×

อิหร่าน-สหรัฐฯ เริ่มต้นเจรจานิวเคลียร์ทางอ้อมผ่านผู้แทน EU สำคัญอย่างไร เราควรรู้อะไรบ้าง?

โดย THE STANDARD TEAM
29.06.2022
  • LOADING...
อิหร่าน-สหรัฐฯ

การเจรจานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน เปิดฉากขึ้นเมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยเป็นการพูดคุยทางอ้อมผ่านผู้แทนไกล่เกลี่ยของสหภาพยุโรป (EU) ที่ทำหน้าที่ตัวกลางเจรจาระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ท่ามกลางความพยายามหาหนทางรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ

 

เอนริเก มอรา (Enrique Mora) ผู้แทนของ EU จะเป็นตัวกลางส่งผ่านข้อความเจรจากับผู้แทนของสหรัฐฯ และอิหร่าน โดยฝ่ายอิหร่านนั้น ส่ง อาลี บาเกรี คานี (Ali Bagheri Kani) หัวหน้าผู้แทนเจรจานิวเคลียร์เข้าร่วมพูดคุย ส่วนทางสหรัฐฯ ส่ง ร็อบ มัลลีย์ (Rob Malley) ผู้แทนพิเศษด้านอิหร่าน ร่วมในการเจรจาคร้ังนี้

 

แล้วการเจรจาครั้งนี้สำคัญอย่างไร และมีจุดมุ่งหมายอะไร?

 

  • การเจรจาทางอ้อมรอบนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับดั้งเดิมในปี 2015 ที่เรียกว่า แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ซึ่งอิหร่านทำกับกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ ประเทศสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ประเทศ คือ จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ บวกกับเยอรมนี

 

  • รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ละทิ้งข้อตกลงฝ่ายเดียวในปี 2018 ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนจะประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่ออิหร่าน

 

  • ขณะที่อิหร่านตอบโต้ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งแม้จะยังคงเป็นไปอย่างสันติ แต่ประเทศต่างๆ ก็มีท่าทีกังวลว่า อิหร่านอาจกำลังพยายามสร้างอาวุธนิวเคลียร์ โดยหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของโลกอย่าง ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) มีความกังวลที่อิหร่านไม่ให้ความร่วมมืออย่างเหมาะสม

 

ข้อตกลงนิวเคลียร์ส่งผลอะไรบ้าง

 

  • การลงนามภายหลังการเจรจาที่ยาวนานหลายปี ทำให้แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม หรือ JCPOA เป็นข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการ ว่าสามารถกำหนดมาตรการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติที่มีอยู่ในขณะนั้น

 

  • โดย IAEA มีหน้าที่ทำให้แน่ใจว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นไปเพื่อสันติ ผ่านการตรวจสอบและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมได้มากถึง 3.67%

 

  • ข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนชาวอิหร่านต่างมีความหวังว่า ประเทศจะรอดพ้นจากการคว่ำบาตร และเศรษฐกิจจะกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น

 

ทำไมการเจรจาถึงหยุดลงในเดือนมีนาคม

 

  • การเจรจาเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลง JCPOA เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ปี 2021 ระหว่างอิหร่านและ P4+1 (จีน, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี) ในกรุงเวียนนา โดยสหรัฐฯ เข้าร่วมเจรจาทางอ้อม เพราะอิหร่านไม่ยอมร่วมโต๊ะเจรจาด้วย 

 

  • หลังการเจรจาที่มีการหยุดชะงักไปหลายรอบ ผู้เจรจาดูเหมือนจะใกล้บรรลุข้อตกลงได้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น

 

  • นับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลอิหร่านและสหรัฐฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อความเจรจาระหว่างกัน แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้

 

  • ขณะที่สหรัฐฯ จะสามารถยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านได้มากแค่ไหน ยังเป็นเป็นประเด็นหลักที่อิหร่านและสหรัฐฯ เห็นไม่ตรงกัน อีกทั้งสถานะของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทัพหลักของอิหร่าน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจรจา เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ต้องการถอดกองกำลังนี้ออกจากรายชื่อองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ

 

ทำไมถึงเกิดการเจรจาตอนนี้?

 

  • อิหร่านและสหรัฐฯ เห็นพ้องให้เดินหน้าการเจรจานิวเคลียร์ต่อ ภายหลังโจเซฟ บอเรลล์ (Josep Borrell) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU เดินทางไปเยือนกรุงเตหะรานของอิหร่าน เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

  • โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างเปิดเผยว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากจะช่วยลดความตึงเครียดที่อาจลุกลามไปสู่ความขัดแย้งทางอาวุธ

 

  • และหากการเจรจาประสบความสำเร็จ ยังเป็นการส่งสัญญาณเรื่องการกลับคืนของน้ำมันอิหร่านสู่ตลาดโลกอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ที่เป็นที่ต้องการมากขึ้นหลังจากเกิดการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

 

ทำไมถึงเจรจาที่กาตาร์?

 

  • กาตาร์นั้นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการเจรจานิวเคลียร์รอบนี้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งอิหร่านและสหรัฐฯ

 

  • รัฐบาลโดฮานั้นแสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดในการสนับสนุนการฟื้นฟูข้อตกลง JCPOA และยังเป็นตัวกลางในการสื่อสารทางอ้อมระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับเตหะราน ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว

 

  • การเป็นเจ้าภาพเจรจาของกาตาร์ ยังเป็นการรับไม้ต่อจากเพื่อนบ้านอย่างโอมาน ที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจานิวเคลลียร์ทางตรงระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ก่อนที่จะนำมาซึ่งข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับดั้งเดิมในปี 2015

 

โอกาสประสบความสำเร็จมีมากแค่ไหน?

 

  • แม้ว่าการกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาทางอ้อมระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน จะเป็นสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นว่าหลายสิ่งอาจมีความก้าวหน้า แต่ก็ยังไม่มีอะไรสามารถรับประกันความสำเร็จได้

 

  • ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และอิสราเอลได้ออกมาเตือนถึงการฟื้นข้อตกลง โดยต้องการให้มีการกดดันอิหร่านมากขึ้นแทน

 

  • ขณะที่อิหร่านแสดงจุดยืนคือ ต้องการให้แน่ใจว่าจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามสัญญาภายใต้ข้อตกลงฉบับดั้งเดิม

 

  • นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา อิหร่านยังถอดกล้องของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ที่ใช้ตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวในโรงงานนิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้มติในการตำหนิอิหร่าน โดยสหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

 

  • ซึ่งหากอิหร่านไม่กลับมาเปิดกล้อง ทาง IAEA จะประสบความลำบากมากขึ้นในการติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวในโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอาจทำให้ข้อตกลง JCPOA ต้องสิ้นสุด

 

  • ขณะที่อิสราเอล ในฐานะศัตรูที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่านและข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าว ยังคงขู่จะดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าอิหร่านจะไม่สามารถสร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้

 

ภาพ: Photo by Atta Kenare / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising