×

ชลประทานเผยน้ำใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย เหลือน้ำใช้การได้ 5% ของความจุ เหตุฝนตกเหนือเขื่อนยังน้อย

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2020
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (23 มิถุนายน) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน (ชป.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ พบว่าปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 32,235 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,587 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,682 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปี 2562 มีน้ำรวมกัน 9,407 ล้านลูกบาศก์เมตร) หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 986 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 5% ของความจุน้ำที่ใช้การได้ (ปี 2562 มีน้ำใช้การได้ 2,711 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 1,725 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่มีอยู่จึงสามารถสนับสนุนได้เพียงการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำพบว่าปริมาณฝนที่ตกในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยตามไปด้วย 

 

ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 17-23 มิถุนายน 2563) 4 เขื่อนหลักมีน้ำไหลลงอ่างฯ รวมกันเพียง 119.94 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันควรจะอยู่ที่ประมาณ 197 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลลงอ่างฯ 5.44 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 222 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 2 ของน้ำใช้การได้ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 101.19 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 508 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 8 ของน้ำใช้การได้ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลลงอ่างฯ 8.96 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 17 ของน้ำใช้การได้ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำไหลลงอ่างฯ 4.35 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 106 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 11 ของน้ำใช้การได้ นับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานย้ำว่าได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภาวะดังกล่าว ซึ่งปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ใน 4 เขื่อนหลักจะส่งให้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ส่วนภาคการเกษตรจะบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำและลำน้ำสาขาต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหากเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกนาปีไปแล้ว จะนำน้ำท่าจากแม่น้ำและลำคลองธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ด้วยการทดน้ำ/อัดน้ำ หรือสูบน้ำช่วยเหลือ ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปี 

 

กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีในช่วงหลังกลางเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกและมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่ จึงค่อยทำการเพาะปลูก โดยกรมชลประทานจะเน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X