×

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือโควิด-19 แจกเงิน-เพิ่มนักลงทุน-ช่วย SMEs รัฐบาลมาถูกทางไหม และควรไปต่ออย่างไร

06.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • วัตถุประสงค์ในการแจกเงินคือการเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ทำให้ห้างร้าน กิจการ ธุรกิจต่างๆ มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น ถามว่าเยอะหรือไม่ คำตอบคือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ระดับ 16.75 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าหากแจกเงินคนละ 1,000 บาท เท่ากับเราใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.085% ของ GDP เท่านั้น
  • ปัจจุบันนี้ยังมีมนุษย์เงินเดือนและลูกจ้างรายวันที่กำลังพบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง หลายๆ คนถูกบริษัทขอร้องให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง (Leave without pay) ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังดิ้นรนหมุนเงินเพื่อจ่ายหนี้ประคับประคองไม่ให้ธุรกิจของตนเองล่มสลายในภาวะวิกฤต คำถามคือเราควรช่วยเหลือคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ‘สมควร’ 
  • จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ใส่ลงไปนี้ถูกนำไปใช้หมุนเวียนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหนด้วย ถ้ายังไม่ถึงจุดเกิดกับดักที่ใส่เงินเข้าไปแล้ว เงินก็ยังไม่หมุนไป นั่นหมายความว่า Fiscal Multiplier Effect ยังทำงาน เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้มากกว่า 0.89% หรือขยายตัวได้มากกว่าเงินที่ใส่เข้าไป ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ที่เน้นการใช้นโยบายการคลัง (Fiscal Policy) 3 มาตรการเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลครั้งนี้ ประกอบไปด้วย

 

กระตุ้นการใช้จ่าย

มาตรการแจกเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ให้กับ 4 กลุ่มคือ ผู้มีรายได้น้อย, มนุษย์เงินเดือน, ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร ซึ่งต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะแจกเท่าไร และจะแจกครั้งเดียวจบหรือทยอยเป็นรายเดือน 

 

ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ทำให้ห้างร้าน กิจการ ธุรกิจต่างๆ มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น โดยเชื่อว่ากระทรวงการคลังน่าจะแจกเงินให้กับผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (หรือที่นิยมเรียกกันว่าบัตรสวัสดิการคนจน) จำนวนประมาณ 14.2 ล้านคน 

 

ดังนั้นถ้าแจกเงินคนละ 1,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลก็จะต้องใช้งบประมาณราว 1.42 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ถ้าแจกคนละ 2,000 บาทต่อเดือน นั่นเท่ากับรัฐต้องใช้เงินราว 2.84 หมื่นล้านบาทต่อเดือน 

 

ถามว่าเยอะหรือไม่ คำตอบคือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ระดับ 16.75 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่าหากแจกเงินคนละ 1,000 บาท เท่ากับเราใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.085% ของ GDP และหากแจกเงินคนละ 2,000 บาท นั่นเท่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.17% ของ GDP เท่านั้น

 

เพิ่มจำนวนนักลงทุน

มาตรการช่วยตลาดหลักทรัพย์ โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), กระทรวงการคลัง, กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หารือกันเพื่อปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund – SSF) ให้มีเกณฑ์เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund – LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ ลดการผันผวนของดัชนี 

 

โดยปัจจุบันความแตกต่างหลักๆ ระหว่าง SSF และ LTF คือ LTF ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ SSF ลดหย่อนได้ 30% ของรายได้ แต่เพดานของ SSF ต่ำกว่าอยู่ที่เพียง 2 แสนบาท ในขณะที่ LTF อยู่ที่ 5 แสนบาท LTF มีสภาพคล่องสูงกว่า คือที่ 7 ปีปฏิทิน (5 ปีในทางปฏิบัติ) แต่ SSF ต้องลงทุนนาน 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ซึ่งนานกว่า LTF เดิมเกือบๆ สองเท่า ซึ่ง SSF ก็มีข้อดีคือลงทุนสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ในขณะที่ LTF ลงทุนได้โดยต้องมีหุ้นเกินกว่า 65% ดังนั้นหากนำเอาเพดานที่สูงและระยะเวลาที่สั้นของ LTF มารวมกับข้อดีที่หักลดหย่อนได้สูงและประเภทการลงทุนที่หลากหลายของ SSF ก็น่าจะเป็นข้อดีต่อการเพิ่มโอกาสการลงทุนของประชาชน และมีเครื่องมือในการกระตุ้นและลดความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์

 

ประคับประคองผู้ประกอบการ

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการทั่วไปและภาคท่องเที่ยว โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างเงินทุนหมุนเวียน นี่คือมาตรการที่ยังคงต้องเฝ้าดูในรายละเอียดต่อไปว่าจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง การช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำค่าไฟเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนของผู้ประกอบการ 

 

ซึ่งนาทีนี้คนซื้อสินค้าและบริการลดลง ในขณะที่วัตถุดิบที่จะสั่งเข้ามาก็ยังขาดแคลน สินค้าที่ผลิตแล้วจะส่งออกไปขายก็ยังทำไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการผ่านการลดดอกเบี้ย ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ให้ความรู้ในเรื่องการหาแหล่งวัตถุดิบและตลาดใหม่ๆ

 

ข้อเสนอแนะของผมต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มีดังนี้

1.แน่นอนว่ากลุ่มที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐคือกลุ่มที่เปราะบางอย่างยิ่ง (มีสถานะว่างงาน หรือมีรายได้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินก็จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาท รวมทั้งไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย) 

 

แต่ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้ยังมีมนุษย์เงินเดือนและลูกจ้างรายวันที่กำลังพบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง หลายๆ คนถูกบริษัทขอร้องให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง (Leave without pay) ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังดิ้นรนหมุนเงินเพื่อจ่ายหนี้ประคับประคองไม่ให้ธุรกิจของตนเองล่มสลายในภาวะวิกฤต 

 

คำถามคือเราควรช่วยเหลือคนเหล่านี้ด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ‘สมควร’ 

 

ผมคิดว่าจำนวนผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) ของไทยมีประมาณปีละ 10-11 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้เสียภาษีจริงๆ ประมาณ 4-5 ล้านคน ในขณะที่อีก 6-6.5 ล้านคนได้รับการยกเว้นภาษี (รายได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาทต่อปี) 

 

คนเหล่านี้ล่ะครับที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ พวกเขาทำงานหนัก ยังมีอนาคต ยังมีปากท้องของลูก ภรรยา สามี และลูกน้องที่ต้องดูแล แน่นอนว่าใน 10-11 ล้านคนนี้ ส่วนหนึ่งก็ทับซ้อนอยู่กับ 14.2 ล้านคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

 

ดังนั้นหากใช้ฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เราน่าจะมีผู้คนที่เข้าข่ายสมควรให้ความช่วยเหลือราว 20-25 ล้านคน ช่วยพวกเขาให้เต็มที่ (แถมยังไม่มีเสียงบ่นด้วยว่าพวกเราทำงานเสียภาษีให้รัฐมาตลอด แต่ถึงเวลากลับไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออะไรบ้างเลย)

 

2.สมมติว่ารัฐบาลตัดสินใจช่วยทั้งหมด 25 ล้านคน ให้เงินคนละ 2,000 บาทต่อเดือน ต่อเนื่องกัน 3 เดือน (หากประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 จะแพร่ระบาดในระยะสั้น) เราต้องใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.89% ของ GDP เท่านั้น 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเงินที่ใส่ลงไปนี้ถูกนำไปใช้หมุนเวียนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหนด้วย ถ้ายังไม่ถึงจุดเกิดกับดักที่ใส่เงินเข้าไปแล้ว เงินก็ยังไม่หมุนไป นั่นหมายความว่า Fiscal Multiplier Effect ยังทำงาน เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้มากกว่า 0.89% หรือขยายตัวได้มากกว่าเงินที่ใส่เข้าไป ซึ่งหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น

 

3.ก่อนหน้านี้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการจ่ายหรือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ และ ‘เป๋าตัง’ เงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้สมควรที่จะต้องทำเช่นเดิม นั่นคือ รับ จ่าย โอน ผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้ และสิ่งที่รัฐสมควรทำอย่างยิ่งคือต้องทำ Data Analysis ต้องนำฐานข้อมูลการใช้จ่ายเงินของคนไทยขนาดใหญ่ที่จะมีข้อมูลระดับ 10 ล้านข้อมูลนี้มาวิเคราะห์เพื่อให้รับรู้ข้อมูลความต้องการแท้จริงจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของคนไทย เพื่อทำให้เรามีข้อมูลว่าคนไทยนำเงินไปซื้ออะไรบ้าง ซื้อมากน้อยแค่ไหน ในช่วงเวลาไหน ความถี่ของการใช้เงินเป็นอย่างไร ใช้จ่ายเงินกับผู้ประกอบการประเภทใดบ้าง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจและภาครัฐในการวางแผนดำเนินกิจการ หรือแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

 

4.รัฐบาลต้องอย่าเสพติดกับการแจกเงิน โดยเฉพาะเพียงเพื่อสร้างฐานเสียงสนับสนุนในช่วงขาลงของรัฐบาลเท่านั้น 

 

สิ่งที่สำคัญที่สุด ณ เวลานี้คือเราต้องผ่านวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสให้ได้ วิกฤตครั้งนี้เป็นเสมือน Perfect Storm ที่โถมกระหน่ำเข้ามาทุกทิศทุกทาง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่จำเป็น 

 

แต่การบริหารงานของรัฐที่มีประสิทธิภาพ มีวิสัยทัศน์ และทำได้จริงๆ ไม่ใช่การสร้างภาพ ไม่ใช่การใช้เพียงมาตรการระยะสั้น แจกเงิน หว่านเงิน จะทำให้เรารอดปลอดภัยจากวิกฤตได้อย่างยั่งยืน 

 

นาทีนี้การปรับคณะรัฐมนตรีที่ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ถ้าท่านนายกฯ ยังจะอยากดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปและสร้างศรัทธาให้กับประเทศได้ ท่านต้องสร้างคณะรัฐมนตรีชุดที่ดีที่สุด ชุดที่ปราศจากเสียงยี้ ชุดที่ทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสนิทใจ มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นภาพรวม เอาคนดีมีวิชามาร่วมทำงาน ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคราชการ และภาควิชาการ โดยไม่ต้องสนใจประเพณีเดิมๆ ที่ท่านอาจจะเคยยึดถือจำพวก ‘ไม่ฆ่าน้อย ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน’ และประเภท ‘ได้ครับพี่ ดีครับท่าน ทันครับผม เหมาะสมครับเจ้านาย’ คนพวกนี้ต้องกำจัดออกไปให้หมด บ้านเมืองหมดเวลาสำหรับโมฆบุรุษแล้วครับท่านนายกฯ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X