การสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม มีภาพและข้อมูลมากมายปรากฏบนโลกออนไลน์ และในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ถูกพบว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ หรือ ‘คลิปปลอม’
ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย ซึ่งใครก็สามารถเข้าถึงและกลายเป็นสื่อได้เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง ส่งผลอย่างยิ่งต่อฉากทัศน์ของวิกฤตที่นอกเหนือจากการนำเสนอความจริงอันเลวร้ายของสถานการณ์ ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง หรือเกินจริง จนทำให้ผู้ติดตามสถานการณ์ ‘หลงเชื่อ’ และ ‘เข้าใจผิด’ และบางครั้งอาจก่อผลกระทบร้ายแรง เช่น ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้น หรือทำให้คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบจากภาพลักษณ์ของการกระทำที่ติดลบ
การใช้สื่อเพื่อเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่เกิดขึ้นถูกจับจ้องจากหลายฝ่าย โดยนักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะความขัดแย้งนี้อาจไม่ใช่แค่การปลุกปั่นเพื่อความสนุก แต่เป็นการทำ ‘สงครามข่าวสาร’ ที่มีกองกำลัง IO (Information Operation) หรือปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจังเพื่อเป้าประสงค์บางอย่างต่อผลลัพธ์ของความขัดแย้ง
ขณะที่การแพร่กระจายของข่าวปลอมมากมายทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นสำหรับผู้ที่ได้รับข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งทางออกของปัญหานั้นหลายคนรับรู้ว่าต้องกลั่นกรองและตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะเชื่อ แต่ในบางครั้งอาจทำได้ยาก และจะยิ่งยากมากขึ้นเมื่อเผชิญกับปฏิบัติการข่าวสารที่มีการดำเนินการอย่างซับซ้อนและครอบคลุม จนเปลี่ยนความเชื่อของผู้รับสารไปแบบไม่ทันรู้ตัว
ข่าวปลอมและผลกระทบที่เกิดขึ้น
- ตัวอย่างหนึ่งของข่าวหรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือนในช่วงวิกฤตสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ กรณีที่สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมาเผยแพร่ภาพที่แสดงให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ดู โดยยืนยันว่าเป็นภาพอันโหดร้ายที่กลุ่มฮามาสตัดศีรษะทารกและเด็กหลายคน ซึ่ง ซารา ซิดเนอร์ ผู้สื่อข่าว CNN รายงานในเรื่องนี้ระหว่างถ่ายทอดสด ก่อนที่รัฐบาลอิสราเอลจะออกมาแก้ไขว่า ‘ไม่สามารถยืนยัน’ ได้ว่ามีทารกที่ถูกกลุ่มฮามาสตัดศีรษะ ทำให้ซิดเนอร์ต้องออกมาแสดงความขอโทษผ่านโซเชียลมีเดียจากการที่ไม่ระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสาร ซึ่งผลกระทบนั้นอาจยิ่งสร้างความเกลียดชังของผู้คนที่มีต่อกลุ่มฮามาสมากขึ้น
- นอกจากนี้ยังมีการนำคลิปวิดีโอจากต่างสถานที่หรือช่วงเวลามากล่าวอ้าง เช่น คลิปการระเบิดเมืองที่รุนแรง ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่พร้อมคำบรรยายคลิปที่ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซา ของกองทัพอิสราเอล แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นภาพจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ที่บริเวณท่าเรือในกรุงเบรุตของเลบานอนในปี 2020
- ช่วงหลังเกิดเหตุกลุ่มฮามาสบุกอิสราเอลก็ปรากฏคลิปวิดีโอหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ใน TikTok และสื่อหลายสำนัก โดยเป็นภาพของหญิงสาวที่ร่างกายเต็มไปด้วยเลือด ถูกกลุ่มติดอาวุธดันตัวเข้าไปในรถ ก่อให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสกำลังจับตัวประกันชาวอิสราเอล ซึ่งผู้คนจำนวนมากที่เห็นคลิปวิดีโอต่างประณามการกระทำของฮามาส และมีบางส่วนให้ความเห็นผิดๆ เช่นผู้หญิงในคลิปเป็นทหารไม่ใช่พลเรือน
- อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของสำนักข่าว BBC ยืนยันว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตเซเจีย (Sheijia) พื้นที่รอบนอกของฉนวนกาซา ไม่ใช่ในอิสราเอล
- อีกกรณีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างคือบันทึกเสียงข้อความหนึ่งจากแอปพลิเคชันแชตอย่าง WhatsApp ที่ถูกเผยแพร่ไปในกลุ่มแชตหลายร้อยกลุ่มของชาวอิสราเอล โดยอ้างว่ามีข้อมูลวงในเกี่ยวกับการวางแผนทำสงครามใหญ่ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนของกองทัพอิสราเอล และเตือนประชาชนในอิสราเอลว่าควรเตรียมพร้อมที่จะสูญเสียการเข้าถึงอาหาร น้ำ และอินเทอร์เน็ตเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์
- ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวอิสราเอลทั่วประเทศไม่น้อยแห่กันไปถอนเงินจากธนาคารและซื้อเสบียงอาหารกักตุนไว้เพื่อเตรียมรับมือการสู้รบ โดยกองทัพอิสราเอลต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นข้อความเท็จ
- นอกจากนี้ยังมีคลิปการรายงานข่าวของ BBC ที่ยืนยันว่ายูเครนสนับสนุนอาวุธให้กลุ่มฮามาส โดยมีโลโก้และข้อความอันโดดเด่นของ BBC นำเสนอข่าวเกี่ยวกับยูเครนที่มอบอาวุธให้กับกลุ่มฮามาส โดยอ้างข้อมูลจาก Bellingcat ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสืบสวนชื่อดัง
- คลิปวิดีโอนี้ถูกเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน Telegram มียอดวิวกว่า 1.1 แสนครั้ง และมีผู้แสดงความเห็นกว่า 2,500 ข้อความ แต่ทั้ง BBC และ Bellingcat ยืนยันว่าไม่ได้รายงานถึงหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนข้อมูลที่ว่ายูเครนส่งมอบอาวุธให้กลุ่มฮามาส
- ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก และจำนวนมากสนับสนุนปาเลสไตน์ ก็ปรากฏการณ์แพร่กระจายข่าวปลอมมากมายเกี่ยวกับการสู้รบระหว่างอิสราเอล-ฮามาสในโซเชียลมีเดีย
- ชาวอินโดนีเซียหลายล้านคนได้ดูคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม X หรือในชื่อเก่าคือ Twitter โดยมีชื่อคลิปว่า “กลุ่มติดอาวุธฮามาสแทรกซึมเข้าไปในเทศกาลดนตรีของอิสราเอลโดยใช้ร่มร่อน และเปิดการโจมตีครั้งใหญ่จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก”
- โดยวิดีโอดังกล่าวได้รับการตรวจสอบภายหลัง ยืนยันว่าเป็นภาพทหารพลร่มชาวอียิปต์ที่กำลังบินอยู่เหนือโรงเรียนนายร้อยอียิปต์ในกรุงไคโร
- นอกจากนี้ชาวเน็ตอินโดนีเซียจำนวนมากพากันแชร์รายงานข่าวที่อ้างว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอลมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์
- ซึ่งตามข้อเท็จจริงคือไบเดนเสนอ ‘การสนับสนุนที่จำเป็น’ แก่อิสราเอล แต่ไม่ได้มีมูลค่าตามที่ระบุในรายงาน และมีการบิดเบือนข้อมูลโดยใช้ภาพประกอบเป็นภาพหน้าจอของรายงานข่าวที่ทำเนียบขาวแถลงเรื่องการอนุมัติเงิน 400 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือยูเครนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์เชื่อมีขบวนการ IO ของทั้ง 2 ฝ่าย
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนที่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อทั้งฝ่ายอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) ซึ่งติดตามสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกมาอย่างต่อเนื่อง มองกรณีการเผยแพร่ข่าวปลอมของวิกฤตสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสว่ามีการทำสงครามข่าวสารจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังอาจไม่ใช่แค่อิสราเอลและฮามาส แต่ยังมีสื่อ องค์กรภาคธุรกิจและการเงินระดับโลกมากมายจากชาติตะวันตกหรือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มทุนยิวที่มีอิทธิพลมากสนับสนุนหรือควบคุมอยู่
รศ.ดร.ปิติ ชี้ตัวอย่างกรณีสหรัฐฯ มีกองบัญชาการ เช่น Strategic Command C4ISR ทำปฏิบัติการจิตวิทยาและโฆษณาชวนเชื่อมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเครื่องมือสำคัญที่สุดคือปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารและควบคุมระบบ GIG (Global Information Grid) หรือการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระดับโลกเพื่อวิเคราะห์และส่งต่อให้บุคลากรฝ่ายความมั่นคงหรือหน่วยข่าวกรองใช้ในการตัดสินใจ
โดยข่าวต่างๆ ที่ปรากฏออกมานั้นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะสหรัฐฯ มีหน่วยงานที่ทำงานเรื่องพวกนี้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ และทำงานสอดส่องข่าวสารข้อมูลกันแบบระดับโลก
ขณะที่เขาตั้งข้อสังเกตว่าทิศทางนำเสนอข่าวของสื่อตะวันตกจำนวนมากที่เป็นไปในทางเดียวกัน โดยบางสำนักข่าวหากอยากเน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษก็จะมีการ Rerun นำข่าวนั้นมารายงานซ้ำทางโทรทัศน์และวิทยุในทุกๆ ชั่วโมง หรือต่อเนื่องหลายๆ วัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในบางพื้นที่ เช่นในสนามบิน ก็จะได้รับข้อมูลข่าวนั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้กลายเป็นได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว
ขณะที่ปฏิบัติการข่าวสารที่ถูกนำมาใช้ไม่ใช่เพียงแค่การรายงานข่าว แต่ยังแทรกซึมไปในการเผยแพร่วัฒนธรรม หรืออุตสาหกรรมบันเทิงอย่างภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและฮามาสในตอนนี้ รศ.ดร.ปิติ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการใช้ปฏิบัติการข่าวสารข้อมูลในการประณามฮามาสว่าเป็นฝ่ายก่อความรุนแรง แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังสงครามอิสราเอล-อาหรับ ปี 1967 หรือที่รู้จักในชื่อ ‘สงครามหกวัน’ กลับแทบไม่มีรายงานข่าวจากสื่อตะวันตกว่าอิสราเอลได้บุกเข้าไปในดินแดนของปาเลสไตน์ และกระทำสิ่งที่โหดร้ายต่อชาวปาเลสไตน์มากแค่ไหน
การรับสารต้องมีภูมิคุ้มกัน
สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสนั้นเป็นข้อพิพาทแย่งชิงดินแดน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดการสู้รบขึ้นในยุคโซเชียลมีเดีย
โดยข่าวสารที่แพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ซึ่ง รศ.ดร.ปิติ มองว่าสิ่งสำคัญคือประชาชนในฐานะผู้รับสารนั้นต้อง ‘ปกป้องตัวเอง’ และอาจจำเป็นต้องมีการติดตั้งองค์ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ‘ข่าวปลอม’ ให้แก่ผู้คนมากขึ้นด้วย
สำหรับในไทย รศ.ดร.ปิติ ให้ข้อแนะนำต่อประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปราะบาง ว่าต้องระวังและกลั่นกรองข้อมูลมากเช่นกัน
โดยความจริงในบางแง่มุม เช่นการกระทำโหดร้ายของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์นั้นอาจถูกขยายหรือทำให้เกินจริง ซึ่งสิ่งที่จำเป็นในการรับข้อมูลที่ถูกต้องคือการแยกแยะและรับข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย และมองในประเด็นต่างๆ โดยปราศจากอคติ
“ผมคิดว่าเวลามีประเด็นอะไรก็ตามเราควรแยกแยะก่อน เรื่องนี้จริงๆ มันเป็นกรณีพิพาทเรื่องเขตแดน แต่มันถูกยกระดับขึ้นมาโดยการเอาประเด็นด้านชาตินิยม ศาสนาและเชื้อชาติเข้าไป ทำให้กรณีพิพาทนั้นซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเพื่อปลดล็อกความซับซ้อนเหล่านี้จำเป็นที่ต้องให้ข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และมองเรื่องต่างๆ โดยปราศจากอคติ” รศ.ดร.ปิติ กล่าว
อ้างอิง:
- https://www.washingtonpost.com/technology/2023/10/14/propaganda-misinformation-israel-hamas-war-social-media/
- https://www.aljazeera.com/news/2023/10/14/analysis-propaganda-deception-fake-news-and-psychological-warfare
- https://apnews.com/article/israel-hamas-gaza-misinformation-fact-check-e58f9ab8696309305c3ea2bfb269258e
- https://www.voanews.com/a/in-indonesia-fake-news-about-israel-hamas-war-triggers-concern/7310668.html
- https://www.logicallyfacts.com/en/fact-check/false-old-video-of-beirut-port-explosion-shared-as-recent-israeli-bombing-in-gaza
- https://www.bbc.com/thai/articles/cjm4y39ke3xo?fbclid=IwAR3liDHkO3HS2B0N_PX4yKng5yKoxsnSN94fve438OWlES1UtFiHxG8_Hxo