กระเป๋า Hermès, Louis Vuitton, Chanel ถือเป็นของสะสมเพื่อการลงทุนยอดฮิตในตลาดสินค้าหรูหรา และเคยทำราคาได้ร้อนแรงมากๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ภาวะเงินเฟ้อเข้ามาแทนที่ แล้วการลงทุนในของสะสมประเภทนี้ยังคงมูลค่าดีอยู่หรือเปล่า?
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ย 11 ครั้ง เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 22 ปี ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้นและการจับจ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงแข็งแกร่ง โดยข้อมูลจาก J.P. Morgan ชี้ว่า ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 แม้ว่าราคาจะสูงขึ้นอย่างมากก็ตาม โดยในปี 2020 และต้นปี 2021 แบรนด์หรูขึ้นราคาสินค้าเกือบ 17% ทั้งจากปัญหาด้านซัพพลายเชนที่หยุดลงและเพื่อชดเชยรายได้จากยอดขายที่ลดลงในช่วงโควิด-19 ผนวกกับแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้นเมื่อผู้คนไม่ได้ออกไปจับจ่ายนอกบ้าน จึงหันมาซื้อสินค้าแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนำไปขายต่อ
จากผลการศึกษาของ KPMG International ในปี 2022 การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญเมื่อเทียบกับราคาที่มักจะเพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาไม่ได้ให้ประโยชน์แต่กับเฉพาะแบรนด์หรู แต่ผู้ที่ลงทุนในปีก่อนๆ ก็ทำกำไรได้เช่นกัน ตามรายงานจาก The RealReal ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์สำหรับสินค้าหรูหรา ราคาของกระเป๋าแบรนด์เนมในตลาดขายต่อเพิ่มขึ้น 26% ในปีนี้ โดย Hermès, Louis Vuitton และ Chanel ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 55% จากราคาขายปลีกเลยทีเดียว และหากย้อนไปไกลกว่านั้น Baghunter เคยวิเคราะห์ไว้ว่า กระเป๋า Hermès Birkin มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 500% ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา และถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยกว่าตลาดหุ้นด้วยซ้ำ ขณะที่กระเป๋า Chanel Classic ใบใหญ่ ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในรอบ 7 ปี จาก 4,800 ดอลลาร์ในปี 2016 เป็นกว่า 10,000 ดอลลาร์ในปีนี้
โดยทั่วไปแล้วตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าตลาดอื่นๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากมีความต้องการสูง และโดยพื้นฐานแล้วแบรนด์หรูจะมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างราคาและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผู้ที่ขับเคลื่อนตลาดสินค้าหรูในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือเหล่า Gen Z ที่พบช่องทางทำกำไรจากเงินเฟ้อ โดยกลุ่มผู้ที่มีอายุ 25 ปี และต่ำกว่า มองว่าการช้อปปิ้งสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นเหมือนกีฬาที่ต้องแข่งขันเพื่อจะได้สิ่งที่ดีที่สุด และขายต่อในราคาที่สูงกว่าตามรายงานของ Bloomberg นอกจากนี้ The RealReal ยังระบุว่า ตลาดรองสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยมีการเติบโตอย่างมากในปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z และ Millennials อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระเป๋าหรูส่วนใหญ่จะรักษามูลค่าได้ดีในภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ใช่ว่ากระเป๋าแบรนด์เนมทุกรุ่นจะสามารถทำกำไรได้ ดังนั้นการเลือกซื้อชิ้นคลาสสิกมักจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า นอกจากนี้ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น การประเมินสถานะการเงินของนักลงทุนเพื่อดูว่าอะไรเหมาะ และคงไม่ใช่ไอเดียที่ดีหากเลือกซื้อด้วยเงินผ่อนในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงอย่างในปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยต่างๆ เช่น สีและวัสดุ ซึ่งมักจะทำให้กระเป๋านั้นๆ อยู่เหนือกาลเวลาแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ และต้องรักษาให้อยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าวางแผนจะขายต่อ
อีกอย่างที่ต้องนึกถึงไว้เสมอคือกระเป๋าหรูก็เหมือนของสะสมอย่างอื่นๆ คือขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ง่ายๆ ดังนั้นหากขายของที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ก็อาจจะได้กำไร ในขณะเดียวกัน ถ้าต้องรีบขายเพราะต้องการเงินสด การลงทุนในกระเป๋าหรูก็อาจจะทำให้ขาดทุนได้เหมือนกัน
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/magazines/style/luxury/luxury-news/article/3232149/should-i-invest-luxury-fashion-amid-inflation-interest-rates-are-highest-theyve-been-22-years?fbclid=IwAR1rHqBvzYHn8Pd8piHiHXZJTmUtkdrFUBLgP-UbBewTn6pJNURbHpaPSgM
- https://finance.yahoo.com/news/luxury-goods-wise-investment-165919206.html