×

อิสราเอลเริ่มรับสมัครแรงงานหลายประเทศแทนที่แรงงานไทย เผยกำลังเจรจา MOU กับกัมพูชา

29.03.2024
  • LOADING...

ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย บรรยายสรุปต่อผู้สื่อข่าวในวันนี้ (29 มีนาคม) โดยระบุถึงกรณีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม หลังจากที่แรงงานไทยกว่า 9,000 คน หรือราว 1 ใน 3 ของแรงงานไทยทั้งหมดที่ทำงานในอิสราเอล ตัดสินใจกลับไทย เนื่องจากเหตุการณ์สู้รบที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว และจนถึงวันนี้รัฐบาลไทยยังไม่อนุญาตให้กลุ่มแรงงานไทยกลับไปยังอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้อิสราเอลไม่ออกวีซ่าให้กับแรงงานไทยที่ต้องการกลับไปทำงานในอิสราเอล และจำเป็นต้องมองหาแรงงานจากประเทศอื่นมาเติมที่ว่างแรงงาน โดยเริ่มรับสมัครแรงงานจากศรีลังกา มาลาวี อินเดีย และกำลังเจรจา MOU กับทางกัมพูชา

 

“ตอนนี้เนื่องจากแรงงานประมาณ 1 ใน 3 กลับมาไทย เราจึงจำเป็นต้องเติมตำแหน่งที่ว่าง และตอนนี้เราเริ่มรับสมัครแรงงานจากประเทศอื่น ขณะนี้มีแรงงานที่มาจากศรีลังกา จากมาลาวี และตอนนี้เรากำลังเจรจากับกัมพูชาด้วย ฉันไม่ต้องการสถานการณ์แบบที่แรงงานไทยอยากกลับ แต่งานของเขาโดนแทนที่ไปแล้ว ดังนั้นฉันจึงหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไข”

 

ทั้งนี้ รัฐบาลอิสราเอลคาดหวังให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานไทยได้กลับไปทำงานในอิสราเอล โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดสงคราม ภาคการเกษตรของอิสราเอลพึ่งพิงแรงงานจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ซึ่งบรรดานายจ้างต่างชื่นชอบแรงงานจากประเทศไทย เนื่องจากนิสัยดี ขยัน อดทน และมีน้ำใจ รวมทั้งช่วยสอนงานให้กับแรงงานไทยรุ่นใหม่ๆ 

 

ขณะที่โควตารับแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเดิมราว 5,000 คน เป็นปีละกว่า 6,000 คน และกำลังพิจารณาเพิ่มอีกเป็นประมาณ 7,000 คน

 

จากการสำรวจโดยกระทรวงแรงงานพบว่า ในกลุ่มแรงงานไทยกว่า 9,000 คนที่กลับมาไทย มีจำนวนมากที่ต้องการกลับอิสราเอล

 

ปัจจุบันยังมีแรงงานไทยบางส่วนที่กลับมาไทยและสามารถกลับไปทำงานในอิสราเอลได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลไทย เนื่องจากใช้วีซ่าขอกลับเข้าประเทศ (Inter-VISA) ที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติสามารถออกจากอิสราเอลกลับไปเยี่ยมครอบครัวหรือท่องเที่ยวได้ชั่วคราว

 

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอิสราเอลระบุว่า เธอได้เขียนหนังสือถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้การรับรองว่า แรงงานไทยที่กลับไปทำงานในอิสราเอลจะไม่ถูกส่งไปยังพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่อันตราย เช่น ชายแดนทางตอนเหนือหรือตอนใต้ แม้จะไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้พบว่ายังมีแรงงานไทยบางส่วนที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนตอนเหนือ โดยก่อนหน้านี้ราว 2 สัปดาห์พบว่ามีแรงงานไทย 5 คนได้รับบาดเจ็บจากการยิงจรวดโจมตีข้ามชายแดนจากเลบานอน

 

โดยเอกอัครราชทูตซากิฟยืนยันว่า อิสราเอลไม่มีการบังคับแรงงานคนใดให้ไปทำงานอยู่ในสถานที่อันตราย และเผยว่าทางการอิสราเอลมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย โดยสร้างสถานที่หลบภัยไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนทางใต้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising