาคใต้ของซีเรีย และระดมสรรพกำลังเข้าไปประจำอยู่ใกล้ชายแดนอิสราเอลตรงบริเวณรอยต่อระหว่างพรมแดนซีเรียกับที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ความจริงดินแดนส่วนตรงนี้เป็นพื้นที่ปะทะระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลมานานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าปี 2012 อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินรบเข้าไปโจมตีทหารอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ จนทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านที่สังกัด IRGC และนักรบชั้นนำของฮิซบอลเลาะห์เสียชีวิต ระหว่างปี 2012-2017 กองทัพอากาศของอิสราเอลได้ออกมายอมรับว่าตนเองใช้ปฏิบัติการทางทหารนับร้อยๆ ครั้งเข้าไปโจมตีเพื่อขัดขวางการส่งกำลังบำรุงให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในซีเรีย ขณะที่ในปี 2018 เพียงปีเดียวอิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการทหารมุ่งเป้าโจมตีกองกำลังทหารอิหร่านในซีเรียไม่ต่ำกว่า 200 ครั้ง
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การตอบโต้ของอิหร่านก็เป็นไปอย่างจำกัด อิหร่านไม่ต้องการให้การตอบโต้ขยายใหญ่กลายเป็นสงครามขึ้นมา แต่ก็น่าสังเกตว่านับตั้งแต่ปี 2018 อิหร่านได้ใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้อิสราเอลที่หนักข้อขึ้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธจากฐานทัพซีเรียเข้าไปในอิสราเอล แม้จะถูกสกัดได้โดยระบบป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่อิสราเอลต้องประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศตนอย่างจริงจัง เหตุการณ์นี้ตามมาด้วยการยิงจรวดกว่า 20 ลูกเข้าไปโจมตีด่านทหารของอิสราเอลที่ประจำการอยู่ในที่ราบสูงโกลันเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก เรื่องนี้ทำให้อิสราเอลตอบโต้อย่างหนักโดยการส่งเครื่องบินรบเข้าไปโจมตีเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของอิหร่านกว่า 70 แห่งทั่วประเทศซีเรีย และถือเป็นปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี 1973
จากที่ได้กล่าวมา เห็นได้ชัดว่าอิหร่านกับอิสราเอลเป็นสองประเทศที่อยู่ในสภาวะสงครามระหว่างกันมาตลอดต่อเนื่องเกือบ 40 ปีเต็ม แม้การต่อสู้ส่วนใหญ่ระหว่างกันจะปรากฏออกมาในรูป ‘สงครามตัวแทน’ แต่ระยะหลังการปะทะเผชิญหน้าก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และอาจยกระดับกลายเป็นการทำสงครามกันโดยตรงได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม สงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นก็มักจำกัดขอบเขตอยู่ในดินแดนตะวันออกกลางเท่านั้น ไม่ได้ขยายตัวออกไปนอกภูมิภาค
‘สงครามลับ’ ในสมรภูมิรบไร้พรมแดน
ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลมิได้เกิดขึ้นเพราะอิหร่านมีนโยบายสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านอีกด้วย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าอิสราเอลคือประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางหนึ่งเดียวที่มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง สิ่งนี้เป็นหลักประกันสำคัญของอิสราเอลที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางศัตรูล้อมรอบ และทำให้อิสราเอลไม่หวาดกลัวอำนาจใดๆ แม้ตนเองจะละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์และรุกคืบกินดินแดนของปาเลสไตน์จนเกือบไม่เหลือแล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้อิสราเอลจึงไม่อาจปล่อยให้ประเทศใดในตะวันออกกลางสามารถพัฒนาโครงการนิวเคลียร์จนถึงระดับที่จะสามารถผลิตเป็นอาวุธได้ ขณะที่อิหร่านก็เป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่กำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ไปได้ไกลถึงขั้นที่ทำให้อิสราเอลหวาดระแวง
ที่ผ่านมาอิสราเอลได้ใช้วิธีการหลากหลายในการสกัดกั้นอิหร่านไม่ให้กลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ หนึ่งในนั้นคือการยืมมือสหรัฐฯ เข้ามากดดันอิหร่านอย่างหนักผ่านการสร้างความร่วมมือกับประชาคมโลกและองค์การระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการค้ามาตลอดต่อเนื่องเกือบ 2 ทศวรรษ
อีกวิธีหนึ่ง (ที่มีการกล่าวอ้างจากอิหร่าน) คือการที่อิสราเอลใช้ปฏิบัติการลับคอยลอบสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่าน ซึ่งไม่ได้มีแต่นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่านเท่านั้นที่ถูกลอบสังหาร แต่ยังรวมถึงผู้นำทางการทหารของอิหร่านในดินแดนต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกันอิสราเอลก็ออกมากล่าวหาอิหร่านว่าใช้ปฏิบัติการลับลอบสังหารนักการทูตและทำลายผลประโยชน์ของอิสราเอลในประเทศต่างๆ เช่นกัน
เรื่องนี้หากเป็นจริงตามที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้าง ก็หมายความว่าทั้งสองประเทศคู่ขัดแย้งนี้ไม่เพียงแต่ทำ ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังใช้ ‘สงครามลับ’ เป็นเครื่องมือในการทำลายซึ่งกันและกันอีกด้วย
โรเนน เบิร์กแมน ผู้เขียนหนังสือ ‘สงครามลับกับอิหร่าน’ อธิบายว่าสงครามนี้เป็นหนึ่งในสงครามยืดเยื้อที่สุดในตะวันออกกลาง และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 เป็นสงครามที่สาธารณชนอาจมองไม่เห็น แต่คร่าชีวิตผู้คนเหมือนสงครามทั่วไป สงครามลับนี้เริ่มจากการสังหาร พันเอก อาลี มะห์มูด มิมานด์ ผู้ก่อตั้งโครงการขีปนาวุธอิหร่านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2001 โดยพบกระสุนปริศนาหนึ่งนัดในศีรษะของเขา นับจากนั้นมาก็ได้เกิดเหตุวินาศกรรม การลอบสังหาร และการวางระเบิดปริศนา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายในอิหร่านจำนวนไม่น้อย
แม้อิหร่านจะออกมากล่าวโทษอิสราเอล แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2007 พลจัตวา อาลี เรีย อาสการี อดีตที่ปรึกษาของรัฐมนตรีช่วยกลาโหมในรัฐบาลประธานาธิบดีคอตามิของอิหร่านก็หายตัวไปขณะเดินทางไปกรุงอิสตันบูล ก่อนหน้านั้นในเดือนมกราคม 2007 เกิดเหตุฆาตกรรม ดร.อาร์เดชีร์ ฮัสซันพัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่เหล็กไฟฟ้าและนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งต่อมา ‘สตรัทฟอร์’ บริษัทวิเคราะห์ข่าวกรองและความมั่นคงชื่อดังออกรายงานระบุว่า ‘มอสสาด’ หรือหน่วยข่าวกรองอิสราเอลอยู่เบื้องหลัง
จากนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2011 ดาริอุช เรซาเนจัด วิศวกรไฟฟ้าที่กำลังจะทำปริญญาเอกก็ถูกมือปืนสังหารพร้อมกับภรรยาในเตหะราน วิศวกรอิหร่านผู้นี้ร่วมออกแบบเครื่องปั่นไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้ในทางพลเรือน และอาจใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย และในวันเดียวกันนั้นยังมีศาสตราจารย์ฟิสิกส์ที่รู้จักในชื่อ ดร.โบรอนซี ถูกลอบสังหารเช่นกันในเตหะราน จากนั้นในช่วงปีใหม่ของปี 2012 ก็เกิดเหตุลอบสังหาร อะห์มาดี โรชาน ผู้อำนวยการโรงงานยูเรเนียมนาทานซ์จากระเบิดติดแถบแม่เหล็ก อย่างไรก็ตาม เหตุลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่านเงียบหายไปนานเกือบ 8 ปี จนกระทั่ง ดร.มุห์ซิน ฟาครีซาเดห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการนิวเคลียร์อิหร่านถูกลอบสังหารเสียชีวิตใกล้กรุงเตหะรานล่าสุด ซึ่งเป็นบุคคลที่ เบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล เคยฉายภาพสไลด์และกล่าวถึงฟาครีซาเดห์หลายครั้งระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน โดยบอกว่า “โปรดจำชื่อนี้เอาไว้”
หลังการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านเมื่อต้นปี 2012 ดังกล่าว ในปีเดียวกันก็เกิดเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ เป็นระเบิดต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ทางการไทยแถลงว่าเหตุระเบิดเป็นความพยายามที่ล้มเหลวของผู้ถือสัญชาติอิหร่านในการลอบสังหารนักการทูตอิสราเอล ชาวอิหร่าน 3 คนถูกจับกุม หนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้ประสานข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลังเกิดเหตุระเบิด ซึ่งพบว่าลักษณะของวัตถุระเบิดที่ใช้เหมือนกับที่เกิดเหตุระเบิดกลางกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ใกล้กับสถานทูตอิสราเอลในช่วงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หรือก่อนระเบิดในกรุงเทพฯ เพียงวันเดียว กลุ่มคนร้ายได้ขี่รถจักรยานยนต์นำแม่เหล็กติดระเบิดไปแปะหลังรถเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลระหว่างจอดติดสัญญาณไฟจราจร ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย อีกทั้งยังพบระเบิดลักษณะเดียวกันที่กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย แต่คนขับรถสถานทูตอิสราเอลพบก่อน จึงเก็บกู้ระเบิดเอาไว้ได้ทัน
ตามความเห็นของ ฮุสเซน ดาลิเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของอิหร่านจากกรณีการลอบสังหารฟาครีซาเดห์นั้น เขาค่อนข้างมั่นอกมั่นใจว่าหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล หรือ ‘มอสสาด’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้ และอิหร่านคงต้องตอบโต้เอาคืนอย่างแน่นอน เขาอธิบายต่อไปว่า “นัยสำคัญของการก่อการครั้งนี้คือการที่มอสสาดได้ปรับบทบาทของตนเองใหม่อีกครั้ง จากที่ทำงานด้านการข่าวก็หันไปใช้ปฏิบัติการทางทหาร สิ่งที่จะตามมาก็คือ (ซึ่งก็คงเหมือนกับเหตุลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านเมื่อ 8-9 ปีก่อน) หน่วยข่าวกรองของอิหร่านย่อมปรับเปลี่ยนกิจกรรมของตนเช่นกัน แล้วหันไปใช้ปฏิบัติการทางทหารในสงครามลับที่จะตอบโต้อิสราเอล” เขาไม่เชื่อว่าอิหร่านจะตอบโต้การสังหารฟาครีซาเดห์โดยการยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิสราเอลอย่างที่หลายคนวิเคราะห์ “แต่อิหร่านจะทำสงครามข่าวกรองที่เข้มข้นขึ้น และใช้ปฏิบัติการลับแก้แค้นเอาคืนในสิ่งที่อิสราเอลได้ทำไว้ อิหร่านจะเป็นผู้กำหนดว่าจะกระทำเมื่อไรและในสถานที่ใด แต่ที่แน่ๆ คือพื้นที่ในการตอบโต้อิสราเอลครั้งนี้คงไม่จำกัดอยู่แค่ในตะวันออกกลางเท่านั้น”
พูดอีกอย่างก็คือขณะนี้สนามของการต่อสู้ในปฏิบัติการลับระหว่างอิหร่านกับอิสราเอลคือสมรภูมิรบที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะและทุกพื้นที่ในโลก สถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ทุกประเทศต้องเฝ้าระวัง พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ดินแดนของตนถูกใช้เป็นสมรภูมิในสงครามลับระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ซึ่งก็รวมถึงไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่เคยถูกใช้เป็นสนามต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายมาแล้ว สนามรบที่เป็น ‘สงครามตัวแทน’ คงไม่กระทบกับไทยเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง แต่ ‘สงครามลับ’ เป็นเรื่องที่ไทยต้องส่งสัญญาณชัดเจนที่จะไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเข้ามาใช้ไทยเป็นพื้นที่ตอบโต้แก้แค้นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Ronen Bergman. (2008). The Secret War with Iran: Israel and the West’s 30-Year Clandestine Struggle. Free Press.
- https://www.aljazeera.com/news/2020/11/28/harsh-revenge-how-will-iran-respond-to-scientists-killing
- https://iranprimer.usip.org/blog/2020/jan/21/iran%E2%80%99s-confrontation-israel-over-four-decades
- https://www.komchadluek.net/news/foreign/123295
- https://www.thairath.co.th/content/238812