วานนี้ (21 มีนาคม) พล.ต. วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ชี้แจงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบ กอ.รมน. ในปีงบประมาณ 2567 ที่ระบุว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด
พล.ต. วินธัย ระบุว่า การใช้จ่ายงบประมาณของ กอ.รมน. เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง สามารถตรวจสอบได้เช่นเดียวกับหน่วยราชการอื่นๆ โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจเป็นประจำทุกปี เพราะ กอ.รมน. อยู่ในระบบงบประมาณปกติเหมือนกับทุกหน่วยราชการ
ส่วนความสงสัยเกี่ยวกับโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาของโครงการและแผนงานไม่ค่อยสอดคล้องกัน เช่น โครงการพัฒนาด้านการเมืองและการสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ และโครงการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาตินั้น พล.ต. วินธัย ย้ำว่า แผนงานโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนย่อยการรักษาความสงบภายในประเทศ
ซึ่งได้มีการประชุมและผ่านความเห็นชอบในระดับความมั่นคงแห่งชาติที่มีผู้แทนทุกกระทรวงเข้าร่วมประชุม และมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน สอดคล้องตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ในการอำนวยการ ประสานงาน และเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ สร้างความรักและความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง
เช่นเดียวกับการให้ประชาชนเพิ่มการมีส่วนร่วมในการเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็อยู่ภายใต้แผนย่อยการรักษาความสงบภายในประเทศ โดยเป็นหนึ่งในแผนงานย่อยของแผนแม่บท ประเด็นด้านความมั่นคงภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ที่อาจต้องอาศัยการเสริมสร้างความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ จนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นการลดภาระการพึ่งพารัฐในระดับหนึ่ง หากประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีความมั่นคง
สำหรับประเด็นค่าซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ทั้งที่ กอ.รมน. ไม่มียุทโธปกรณ์ เพราะเป็นหน่วยประสานงานและบูรณาการนั้น พล.ต. วินธัย กล่าวว่า การปฏิบัติงานในลักษณะประสานเป็นไปตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 7 แต่ในกรณีมีเหตุกระทบความมั่นคงที่มีแนวโน้มรุนแรง การปฏิบัติงานจะอาศัยมาตรา15 อย่างกรณี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งงบประมาณที่กล่าวถึงนี้เป็นการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เพื่อปกป้องและดูแลความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงตัวผู้ปฏิบัติงานด้วย
โดยจะมีทั้งยุทโธปกรณ์ประจำตัวและประจำหน่วย ซึ่งหลังจากการใช้งานต้องมีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ เพื่อให้พร้อมและสามารถใช้งานได้อยู่เสมอ โดย กอ.รมน. (ส่วนกลาง) จะทำหน้าที่อำนวยการและรายงานตามขั้นตอน รับผิดชอบการปฏิบัติในภาพรวม
ประเด็นที่มีการจ้างเหมาลำเครื่องบินจากภาคเอกชน 12 เดือนนั้น พล.ต. วินธัย ชี้แจงว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ถือเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ และเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงมีการจัดกำลังพลจากกองทัพภาคที่ 1 (ภาคกลาง), กองทัพภาคที่ 2 (ภาคอีสาน), กองทัพภาคที่ 3 (ภาคเหนือ) และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) รวมกว่า 6 พันนาย โดยจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคราวละ 45 วัน และเมื่อถึงคราวต้องปฏิบัติหน้าที่หรือผลัดพัก ก็จะมีการเดินทางเป็นกลุ่มก้อนเพื่อกลับภูมิลำเนา ซึ่งจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง
อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้า ทรุดโทรม และเกิดการเจ็บป่วยตามมา ประกอบกับการอำนวยความสะดวกให้กำลังพลสามารถกลับไปหาครอบครัวได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เป็นการช่วยสร้างขวัญและกำลังใจได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงเป็นการฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของกำลังพลให้กลับมาพร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างทันท่วงที โดย กอ.รมน. ได้มีการพิจารณาความคุ้มค่าจากการใช้งบประมาณส่วนนี้อย่างรอบคอบทุกปี
พล.ต. วินธัย ระบุทิ้งท้ายว่า หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อประสานมาได้ที่ทีมโฆษก กอ.รมน. พร้อมยินดีให้ข้อมูล