“ในขณะที่บรรดาผู้นำในอิหร่านจะได้สนุกกับการได้ดูทีมชาติลงแข่งขันในฟุตบอลโลก ชาวยูเครนจำนวนมากถูกฆ่าโดยโดรนและมิสไซล์ของอิหร่าน”
ข้อความข้างต้นเป็นแถลงการณ์จาก เซอร์เกย์ พาลคิน ซีอีโอของสโมสรชัคตาร์ โดเนตสก์ หนึ่งในสโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำของยูเครน ที่ขอส่งข้อความถึงชาวโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลให้ทบทวนเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง
เรื่องดังกล่าวคือการขอให้แบนทีมชาติอิหร่านจากการเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน หรือในอีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้าแล้ว
โดยข้อหาที่พาลคินตั้งให้สำหรับทีมชาติอิหร่านคือ การมีส่วนในการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพรัสเซีย ที่นำมาใช้ในการโจมตีประเทศยูเครนอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้นอกจากจะทำลายระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างความลำบากให้แก่ชีวิตของประชาชนชาวยูเครนแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้แก่สถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน, พิพิธภัณฑ์, มหาวิทยาลัย, สำนักงาน, สนามกีฬา รวมถึงสนามเด็กเล่น
และสิ่งที่ไม่อาจขอคืนกลับมาได้เลยคือชีวิตของชาวยูเครน
“โดรนเกือบ 250 ลำได้โจมตีเมืองที่สงบสุขของชาวยูเครน โดรนทุกลำนั้นถูกผลิตและส่งมอบโดยทางการอิหร่าน โดยเจ้าหน้าที่ชาวอิหร่านฝึกสอนเพื่อใช้โดรนเหล่านี้ในการโจมตีบ้านเรือน, พิพิธภัณฑ์, มหาวิทยาลัย, สำนักงาน, สนามกีฬา และสนามเด็กเล่น และที่สำคัญที่สุดคือพรากชีวิตชาวยูเครน
“นั่นรวมถึงเด็กๆ ด้วย เด็กๆ คนที่ฝันอยากจะเห็นทีมชาติลงเล่นในฟุตบอลโลก สโมสรชัคตาร์ฯ จึงขอเรียกร้องให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และโลกฟุตบอลแบนทีมชาติอิหร่านจากการลงเล่นในฟุตบอลโลก ในข้อหาของการเป็นประเทศที่มีส่วนโดยตรงต่อการก่อการร้ายต่อชาวยูเครน”
พาลคินยังได้บอกอีกด้วยว่า หากมีการแบนอิหร่านแล้ว โควตาที่ว่างอยู่ก็ควรจะตกเป็นของทีมชาติยูเครน “มันจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าของการได้เข้าร่วมฟุตบอลโลก”
ทีมชาติยูเครนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ลีกฟุตบอลต้องถูกระงับหลังจากที่กองทัพรัสเซียได้รุกรานตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 และได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเตรียมความพร้อมของทีมชาติยูเครน ซึ่งเดิมผ่านมาถึงรอบเพลย์ออฟลุ้นตั๋วไปฟุตบอลโลก และเอาชนะสกอตแลนด์ได้ในด่านแรก แต่ไม่ผ่านด่านทีมชาติเวลส์ที่คว้าตั๋วไปฟุตบอลโลกได้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
“ในเงื่อนไขที่ไม่เท่าเทียมกับทีมชาติอื่นในช่วงเพลย์ออฟ พวกเขาก็ยังพยายามเล่นด้วยหัวใจ การตัดสินใจนี้จะเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นการตัดสินใจในเกมกีฬาที่ยุติธรรมที่สุด”
ทีมชาติอิหร่านผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้ด้วยการเอาชนะอิรักเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ทางด้าน นาสเซอร์ อัล-เคเตอร์ ประธานจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ ได้กล่าวว่า สมาคมฟุตบอลต่างๆ ควรจะมุ่งเน้นในเรื่องของเกมฟุตบอลมากกว่าเรื่องของการเมือง ภายหลังจากที่กาตาร์ในฐานะชาติเจ้าภาพก็ถูกกล่าวหาในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานที่เข้ามาก่อสร้างสนาม
อย่างไรก็ดี เรื่องของการมีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามไม่ใช่เรื่องเดียวที่ฟีฟ่าได้รับการร้องเรียนให้แบนทีมชาติอิหร่านจากฟุตบอลโลก
ในสัปดาห์ที่แล้วมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอีกเช่นกัน เมื่อมีกลุ่มคนในวงการกีฬาและในวงการฟุตบอลของอิหร่านเรียกร้องให้แบนทีมชาติของตัวเองให้พ้นจากการแข่งขันฟุตบอลโลกเช่นกัน
แต่ข้อกล่าวหานั้นแตกต่างออกไป โดยเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิสตรี ที่เป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงก่อนหน้านี้จากการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี หญิงสาววัย 22 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในข้อหาสวมใส่ฮิญาบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และนำไปสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งกลายเป็นการจุดชนวนความโกรธแค้นในหมู่ประชาชนชาวอิหร่าน
กลุ่มผู้เรียกร้องให้แบนอิหร่านนั้นได้ส่งหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการถึงฟีฟ่า โดยชี้ให้เห็นถึงการกระทำรุนแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะสตรีที่ถูกตัดจากวงจรฟุตบอลภายในประเทศอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าจะมีการแก้ไขกฎให้ผู้หญิงสามารถเข้าในสนามกีฬาได้ตั้งแต่ปี 2018 ก็ตาม
“ความเป็นกลางของฟีฟ่าไม่ใช่ทางเลือก” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของกลุ่มผู้เรียกร้องให้แบนทีมชาติอิหร่านพ้นจากฟุตบอลโลก
ความเคลื่อนไหวที่เข้มข้นจาก 2 ฝ่ายที่ต้องการเห็นทีมชาติอิหร่านถูกแบนจากฟุตบอลโลก จึงทำให้ท่าทีของฟีฟ่าต่อเรื่องนี้จะยิ่งถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่
โดยขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ปรากฏออกมาจากที่ทำการใหญ่ของฟีฟ่า ในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อ้างอิง: