เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถ่ายทอดสดบรรยายวิชาการออนไลน์ (Memory, Mobility & Multiplicity: The 3M Series EP.1) หัวข้อ รถแห่: มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น โดย จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถ่ายทอดสดทาง Facebook และ YouTube: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC
รถแห่ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง
จารุวรรณกล่าวว่า ส่วนตัวเติบโตในพื้นที่อีสานแต่ก็ไม่ได้ผูกพันใกล้ชิดกับรากเหง้าตัวเองมากนัก จนกระทั่งมาเรียนมานุษยวิทยา เห็นความน่าสนใจหลากหลายมิติ ประกอบกับมีความสนใจดนตรีและบทเพลงในฐานะที่เป็นประวัติศาสตร์สังคมที่สามารถบันทึกเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยในมิติที่สนใจ จึงเริ่มทำความเข้าใจความเป็นอีสานไทยบ้านคัลเจอร์มากยิ่งขึ้น ประจวบเหมาะกับ 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสรถแห่ที่ค่อนข้างแพร่หลายมากขึ้น จากที่มีมานานแล้ว แต่เห็นชัดมากขึ้น
มีคำถามว่าอะไรเป็นเงื่อนไขปัจจัยให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เติบโตในสังคม ในบริบทนี้เกิดอะไรขึ้น จึงได้ไปทำวิจัย โดยมีอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำหลากมิติพอสมควร
พอสนใจในแว่นมานุษยวิทยาก็เข้าไปอยู่ในแวดล้อมบรรยากาศของการแสดงของรถแห่ ทำให้ได้เห็นว่าความเป็นพื้นบ้านของรถแห่ ไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงที่ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังแฝงไปด้วยมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่แทรกซ้อนอยู่ในแทบจะทุกอณูของรถแห่ที่เราเห็นตรงนี้ ทั้งในทางประวัติศาสตร์เอง เราก็เห็นว่ามันคือการบันทึกเรื่องราวมหรสพแบบชาวบ้านทั่วไป เห็นพลวัต ความเปลี่ยนแปลง เงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มองท้องถิ่นตัวเอง
รถแห่ที่ศึกษาคือรถแห่อีสาน เป็นมหรสพสัญจรที่มีความเป็นลูกผสม พัฒนาต่อยอดจากวงดนตรีพื้นบ้านที่มีก่อนหน้านี้ในอีสาน อย่างเช่นกลองยาวที่มีการนำมาวางบนรถเครื่องเสียง กับหมอลำซิ่งซึ่งมีมาหลายทศวรรษแล้ว
สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่เดินคู่กันไปในเส้นทางวัฒนธรรมอีสานแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น รถแห่ใช้รากวัฒนธรรมที่มีในอีสาน แต่ก็ผนวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เติบโตมาพร้อมคนเจเนอเรชันปัจจุบัน คนยุคดิจิทัลเข้าใจเทคโนโลยีและพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตัวเอง ประกอบสร้างเป็นรถแห่ เป็นภาพแทนมหรสพอีสานที่ปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก จนสามารถช่วงชิงแทบทุกพื้นที่ในอีสาน ทั้งงานประเพณี พิธีกรรม หรืองานกินเลี้ยงรื่นเริง
รถแห่ 1 คันไม่ได้มีสมาชิกมาก มีประมาณ 8-12 คน ตำแหน่งที่สำคัญมากคือผู้ควบคุมเสียงหรือมือมิกซ์ที่เป็นตัวหลัก ทำให้เสียงรถแห่มีความสำคัญมาก มีอัตลักษณ์ของตัวเองที่เติบโตออกไปนอกอีสาน ในสังคมดิจิทัลมีการนำเพลงคนอื่นมาร้องในเวอร์ชันตัวเองที่เรียกกันว่าเวอร์ชันรถแห่ บางคลิปมีผู้ชมถึงล้านครั้ง
รถแห่ทำให้เห็นวัฒนธรรมชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป ทำให้เห็นมิติทางสังคมอื่นๆ เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่มากกว่าการเป็นสื่อบันเทิงที่มีแต่ความสนุกสนานอย่างเดียว ซึ่งตัวเองก็เคยเข้าใจแบบนั้นในตอนแรก
แต่รถแห่คือการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานชั่วคราว เพื่อตอบสนองความต้องการในเชิงเศรษฐกิจ ในความเป็นอีสานใหม่ในมิติทางดนตรี วัฒนธรรมที่ต่อยอดจากฐานรากวัฒนธรรมเดิมอย่างลงตัวที่แซ่บนัว ถูกจริตคนอีสานในฐานะพลเมืองของโลกใบนี้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคดิจิทัล
จารุวรรณกล่าวว่า ได้ขออนุญาตขึ้นไปดูบนรถแห่ ซึ่งเขาอนุญาตด้วยความเป็นมิตรให้ขึ้นไปได้และให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องนี้ เมื่อขึ้นไปพบว่าบนชั้น 2 ของรถแห่เป็นพื้นที่ทำการแสดง ส่วนชั้นล่างเป็นที่บรรจุข้าวของเครื่องใช้ จัดเก็บอุปกรณ์กำเนิดเสียง พร้อมแสดงได้ทุกที่ มีความคล่องตัว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รถแห่เป็นที่นิยม โดยเขาใช้เวลาเซ็ตอุปกรณ์สำหรับการแสดงไม่นาน
แต่ในขณะเดียวกัน การมีเทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่ได้ละเลยความเชื่อ เพราะยังเห็นการไหว้ครู ไหว้รถ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตอนไปคุยเขาก็บอกว่าช่วงเทคโนโลยีเข้ามาใหม่ๆ เคยไปเล่นงานหนึ่งแล้วอยู่ดีๆ เครื่องอัปเดตซอฟต์แวร์เอง ไม่สามารถคอนโทรลอะไรหลายๆ อย่างได้ ดังนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังจำเป็นอยู่ในมิตินี้ แม้จะมีความสมัยใหม่แค่ไหนก็ตาม ต้องอธิษฐานให้ราบรื่น อย่างน้อยอย่าอัปเดตซอฟต์แวร์อัตโนมัติ ทำให้ได้เห็นความเก่าความใหม่ที่ควบคู่ไปบนรถแห่ด้วยเช่นกัน
รถแห่อีสานเคลื่อนสู่เมืองใหญ่
ผู้ประกอบการรถแห่จะบอกว่าหัวใจคือเครื่องเสียง จึงลงทุนเยอะ แต่ช่วงโควิดพบว่าเจ้าของกิจการขายรถออกไปเยอะ เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนและภาระหนี้สินได้ อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่เขาทำก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ สะท้อนว่าแบรนด์ก็เป็นหัวใจของรถแห่ เครื่องเสียงสำคัญไม่น้อยกว่าตัวนักร้อง นักดนตรี
ในช่วงฤดูฝนไม่มีงานในท้องถิ่น เขาก็ใช้วิธีออกนอกพื้นที่ เคลื่อนย้ายตัวเองเข้ามาสู่เมืองใหญ่ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เขตปริมณฑลกับในภาคตะวันออกก็ยังพบว่ามีการแสดงรถแห่อยู่แทบจะทุกสัปดาห์ หรือทุกวันในบางพื้นที่
บรรยากาศนอกอีสานก็จะแตกต่างจากบรรยากาศการแสดงในพิธีกรรมในอีสาน งานข้างนอกเน้นโชว์ ซึ่งมีความหลากหลายในการแสดง บางทีเล่นกับหนังกลางแปลง บางทีเล่นกับวงดนตรี มีการสร้างให้อลังการยิ่งขึ้น มีการเก็บค่าเข้าชม เพื่อตอบสนองลูกค้าใหม่ๆ รถแห่เองก็ปรับปรุงการแสดงให้คุ้มค่า
ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายแรงงานอีสาน
จารุวรรณกล่าวว่า อีสานคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มองจากสายตาส่วนกลางคือกรุงเทพฯ อีสานเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่กระจายตัวสู่ระบบงานตามพื้นที่ต่างๆ มากที่สุด
ส่วนการเติบโตของแรงงานอีสาน ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายที่เห็นมากๆ คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่วงทศวรรษ 2490 จนถึงต้น 2500 ที่มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มแรงงานหนุ่มสาวมาทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ชั่วคราว ต่อมาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น หลายคนพัฒนาทักษะเฉพาะด้านมากขึ้น ดังนั้นแรงงานอีสานอยู่ในทั้งกรุงเทพฯ และภาคตะวันออก เพราะยุคก่อนไม่ได้มีงานทำหลากหลายมากนัก
เพลงในสมัยนั้นจึงผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองปลอบประโลมกลุ่มเป้าหมายแบบนี้ นักร้องอีสานมีเพลงที่เกี่ยวกับความลำบากตรากตรำค่อนข้างมาก
เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการผลิตเพลงในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นพบว่ามีค่ายเพลงท้องถิ่นที่เติบโตจากการนำเทคโนโลยีมาผลิตเพลงตามต้นทุนที่เขามี มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ฉกฉวยมวลชนจากค่ายใหญ่ๆ มาได้ด้วยวิธีการที่ประกาศลง Facebook ของตัวเองว่าไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์จากนักร้องกลางคืนและนักร้องรถแห่ ยกเว้นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ
นี่คือการประสบความสำเร็จที่เป็นปรากฏการณ์ เพลงจะดังต้องมีคนฟัง เกิดอีสานป๊อปในเจเนอเรชันนี้ แต่เส้นทางก็ไม่ได้สวยงาม เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานใดตั้งแต่แรก เขาต้องเติบโตเอง
รถแห่กับการเมือง
จารุวรรณกล่าวว่า รถแห่ได้รับความนิยมสูงสุดในทศวรรษ 2560 มีบทบาทประกอบพิธีกรรม มหรสพ อีกบทบาทคือเป็นปากเป็นเสียง เห็นบทบาทมิติทางการเมือง ทั้งการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงโควิด และบทบาทการต่อต้านรัฐช่วงคาร์ม็อบ ซึ่งดนตรีกับการต่อต้านรัฐ ในภาคอีสานเราเห็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีผีบุญใช้แคนเต้าเดียว เป็นกระบอกเสียงสื่อสารกับมวลชนของตัวเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นมีปรากฏการณ์ดึงดูดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น
คาราวานก้าวไกลก็ใช้รถแห่จากข้างนอกเข้า กทม. เพื่อเรียกเสียงมวลชนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ดังนั้นรถแห่มีบทบาทมากกว่าการเป็นมหรสพสนุกสนาน แต่มีบรรยากาศการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่มีความสำคัญกับคนอีสานมาทุกยุคสมัย และแทรกซ้อนด้วยมิติทางการเมืองที่กิจกรรมทางดนตรีเข้าไปร่วมด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพลงของอีสานก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องยึดโยงความลำบากยากเข็ญมากนัก กลุ่มอีสานพลัดถิ่นก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่สนับสนุนความเติบโตของป๊อปคัลเจอร์นี้ด้วยเช่นกัน
รถแห่ ตลาดล่าง-ตลาดโลก
จารุวรรณกล่าวว่า ความเป็นอีสานใหม่มีมิติทางดนตรี คนดนตรีที่พัฒนาตัวเองขึ้นมา นำเพลงในท้องถิ่นมานำเสนอในรูปแบบตัวเองและมิติทางสังคม รถแห่เป็นภาพคนอีสานที่เติบโตทางเศรษฐกิจจากการเติบโตข้ามเส้นพรมแดนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม อีสานใหม่ไม่จำเป็นต้องนำเสนอความลำบากยากเข็ญ ความจน ความตรากตรำอีกต่อไป รถแห่รับใช้แรงงานอีสานพลัดถิ่นอย่างสมน้ำสมเนื้อ ค่าตั๋วร้อยกว่าบาทเป็นค่าแรงที่เขายอมจ่าย
ส่วนคำถามถึงกลุ่มคนทำหนังในอีสาน จารุวรรณกล่าวว่า สาเหตุที่เขาเติบโตคือการไม่ติดกรอบกับอะไรที่เคร่งตึงมากไป เขาเรียนรู้เอง ล้มเอง เจ็บเอง ไม่ได้มีทุนสนับสนุนมากนักในช่วงแรก การปรับตัวทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เติบโตได้เร็ว วัฒนธรรมไทยบ้านจึงทะลุกรอบที่เคยเห็นว่าความสำเร็จต้องอยู่ในค่ายใหญ่ แต่อยู่ที่การปรับตัวเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่มี ไม่ใช่ความบังเอิญ เรื่องหนัง เพลง มหรสพอีสานเติบโตในทิศทางใกล้เคียงกันจนดังขึ้นมา
จารุวรรณกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ดนตรีอีสานเติบโตในสังคมปัจจุบันว่า การปรับตัวโดยไม่ได้รับภายนอกทั้งหมด แต่รับเท่าที่จะใช้ให้เข้ากับตัวเอง เช่น ช่วงอเมริกันเข้ามา ดนตรีอีสานก็มีความเปลี่ยนแปลงมากๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีหมอลำใส่สูทผูกไทอยู่ในยุคหนึ่ง ซึ่งเป็นพลวัต มีความเปลี่ยนแปลงพร้อมสังคม ทำให้ดนตรีอีสานเป็นที่ต้องการ
สำหรับคำถามว่าทัศนคติที่มองรถแห่โดยผูกโยงว่าสำหรับกลุ่ม ‘ตลาดล่าง’ จารุวรรณกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ตลาดล่างคือตลาดโลก ความเป็นตลาดล่างก็คือวัฒนธรรมของคนทั่วไป เป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน ซึ่งคำนี้มาจากการมองวัฒนธรรมไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ความเป็นตลาดล่างนี่แหละคือความเป็นป๊อป คือความเป็นมวลชน คือสิ่งที่รถแห่ต้องการอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ใช่ทัศนคติทางลบ เพราะกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนทั่วไป เป็นวัฒนธรรมดนตรีที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกกลุ่ม ทุกคน นี่คือความเป็นตลาดล่างที่ไม่ได้สูงเกินเอื้อม
สำหรับคำถามว่าทำไมดนตรีอีสานจึงมีเนื้อหาสองแง่สองง่าม จารุวรรณกล่าวว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ และไม่ใช่เฉพาะในสังคมอีสาน เรื่องเพศกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก็มีมานาน มีศิลปะเชิงสังวาสในวัด ไม่ได้มีเฉพาะในอีสาน เดิมมหรสพก็อยู่ที่วัด มหรสพมีการแสดงออกถึงสิ่งต่างๆ รวมถึงเรื่องเพศ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะไม่ใช่เรื่องหยาบคาย อาจจะเพิ่งเปลี่ยนแปลงช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำ พ.ร.บ.วัฒนธรรม ที่ต้องมีความสุภาพเรียบร้อย จากในอดีตอาจเป็นเรื่องที่สื่อสารแบบนี้ในที่ทางของมัน เช่น ท่าเต้น การแสดงในมหรสพที่ดูไม่สบายตา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำในชีวิตประจำวันแบบนั้นทุกวัน แต่เป็นการแสดงที่มีที่มีทางที่จะแสดง