×

Iris van Herpen ดีไซเนอร์หญิงที่ท้าทายขอบเขตแฟชั่น ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอยู่เสมอ [PR NEWS]

14.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ไอริสเริ่มทำเสื้อผ้าด้วยมือตั้งแต่อายุ 12 ปี และต่อมาตัดสินใจเรียนด้านนี้ที่มหาวิทยาลัย ArtEZ ในเมืองอาร์เนม ตอนถึงเวลาฝึกงานไอริสก็เลือกที่จะไปทำงานกับห้องเสื้อ Alexander McQueen ในลอนดอน ก่อนที่ในปี 2007 เธอจะตัดสินใจเริ่มแบรนด์ของตัวเอง
  • ในปี 2010 เธอจะเป็นดีไซเนอร์คนแรกของโลกที่ส่งชุดบนรันเวย์ชื่อ Crystallization ที่เป็นการนำวัสดุพอลิเอไมด์สีขาวมาปรินต์แบบสามมิติ (3D Printing) ซึ่งต่อมาในปี 2011 ทางนิตยสาร Time ก็ได้ยกย่องให้ชุดเดรสปรินต์สามมิติเป็น 1 ใน 50 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดประจำปี
  • มาปลายปีนี้ ไอริสก็ได้รับโจทย์ใหม่พร้อมทำงานกับสินค้ากลุ่มสกินแคร์เป็นครั้งแรกกับ Aesop แบรนด์สัญชาติออสเตรเลีย โดยโปรเจกต์ในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Atlas of Attraction เป็นชุดของขวัญพิเศษสำหรับปี 2561-2562

Spring/Summer 2013 Couture

 

Fall/Winter 2014 Couture

 

“แฟชั่นคือศิลปะประเภทหนึ่งไหม?” คือคำถามที่มักเป็นประเด็นอยู่บ่อยครั้ง และคำตอบคงอยู่ที่การตีความของแต่ละบุคคล บางคนอาจบอกว่าไม่ บางคนบอกว่าใช่ หรือบางคนเช่น คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ในสารคดี The First Monday in May บอกว่าคือ ‘Applied Arts’ หรือที่เรียกว่า ‘ศิลปะประยุกต์’ แต่สำหรับดีไซเนอร์ชาวดัตช์ที่ชื่อ ไอริส วาน เฮอร์เพน ถึงแม้หลายคนอาจไม่ได้คุ้นหน้าเธอ เพราะเธอไม่ใช่บุคคลที่โหมกระหน่ำอยู่ในสปอตไลต์หรือมีเพื่อนดารามากมาย ผลงานทุกชิ้นที่เธอรังสรรค์ได้เป็นเหมือนหน่วยชี้วัดสำคัญถึงอนาคตของแฟชั่นที่สามารถมาพบเจอกับศิลปะ และมากไปกว่านั้นสามารถนำบทบาทของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามารวมอยู่ด้วยกันจนถึงขั้นที่ทำให้เห็นว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้แม้แต่กับแฟชั่น

 

ในอุตสาหกรรมที่การค้นหาตัวตนถือว่าสำคัญมาก เพื่อการอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไอริสได้กลายเป็นดีไซเนอร์ที่บ่งบอกมุมมองและความคิดตัวเองผ่านทุกดีไซน์ของเธอ และทำให้เห็นว่าหากคุณแค่เชื่อมั่นในตัวเอง ผลักดันตัวเอง และไม่เคยหยุดคิดที่จะมองไปข้างหน้า คุณก็สามารถมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในวงการนี้ได้

 

ไอริสเกิดวันที่ 5 มิถุนายนปี 1984 ที่เมืองวาเมล ในจังหวัดเกลเดอร์แลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยคุณพ่อทำงานในหน่วยน้ำประปาของภาครัฐ และคุณแม่เป็นครูสอนเต้น ซึ่งชีวิตในวัยเด็กของไอริสที่เติบโตในบ้านไร่นอกเมืองติดแม่น้ำ ทางคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ให้เธอดูทีวีหรือมีคอมพิวเตอร์เล่น แต่ให้ใช้ชีวิตอยู่กับการวาดรูป เล่นไวโอลิน และเรียนบัลเลต์อย่างจริงจังจนถึงอายุ 16 ซึ่งบัลเลต์ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานของไอริสจนถึงทุกวันนี้ คงเป็นเพราะเธอชอบศึกษาเรื่องราว ‘การเคลื่อนไหว’ ของร่างกายที่สามารถสร้างรูปทรงใหม่ๆ ในการดีไซน์เสื้อผ้าของเธอ

 

Spring/Summer 2015 Ready-to-Wear

 

Fall/Winter 2011 Couture

 

สำหรับด้านแฟชั่น ไอริสเริ่มทำเสื้อผ้าด้วยมือตั้งแต่อายุ 12 ปี และต่อมาตัดสินใจเรียนด้านนี้ที่มหาวิทยาลัย ArtEZ ในเมืองอาร์เนม ซึ่งดีไซเนอร์คู่แฝด วิคเตอร์แอนด์รอล์ฟ และ ลูคัส ออสเซ็นดริจเวอร์ แห่งแบรนด์ Lanvin ก็จบที่นี่เหมือนกัน ตอนถึงเวลาฝึกงาน ไอริสก็เลือกที่จะไปทำงานกับห้องเสื้อ Alexander McQueen ในกรุงลอนดอน ที่เปิดโลกให้เธอได้ทำงานกับเนื้อผ้าและวัสดุต่างๆ ที่แหวกแนว พร้อมสอนให้เธอได้เห็นว่าการได้ไอเดียบางครั้งเกิดขึ้นจากการต้องลงมือทำเอง มากกว่าจะแค่สเกตช์ภาพหรือครีเอตมูดบอร์ดขึ้นมา ซึ่งทุกวันนี้ไอริสก็ยังคงใช้หลักการนี้ และให้ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบธรรมชาติในหัวของเธอควบคู่กับตอนตัดเย็บทุกอย่างบนหุ่น

 

พอทำงานกับ Alexander McQueen อย่างเหน็ดเหนื่อยและได้เรียนรู้เรื่องการควบคุมสติและความอดทน ในปี 2007 ไอริสก็ตัดสินใจเริ่มแบรนด์ของตัวเอง ‘Iris van Herpen’ ที่เมืองอาร์เนม และโชว์คอลเล็กชันแรกที่ Amsterdam Fashion Week ในปีนั้น ก่อนที่อีกสามปีในปี 2010 เธอจะเป็นดีไซเนอร์คนแรกของโลกที่ส่งชุดบนรันเวย์ชื่อ ‘Crystallization’ ที่เป็นการนำวัสดุพอลิเอไมด์สีขาวมาปรินต์แบบสามมิติ (3D Printing) เพื่อครีเอตเสื้อตัวบนที่เหมือนเปลือกหอย ซึ่งต่อมาในปี 2011 ทางนิตยสาร Time ก็ยกย่องให้ชุดเดรสปรินต์สามมิติเป็น 1 ใน 50 สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดประจำปี และในปีเดียวกันทางหน่วย Chambre Syndicale de la Haute Couture ของปารีส ก็เชิญเธอให้ไปแสดงผลงานเสื้อผ้าช่วงซีซันกูตูร์สองครั้งต่อปีจนถึงทุกวันนี้

 

เสื้อตัวบน ‘Crystallization’ ที่เป็นการนำวัสดุพอลิเอไมด์สีขาวมาปรินต์แบบสามมิติ (3D Printing)

 

ช่างฝีมือที่สตูดิโอของไอริส ที่อัมสเตอร์ดัม

 

ในบทสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The New York Times ไอริสเคยให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ตลกคือหลายครั้งคนชอบบอกว่าเขาไม่เคยสนใจเรื่องแฟชั่น แต่ดันสนใจสิ่งที่ฉันทำ ซึ่งฉันคิดว่าเพราะเขาได้เห็นว่าจริงๆ แฟชั่นก็มีรายละเอียดและงานฝีมืออย่างมหาศาลจนสามารถเป็นศิลปะแขนงหนึ่งได้” ซึ่งหากเราศึกษาขอบเขตในการเฟ้นหาวัสดุและแรงบันดาลใจที่ไอริสได้นำมาใช้ในผลงาน ก็มีตั้งแต่เดินทางไปหน่วยงานนิวเคลียร์ CERN ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทำการรีเสิร์ชกับ ฟิลิป บีสลีย์ ศิลปินและสถาปนิกชาวแคนาดาที่เธอทำงานด้วยหลายครั้ง นำชิ้นส่วนประกอบอาวุธทหารมาดัดแปลงเป็นชิ้นส่วนประกอบชุด ใช้เทคนิคเครื่องตัดเลเซอร์บนวัสดุ เช่น ตาข่ายอะคริลิก ผสมเรซินกับขี้ผงเหล็กจากการตะไบเหล็ก หรือนำภาพถ่ายเชิงวิทยาศาสตร์ของช่างภาพ Steve Gschmeissner ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ถ่ายมาทำเป็นรูปทรงชุด แทนที่จะทำเป็นแค่ลายปรินต์ที่คาดเดาได้

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ไอริสเป็นที่รู้จักในกระแสหลักก็คือบรรดาคนดังที่ได้ใส่ชุดของเธอ ซึ่งแต่ละคนก็มีภาพลักษณ์และตัวตนที่ชัดเจนเหมือนเธอ อาทิ เลดี้ กาก้า ที่ใส่ชุดอะคริลิกสีดำไปงานเปิดตัวน้ำหอม Fame ในปี 2012, เคต บลานเชตต์ ที่ใส่ชุดจากคอลเล็กชัน ‘Ludi Naturae’ ไปงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้, บียอร์ก ใส่ชุดขึ้นปกอัลบั้ม Biophilia และ โซแลง โนวส์ ที่ใส่ชุดของไอริสไปงาน Met Gala เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์กก็ได้ซื้อชุดไอริสไปหกชุดตั้งแต่ปี 2012 เพื่อไปจัดแสดงและเก็บในคอลเล็กชันพิพิธภัณฑ์ โดยในนิทรรศการปี 2016 ที่ชื่อ ‘Manus X Machina: Fashion in an Age of Technology’ ชุดของไอริสก็ได้เป็นดาวเด่นของงาน และทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

เลดี้ กาก้า ที่งานเปิดตัวน้ำหอม Fame ในปี 2012

 

Fall/Winter 2011 Couture

 

ด้านการร่วมงานทำโปรเจกต์พิเศษกับศิลปินหรือแบรนด์อื่นๆ ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของเส้นทางชีวิตการเป็นดีไซเนอร์ของไอริส ที่แม้แบรนด์จะมีอายุแค่ 11 ปี แต่ก็ก้าวไกลอย่างน่านับถือ โดยหนึ่งในโปรเจกต์ที่ได้รับความสนใจคือตอนเธอทำกับเว็บไซต์ Showstudio ของช่างภาพอังกฤษ นิค ไนต์ ที่สร้างสรรค์ชุด ‘Splash!’ ที่เป็นการสาดน้ำใส่เรือนร่างของ ดาฟเน กินเนสส์ สไตล์ไอคอนชื่อดัง และให้ นิค ไนต์ ถ่ายภาพ ซึ่งหลังจากนั้นก็เลือกหนึ่งภาพขององศาน้ำที่ชอบ และสร้างตัวน้ำขึ้นมากับพลาสติกใสชนิด PETG พร้อมใช้เครื่องพ่นไฟและคีมเพื่อช่วยดัดแปลงรูปทรง ส่วนโปรเจกต์อื่นก็มีการดีไซน์ชุดบัลเลต์สำหรับกลุ่ม New York City Ballet ที่ เบนจามิน มิลปิเอ สามีของ นาตาลี พอร์ตแมน กำกับและออกแบบขวดแชมเปญ Dom Perignon ในปี 2014

 

มาปลายปีนี้ ไอริสก็ได้รับโจทย์ใหม่พร้อมทำงานกับสินค้ากลุ่มสกินแคร์เป็นครั้งแรกกับ Aesop แบรนด์สัญชาติออสเตรเลียที่ก่อตั้งในปี 1987 ที่เมลเบิร์น โดย Dennis Paphitis โปรเจกต์ในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Atlas of Attraction เป็นชุดของขวัญพิเศษสำหรับปี 2561-2562 ที่อยากเฉลิมฉลองเรื่องราวการเดินทางช่วงปลายปี เพื่อหาแรงบันดาลใจจากผู้คนหรือสถานที่ที่เราไป ซึ่งสามารถเติมเต็มชีวิตและเป็นแรงผลักดันไม่มากก็น้อยให้คนเรา

 

Iris van Herpen for Aesop

 

ปรัชญาดังกล่าวได้ถูกสอดคล้องไปกับ 4 ชุดพิเศษที่สร้างสรรค์มาโดยเฉพาะโปรเจกต์นี้:

 

1. A Curious Connection เน้นผลิตภัณฑ์กลุ่ม Body Care สำหรับเรือนร่าง ประกอบไปด้วย Geranium Leaf Body Cleanser และ Rind Concentrate Body Balm

 

 

2. The Familiar Horizon เน้นผลิตภัณฑ์ Home Essentials ที่ใช้ในบ้าน โดยประกอบไปด้วย Istros Aromatique Room Spray, Post-Poo Drops และ Mouthwash

 

 

3. Contours of Discovery เน้นไอเท็มมือและเรือนร่าง ประกอบไปด้วย Resurrection Aromatique Hand Wash, Resurrection Aromatique Hand Balm, Geranium Leaf Body Scrub, Geranium Leaf Body Cleanser 

 

 

4. Orbit of Intention ที่เป็นผลิตภัณฑ์ Skin Care สำหรับผิวที่ประกอบไปด้วย Blue Chamomile Facial Hydrating Masque, Immediate Moisture Facial Hydrosol และ Purifying Facial Exfoliant Paste

 

 

แต่ไม่ใช่แค่แพ็กเกจจิ้งดีไซน์ที่ไอริสได้มาร่วมออกแบบในครั้งนี้ แต่เธอยังเดินทางกลับไปที่สตูดิโอของเธอในอัมสเตอร์ดัม เพื่อออกแบบงานศิลปะจัดวางชิ้นพิเศษสำหรับจัดแสดงในวินโดว์ดิสเพลย์ของร้าน Aesop ในสาขาพิเศษทั่วโลก โดยไอริสได้เลือกความชำนาญในเทคนิคเลเซอร์คัตที่เธอมักใช้ในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าของเธอ พัฒนาเป็นชิ้นงานศิลปะจัดวางที่ผลิตจากสเตนเลสสตีลด้วยเครื่องตัด CNC ในรูปทรงที่โปร่งเบาและคล้ายเมฆ ก่อนเผาเคลือบเงาให้ผิวมันวาวเพื่อเกิดเป็นผิวสัมผัสที่สะท้อนแสง และเปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งยืนของผู้พบเห็น

 

การมาทำโปรเจกต์ในครั้งนี้ของไอริสกับ Aesop ก็ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก และสะท้อนการเฟ้นหาของแต่ละฝ่ายที่อยากทำงานกับอีกแบรนด์ที่คนอาจไม่นึกถึง แต่พอมาร่วมกันก็จะเห็นได้ว่าเหมาะสมกัน ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ถือว่ามีตัวตนที่นิ่งในเชิงแบรนด์ดิ้ง แต่สินค้าชัดเจน โดดเด่น และเป็นการท้าทายขอบเขตของโลกแฟชั่นและบิวตี้ในทางที่รู้สึกออร์แกนิก โดยต้องจับตาดูต่อไปว่าการร่วมงานกันในครั้งนี้จะเติบโตและขยายไปในทิศทางไหน เพราะเชื่อได้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่สามารถพัฒนาได้

 

Iris van Herpen for Aesop

 

Spring/Summer 2017 Couture

 

ในวันนี้ชื่อของ ไอริส วาน เฮอร์เพน อาจไม่ได้ปรากฏอยู่บนราวเสื้อผ้าทั่วทุกมุมโลก ถ่ายลงปกนิตยสารชั้นนำ ได้นักแสดงดีกรีรางวัลออสการ์ใส่บนพรมแดงอยู่ตลอด หรือขึ้นลิสต์ ‘แบรนด์สุดฮอตของไตรมาสนี้!’ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าบทบาทของเธอในวงการแฟชั่นหรือวัฒนธรรมโดยรวมจะถดถอยลง เรากลับมองว่าเธอได้ก้าวไปไกลกว่าดีไซเนอร์หลายคนที่ยังคงอยู่ในกรอบเดิมๆ และอยู่ภายใต้แบรนด์ที่มีแฟลกชิปสโตร์สูงหลายชั้นในโตเกียว ลอนดอน นิวยอร์ก มิลาน หรือกรุงเทพฯ ซึ่งพอวันหนึ่งที่อุตสาหกรรมแฟชั่นจะวิ่งตามเธอทัน ในวันนั้นคุณค่าของผู้หญิงคนนี้ก็คงเพิ่มขึ้นมหาศาล แม้วันนี้สำหรับเราเธอก็ถือได้ว่าเป็น ‘สุดยอด’ ดีไซเนอร์แห่งยุคไปแล้ว ที่ประวัติศาสตร์แฟชั่นต้องมีชื่อของเธอปรากฏอยู่อีกหลายทศวรรษ

 

 

“สิ่งหนึ่งที่ฉันไม่อยากเกี่ยวข้อง คือการทำเสื้อผ้าแบบระดับผลิต Mass Production และรู้ว่าหลายชิ้นจะขายไม่ออกและถูกทำลายทิ้ง…ฉันคิดว่ามันท้าทายและน่าสนใจมากกว่าที่เราจะสรรหาวิธีใหม่ๆ ในการทำเสื้อผ้า…การทำเสื้อผ้าแบบปรินต์สามมิติก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำได้แล้ว แต่ฉันก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้ในอนาคตอันใกล้” – ไอริส วาน เฮอร์เพน สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Showstudio, เดือนกรกฎาคม ปี 2013

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

FYI
  • ไอริสเคยชนะรางวัล ANDAM ของกระทรวงวัฒนธรรมประเทศฝรั่งเศสในปี 2014 ซึ่งรางวัลนี้ มาร์แตง มาร์เจียลา, แกเร็ธ พิว และ แอนโทนี แว็กคาเรลโล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งแบรนด์ Saint Laurent เคยชนะมาเหมือนกัน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X