×

Isle of Dogs อุทา ‘หอน’ จากน้องหมา

20.07.2018
  • LOADING...

บอกได้เร็วๆ อย่างหนึ่งว่า สำหรับใครที่เลี้ยงหมา น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหักห้ามตัวเองไม่ให้ตกหลุมรักหนังแอนิเมชันของเวส แอนเดอร์สัน เรื่อง Isle of Dogs (2018) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็นวิบากกรรมของเหล่าเพื่อนรักสี่ขาในห้วงเวลาที่พวกมันถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของมวลมนุษยชาติอย่างน่าสมเพชเวทนา และก็ต้องบอกพ่วงไปอีกด้วยว่า บรรดา ‘โน่นนี่นั่น’ ที่ได้รับการร้อยเรียง จัดวางและบอกเล่าเอาไว้อย่างประณีต พิถีพิถัน อาทิ งานด้านภาพ การเคลื่อนไหวของตัวละคร การใช้เสียง บทสนทนา ดนตรีประกอบ ทัศนคติที่สอดแทรก และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วได้รับการถ่ายทอดด้วยความละเอียด ช่างสังเกต อ่อนไหวและอ่อนโยนอย่างที่เราจะคาดหวังได้จากใครสักคน (หรือหลายๆ คน) ที่มีความเป็น ‘มนุษย์หมา’ อยู่ในรหัสทางพันธุกรรม

 

นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงลายเซ็น หรือเครื่องหมายการค้าที่ทำให้ ‘โลกของเวส’ (หรือที่บางคนเรียกว่า Wes World) เป็นโลกจำเพาะที่นอกจากไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ยังมีเสน่ห์ดึงดูดและเย้ายวน (การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร การเล่นกับแนวระนาบของภาพ ตัวละครหันมาสื่อสารกับกล้อง หรือแม้กระทั่งร้องขอความเห็นใจของผู้ชม ภาพมุมสายตานก การเล่นกับสีสันแบบพาสเทล ตัวละครที่แปลกแยกและไม่เข้าพวก มุกตลกแบบขันขื่น ฯลฯ)

 

 

และในขณะที่เนื้อหาส่วนหลักพูดถึงการผจญภัยของบรรดาน้องหมาที่ต้องตกระกำลำบากในลักษณะต่างๆ นานา ทว่าอย่างที่คาดเดาได้ สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง ข้อน่าสังเกตก็คือ กรอบของการเป็นแอนิเมชันและความเป็นคอเมดี้อาจจะล่อลวงให้ผู้ชมหลงคิดไปว่า นี่เป็นหนังตลกขบขันที่พูดเรื่องเบาสมองและผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่หากตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ก็คงสรุปได้เหมือนๆ กันว่า ประเด็นของหนังทั้งเคร่งขรึมจริงจังและคอขาดบาดตาย

เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับนักดูหนังขาจร Isle of Dogs เป็นแอนิเมชันขนาดยาวเรื่องที่สองของเวส แอนเดอร์สัน ถัดจาก Fantastic Mr. Fox ในปี 2009 และในแง่ของสไตล์การนำเสนอก็นับว่าคล้ายคลึง อันได้แก่เทคนิคสตอปโมชันที่ดูแข็งๆ แบนๆ การเคลื่อนไหวกระโดกกระเดก รูปโฉมโนมพรรณของแต่ละตัวละครนอกจากดูไม่สะสวยหรือประดิดประดอยเหมือนแอนิเมชันของดิสนีย์ สารรูปอันสุดแสนมอมแมม ตลอดจนริ้วรอยและแผลเป็นของตัวละครหลายๆ ตัวบอกให้รับรู้ถึงโลกของความเป็นจริงอันโหดร้ายที่พวกมันต้องเผชิญ ซึ่งไม่มากไม่น้อย ความไม่น่ารื่นรมย์ ไม่ชวนให้เบิกบานในทางกายภาพ (บางทีอาจจะเรียกได้ว่าความขรุขระหยาบกระด้าง) ก็สอดรับกับแนวเรื่องที่นอกจากไม่ใช่เรื่องพาฝันที่พาผู้ชมเตลิดไปในดินแดนของเจ้าหญิงเจ้าชาย แต่นี่เป็นโลกที่ ‘หมากินหมา’ ตามตัวอักษรจริงๆ

 

 

และการพยายามเล่นท่ายากของคนทำหนังอีกอย่าง ซึ่งพูดไม่ได้เต็มปากนักว่า คนดูที่โคจรอยู่นอกระบบสุริยะจักรวาลของเวส แอนเดอร์สัน จะยอมรับได้หรือไม่ เกี่ยวข้องกับความที่หนังใช้ฉากหลังเป็นประเทศญี่ปุ่น และในขณะที่ตัวละครหลักซึ่งได้แก่บรรดาหมาๆ ในเรื่องพูดภาษาอังกฤษ ตัวละครที่เป็นชาวเมืองสมมติที่ชื่อเมกาซากิล้วนแล้วพูดญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาตัวหนังสือทั้งที่เป็นคำบรรยายใต้ภาพหรือข้อความอธิบายเรื่องก็เป็นภาษาญี่ปุ่น ประเด็นอยู่ตรงที่คนทำหนังเจตนาที่จะไม่แปลส่วนที่เป็นภาษาญี่ปุ่น หรือบทสนทนาที่คนญี่ปุ่นพูดคุยกันเอง ยกเว้นส่วนที่จำเป็นต่อการเดินเรื่องจริงๆ ทั้งนี้โดยผ่านตัวละครที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษ (ให้เสียงพากย์โดยฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) อันส่งผลในหลายๆ ช่วง ผู้ชมที่อ่านและฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ออกอยู่ในภาวะ ‘lost in translation’ ไปตามๆ กัน

 

ข้อมูลจากผู้รู้ภาษาญี่ปุ่นและได้ดูหนังเรื่องนี้ระบุว่า ส่วนที่เป็นภาษาท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงแค่เสียงประกอบเหมือนในหนังฮอลลีวูดนับไม่ถ้วนที่ผู้สร้างมักจะมองเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและ ‘อื่นๆ’ ล้วนแล้วเป็นความผิดแผกแตกต่างและปลีกย่อย ว่ากันว่า พาร์ตของญี่ปุ่นก็สอดแทรกไว้ด้วยเนื้อหาและอารมณ์ขันในแบบที่ชาวต่างชาติไม่อาจก้าวล่วง โดยปริยาย Isle of Dogs เป็นหนังที่ไม่ได้ทำให้ทุกสิ่งสามารถเข้าใจได้ด้วย ‘ภาษาอังกฤษ’ (ซึ่งแน่นอนว่าในบ้านเรา ส่วนนี้ก็จะถูกแปลเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง) และอาจมองได้ว่า การที่คนทำหนังเลือกวิธีการเช่นนี้ก็เป็นเสมือนการแสดงออกถึงการยอมรับหรือแม้กระทั่งเคารพในความแตกต่างและหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรม และการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องเข้าใจได้ด้วยการแปลภาษาก็เป็นวิธีคิดที่มักง่ายหรือสำเร็จรูปเกินไป เพราะพวกเราต่างรู้ดีว่า แต่ละภาษาและวัฒนธรรมก็มีลักษณะเฉพาะที่ถ่ายทอดไปสู่อีกภาษาและวัฒนธรรมโดยไม่ให้ตกหล่นหรือสูญเสียอรรถรสและความหมายไม่ได้

 

 

กระนั้นก็ตาม อุปสรรคทางด้านภาษาก็ไม่ได้มีผลต่อการดำเนินเนื้อหาแต่อย่างใด และหนังก็มีความเป็นสากลทั้งในแง่ของแนวเรื่อง (การผจญภัย การไล่ล่า) และเนื้อเรื่องซึ่งดังที่กล่าว อาศัยภูมิหลังเป็นเมืองสมมติที่ย้อนกลับไปสิบศตวรรษที่แล้ว เจ้าเมืองเป็นคนรักแมวและเกลียดหมา และมรดกแห่งความรังเกียจเดียดฉันท์นี้ก็ตกทอดไปจนถึงผู้สืบทอดอำนาจในโลกอนาคตซึ่งอยู่ในวงศ์วานว่านเครือเดียวกัน อันได้แก่นายกเทศมนตรีโคบายาชิ (ให้เสียงพากย์โดยคูนิชิ โนมูระ) ผู้ซึ่งใช้ข้ออ้างเรื่องการแพร่ระบาดของโรคร้ายเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายกวาดต้อนหมาทั้งหมด ทั้งจรจัดและมีเจ้าของไปใช้ชีวิตอย่างยากแค้น ณ เกาะที่ชาวเมืองใช้ทิ้งขยะ ซึ่งไม่มากไม่น้อย นั่นเป็นที่มาของชื่อหนังนั่นเอง

 

เนื้อหาถัดจากนี้ ติดตามเรื่องราวของหมาห้าตัวภายใต้การนำ (แบบไม่ค่อยจะได้รับฉันทามติเท่าใดนัก) ของเจ้าชีฟ (ไบรอัน แครนสตัน) หมาจรจัดที่ทั้งก้าวร้าว ดุดันและไม่ยอมศิโรราบให้กับใครง่ายๆ ภารกิจของพวกมันได้แก่การช่วยเหลืออาตาริ (โคยุ แรนคิน) เด็กน้อยที่เป็นหลานของนายกเทศมนตรี ตามหาเจ้าสป็อต หมาบอดี้การ์ดประจำตัวที่ตกเป็นเหยื่อรายแรกสุดตามนโยบายของพ่อเมืองโคบายาชิ และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมสรุปได้อย่างแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ความวายป่วงที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์มาจากการวางแผนและสมรู้ร่วมคิดอย่างเป็นระบบของโคบายาชิกับพวกในการโหมกระพือทั้งอคติ ความเกลียดและการแบ่งแยกให้กับชาวเมือง

 

ฉากหนึ่งของหนัง เราถึงกับได้เห็นตัวนายกเทศมนตรีกล่าวชมเชยลูกน้องหน่วยต่างๆ ที่ช่วยทำให้ภารกิจเขยิบเข้าไปใกล้เป้าหมาย (ไล่เรียงตั้งแต่ฝ่ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ไปจนถึงฝ่ายกวาดล้างพวกหัวดื้อหัวแข็ง) ทีละน้อย มันนำพาให้ผู้ชมสรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากขบวนการอันชั่วร้ายของโคบายาชิละม้ายคล้ายคลึงกับ ‘อุตสาหกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของฮิตเลอร์ หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดจริงๆ เป้าหมายหรือการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของหมอนี่ก็ถอดรูปแบบมาจาก Final Solution ของฮิตเลอร์ที่ใช้จัดการกับชาวยิว โดยอัตโนมัติ หนังเรื่อง Isle of Dogs ก็เป็นอย่างที่กล่าวข้างต้น ไม่ได้เป็นแค่เรื่องสนุก ตลกและขำๆ อีกต่อไป

ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่หนังสอดแทรกเอาไว้และชวนให้ครุ่นคิดจริงๆ ก็คือ อคติซึ่งนำไปสู่ความหวาดกลัวและเกลียดชังถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ว่าไปแล้ว มีเหตุการณ์เล็กๆ เกี่ยวกับตัวละครอย่างน้อยสองตัวที่ต้องทุกข์ทรมานกับสภาวะเช่นนี้ หนึ่งได้แก่ นัทเม็ก (สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน) หมานางโชว์แสนสวยผู้ซึ่งเผชิญกับการถูกลือว่าเธอมีอะไรกับหมาอีกตัวหนึ่งที่ชื่อฟิลิกซ์ ฉากที่เธอบอกกับชีฟว่านั่นไม่ใช่เรื่องจริง เจือปนความรู้สึกขื่นขมจากการถูกใครต่อใครพูดถึงในแง่ลบทั้งๆ ที่ไม่มีมูล อีกหนึ่งได้แก่เจ้ากอนโด (ฮาร์วีย์ ไคเทล) ผู้ซึ่งเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าเป็นหมาที่สวาปามพวกเดียวกันอย่างโหดร้ายทารุณ ทั้งๆ ที่เมื่อทุกอย่างได้รับการเปิดเผย มันกลับกลายเป็นคนละเรื่องกัน กระนั้นก็ตาม เจ้ากอนโดก็ถูกสังคมพิพากษาไปเรียบร้อยแล้วในความผิดบาปที่นอกจากไม่ได้ก่อขึ้น ยังเป็นความเข้าใจผิดที่บ่มเพาะเป็นอคติโดยแท้

 

หรือกล่าวอย่างรวบยอดจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรหมาในหนังเรื่องนี้ก็อธิบายด้วยแนวคิดคล้ายๆ กัน อคติและความเกลียดชังนำไปสู่การโหมกระพือเรื่องโกหกหลอกลวงจนกระท่ังผู้คนหลงเชื่อไปตามๆ กัน กรณีเลวร้ายที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ก็ถูกแจกแจงเอาไว้ในหนังเรื่องนี้แล้ว ผู้มีอำนาจถือวิสาสะใช้ฉันทามติที่ได้รับมาโดยไม่ชอบ ดำเนินการตามอำเภอใจ จนถึงตรงนี้ หากคนดูหนังในบ้านเราจะแอบคิดว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องสมมติก็ช่วยไม่ได้

แต่ก็นั่นแหละ ความคล่องแคล่วและลื่นไหลของเวส แอนเดอร์สัน ในการเล่าเรื่องซีเรียสและถมึงทึงสลับไปกับเรื่องสนุกสนานครื้นเครงไม่เคยเป็นสองรองใคร ข้อสำคัญ ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ร่วมกันอย่างสอดประสานกลมกลืน และโดยที่คนทำหนังไม่ต้องผ่อนปรนหรือประนีประนอม (มีหลายเหตุการณ์เหลือเกินที่เชื่อว่าผู้ชมคงไม่นึกว่าจะได้พบในหนังแอนิเมชันเรื่องนี้) ความน่าสนุกอีกอย่างที่ควรระบุได้แก่บรรดานักแสดงชื่อดังที่พากันมาให้เสียงพากย์ ซึ่งช่วยทำให้หนังยิ่งน่าติดตาม คนหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ ก็คือเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ในบทเร็กซ์ หมาบ้าน ‘ลูสเซอร์’ ที่พยายามเทกโอเวอร์ความเป็นจ่าฝูงอย่างไม่รู้จักเจียมตน

สำหรับนักดูหนังขาจร หนังเรื่อง Isle of Dogs เป็นแอนิเมชันทางเลือกที่น่าจะช่วยทำให้การดูหนังกลายเป็นทั้งความท้าทายและการผจญภัยที่คงจะไม่ค่อยได้พบเจอบ่อยนัก ส่วนแฟนขาประจำของเวส แอนเดอร์สัน นี่เป็นอีกวาระของการมาร่วมรื่นเริงสังสรรค์ในงานปาร์ตี้คืนสู่เหย้าอย่างพร้อมเพรียง

 

 

FYI

Isle Of Dogs (2018)

กำกับ-เวส แอนเดอร์สัน​ ให้เสียงพากย์-ไบรอัน แครนสตัน, เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน, บิล เมอร์เรย์, คูนิชิ โนมูระ, เคน วาตานาเบ้, ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์, เกรตา เกอร์วิก, ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising