เหตุการณ์ประท้วงในอิหร่านดำเนินต่อเนื่องมาเป็นคืนที่ 8 ติดต่อกันแล้วในวันศุกร์ (23 กันยายน) โดยมีชนวนเหตุมาจากกรณีการเสียชีวิตของ มาห์ซา อามินี หญิงสาวชาวเคิร์ดวัย 22 ปี ภายหลังที่เธอถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมในกรุงเตหะราน เนื่องจากไม่สวมฮิญาบในที่สาธารณะ
Iran Human Rights (IHR) องค์กรสิทธิมนุษยชนในกรุงออสโล เปิดเผยว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คนจากการถูกสังหารโดยกองกำลังความมั่นคง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิต 17 รายตามการรายงานของทางการอิหร่าน และในบรรดาผู้เสียชีวิตที่ทางการยืนยันนั้นมีเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงรวมอยู่ด้วย 5 นาย
สถานการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของอิหร่านขณะนี้มีชนวนเหตุมาจากกรณีที่หญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ที่ชื่อว่า มาห์ซา อามินี ถูกตำรวจศีลธรรมของอิหร่านจับกุม เนื่องจากเธอไม่สวมฮิญาบปกปิดศีรษะ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในท้ายที่สุด ด้วยสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่าเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน
ภายหลังการเสียชีวิตของเธอกลายเป็นข่าว กลุ่มคนที่โกรธแค้นได้พากันออกมาประท้วงในกรุงเตหะราน ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปยังเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงอิสฟาฮาน มัชฮัด ชิราซ และทาบริซ รวมไปถึงเคอร์ดิสถาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอามินีด้วย
IHR ระบุว่า เหตุการณ์ประท้วงรุนแรงตามท้องถนนได้แพร่กระจายไปยัง 80 เมือง คลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่า ผู้ประท้วงจำนวนมากออกมารวมตัวกันในย่านต่างๆ ของกรุงเตหะรานหลังพระอาทิตย์ตก บางคนเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลหรือทหารอาสา โดยการประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่งสลายไปก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง
สำนักข่าว Mehr ของอิหร่าน รายงานว่า ชาวอิหร่านหลายพันคนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนในวันศุกร์ เพื่อสนับสนุนการสวมฮิญาบ โดยเป็นการชุมนุมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในกรุงเตหะรานและเมืองอื่นๆ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลอิหร่านเผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนการสวมฮิญาบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงที่แต่งกายด้วยชุดคลุมยาวสีดำ
อย่างไรก็ดี หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแยกย้ายไปแล้ว บรรดาผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลก็ได้ออกมาชุมนุมประท้วงในยามพลบค่ำ โดย Hengaw กลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกกลุ่มหนึ่งในออสโล เปิดเผยว่า เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับกองกำลังความมั่นคง เมื่อเย็นวันศุกร์ ที่เมืองโบกัน ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตก
ขณะที่คลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่กันทางออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่มีรูปของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ในเมืองบาโบล ทางตอนเหนือของจังหวัดมาซันดารัน
นอกจากนี้ ผู้ประท้วงหญิงบางคนถอดฮิญาบออกอย่างท้าทาย และเผาฮิญาบบนกองเพลิง หรือตัดผมเป็นสัญลักษณ์ต่อหน้าฝูงชนที่ส่งเสียงเชียร์
สำนักข่าว IRNA ของรัฐบาล รายงานว่า ผู้ประท้วงบางคนปาก้อนหินใส่กองกำลังรักษาความมั่นคง จุดไฟเผารถตำรวจ และตะโกนด่าทอรัฐบาล
“วิดีโอที่แชร์บนโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นว่า รัฐบาลตอบโต้ด้วยการใช้กระสุนจริง ปืนอัดลม และแก๊สน้ำตา ขณะเดียวกันคลิปวิดีโอยังเผยให้เห็นภาพผู้ประท้วงหลายรายมีเลือดออกมาก” องค์กร Center for Human Rights in Iran (CHRI) ในนิวยอร์ก กล่าว
ขณะเดียวกัน ทางการอิหร่านยังได้ควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้ประท้วงใช้เป็นช่องทางในการนัดชุมนุมกัน รวมทั้งไม่ให้ภาพเหตุการณ์ประท้วงเผยแพร่ออกไปสู่โลกภายนอก
NetBlocks ซึ่งเป็นกลุ่มติดตามสังเกตการณ์ด้านอินเทอร์เน็ต เปิดเผยว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถูกจำกัด “แพลตฟอร์มออนไลน์ยังคงถูกจำกัด และการเชื่อมต่อขาดๆ หายๆ และอินเทอร์เน็ตบนมือถือหยุดชะงักเป็นวันที่ 3 ในวันศุกร์”
ภาพ: Tayfun Coskun / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: