×

อิหร่าน-ปากีสถาน ยิงมิสไซล์ถล่มข้ามแดน ยกระดับตึงเครียดตะวันออกกลาง?

19.01.2024
  • LOADING...

กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกจับตา หลังปากีสถานและอิหร่านต่างยิงขีปนาวุธโจมตีใส่เป้าหมายในดินแดนของอีกฝ่าย จนส่งผลให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศที่รุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางที่ตึงเครียดทั่วภูมิภาค ทั้งสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา หรือการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน

 

คำถามที่หลายคนสงสัยคือ การโจมตีข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นมีชนวนเหตุจากอะไร? แล้วจะรุนแรงถึงขั้นยกระดับความตึงเครียดในตะวันออกกลางหรือไม่?

 

เกิดอะไรขึ้น?

 

ชนวนความขัดแย้งปะทุขึ้นหลังอิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายในแคว้นบาลูจิสถาน (Balochistan) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 มกราคม) ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิต 2 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน ตามข้อมูลจากทางการปากีสถาน

 

โดยอิหร่านอ้างว่ามุ่งเป้าโจมตีกลุ่มก่อการร้ายชาวอิหร่านที่หลบซ่อนอยู่ในดินแดนของปากีสถาน และยืนยันว่าไม่มีชาวปากีสถานตกเป็นเป้าหมาย

 

สำนักข่าว Tasnim รายงานว่า เป็นการโจมตีกลุ่มติดอาวุธจาอิช อัล-อัดล์ (Jaish al-Adl) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บาลอช (Baloch) และชาวมุสลิมนิกายซุนนี หรือที่อิหร่านรู้จักในชื่อ จาอิช อัล-ดุลม์ (Jaish al-Dhulm) ที่แปลว่ากองทัพแห่งความยุติธรรม

 

กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวทั้งในพรมแดนอิหร่านและปากีสถาน และเคยอ้างความรับผิดชอบการโจมตีเป้าหมายในอิหร่านหลายครั้ง ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มคือเอกราชของจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถาน (Sistan and Balochistan Province) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน

 

ขณะที่รัฐบาลปากีสถานแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการละเมิดอธิปไตยที่เกิดขึ้น โดยประณามว่าเป็นการ ‘ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และจิตวิญญาณความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างปากีสถานและอิหร่านอย่างร้ายแรง’ พร้อมทั้งเตือนผลกระทบที่จะตามมา

 

การตอบโต้ของปากีสถานเกิดขึ้นในอีก 2 วันต่อมา หลังมีรายงานว่าปากีสถานได้ยิงขีปนาวุธโจมตีใส่เป้าหมายในจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถานของอิหร่านวานนี้ (18 มกราคม) โดยอ้างว่าเป็นการพุ่งเป้าโจมตีที่หลบซ่อนของกลุ่มก่อการร้าย ส่งผลให้อิหร่านออกมาประณามการโจมตีที่เกิดขึ้น และเผยว่ามีผู้หญิง 3 คน ผู้ชาย 2 คน และเด็ก 4 คน เสียชีวิต

 

ภายหลังจุดชนวนโจมตีข้ามพรมแดน รัฐบาลอิหร่านเรียกร้องให้ปากีสถานป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้ดินแดนปากีสถานเป็นฐานในการเคลื่อนไหว

 

ขณะที่ปากีสถานเผยว่าได้ร้องเรียนไปยังอิหร่านหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่ามีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลบซ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในอิหร่าน และอ้างเหตุผลการโจมตีล่าสุดที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะการเพิกเฉยของอิหร่านที่บีบบังคับให้ปากีสถานต้องจัดการด้วยการโจมตีข้ามพรมแดน

 

ทำไมถึงเกิดการโจมตีช่วงนี้?

 

การต่อสู้ระหว่างปากีสถานและอิหร่าน กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่พรมแดนทั้ง 2 ประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการปะทะรุนแรงในพื้นที่ชายแดนอิหร่าน-ปากีสถานเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเมื่อเดือนธันวาคม อิหร่านกล่าวหากลุ่มติดอาวุธจาอิช อัล-อัดล์ ว่าบุกโจมตีสถานีตำรวจในซีสถานและบาลูจิสถาน ส่งผลให้ตำรวจอิหร่านเสียชีวิต 11 นาย

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผิดปกติอย่างมากคือแต่ละฝ่ายเต็มใจโจมตีเป้าหมายข้ามพรมแดนโดยไม่แจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า

 

โดยสถานการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา ที่กำลังส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค

 

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นต่อการที่อิหร่านเลือกลงมือโจมตีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปากีสถานช่วงนี้ อาจเป็นเพราะความขัดแย้งในระดับภูมิภาคที่ขยายวงขึ้น ทำให้อิหร่านกล้าที่จะไล่ตามเป้าหมายที่อยู่นอกประเทศ

 

ในช่วง 1 วันก่อนการโจมตีปากีสถาน อิหร่านยังได้ยิงขีปนาวุธใส่อิรักและซีเรีย โดยอ้างว่ามุ่งเป้าโจมตีฐานสายลับของอิสราเอลและกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านอิหร่าน

 

ขณะเดียวกัน การสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กับศัตรูอย่างอิสราเอลก็ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่อิหร่านสนับสนุนเช่นกัน ก็ยังไม่หยุดการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงเพื่อกดดันให้อิสราเอลยุติสงครามในฉนวนกาซา ทำให้สหรัฐฯ ต้องโจมตีทางอากาศตอบโต้

 

คาริม ซัดจัดปูร์ นักวิชาการอาวุโสของมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพสากล (Carnegie Endowment for International Peace) มองว่าบทบาทอันโดดเด่นของอิหร่านในตะวันออกกลางตรงกันข้ามกับประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เช่น เยเมนและซีเรีย หมายความว่า ‘อิหร่านจะได้รับผลประโยชน์จากความไม่มั่นคงในภูมิภาค และเติมเต็มสุญญากาศทางอำนาจ’

 

โดยความเคลื่อนไหวของอิหร่านในเวลานี้ช่วยส่งเสริมเป้าหมายหลักหลายอย่าง รวมถึงการเสริมศักยภาพให้กับชาวปาเลสไตน์ และการต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง

 

ขณะที่ ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองว่าอิหร่านน่าจะต้องการโจมตีกลุ่มติดอาวุธชาวบาลอชไปพร้อมๆ กับโชว์แสนยานุภาพทางทหาร

 

โดยครั้งนี้เป็นปฏิบัติการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งน่าจะหวังผลส่งสัญญาณป้องปรามฝ่ายตรงข้ามคือสหรัฐฯ และอิสราเอล และจัดการกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายตรงข้ามไปด้วย จึงเกิดการโจมตีทั้งในอิรัก ซีเรีย และปากีสถาน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

 

CNN รายงานคำสัมภาษณ์ของ พล.อ. เวสลีย์ คลาร์ก อดีตผู้บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ และอดีตผู้บัญชาการสูงสุดของ NATO มองว่าสงครามต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าอิหร่าน ‘มุ่งมั่นที่จะประสานบทบาทของตนในฐานะผู้นำในภูมิภาค’

 

“อิหร่านกำลังแสวงหาอำนาจนำในระดับภูมิภาค เมื่อสหรัฐฯ และอิสราเอลอยู่ที่นั่น และอิสราเอลกำลังทำสงครามต่อต้านกลุ่มฮามาส อิหร่านก็รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้และอ้างสิทธิ์ของตัวเอง” เขากล่าว

 

ความขัดแย้งพรมแดนอิหร่าน-ปากีสถาน

 

ชาวบาลอช หรือชนพื้นเมืองบาลูจิสถาน อาศัยอยู่ในบริเวณจุดตัดพรมแดนปากีสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน โดยแสดงตัวเป็นเอกราชและไม่ต้องการถูกปกครองจากทั้งปากีสถานและอิหร่าน ขณะที่มีการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบตามแนวชายแดนเพื่อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนมานานหลายทศวรรษ

 

พื้นที่อาศัยของชาวบาลอชยังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลุ่มติดอาวุธชาวบาลอชมองว่าประชาชนของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มประชาชนที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค แทบจะไม่เคยเจอกับความมั่งคั่งและสุขสบาย

 

แคว้นบาลูจิสถาน ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ที่สุดของปากีสถาน เผชิญเหตุโจมตีนองเลือดหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยมีแรงหนุนจากการก่อความไม่สงบของกลุ่มติดอาวุธบาลอชที่เรียกร้องเอกราชและต่อต้านการผูกขาดของรัฐบาลปากีสถาน ตลอดจนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสินแร่ในภูมิภาค

 

ส่วนในอิหร่าน ที่ผ่านมาก็เผชิญการก่อความไม่สงบทั้งจากชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ชาวอาหรับ และชาวบาลอช

 

โดยกลุ่มติดอาวุธจาอิช อัล-อัดล์ เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวภายในอิหร่าน และมักพุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนชาวมุสลิมชีอะห์

 

ในปี 2015 กลุ่มนี้ยังอ้างความรับผิดชอบเหตุโจมตีหน่วยคุ้มกันชายแดนอิหร่านจนเสียชีวิต 8 นาย และในปี 2019 ก็อ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีรถบัสบรรทุกทหารกองทัพอิหร่านในจังหวัดซีสถานและบาลูจิสถานจนเสียชีวิตอย่างน้อย 23 คน

 

จะเกิดอะไรต่อหลังจากนี้?

 

การโจมตีของอิหร่านเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการทูต โดยปากีสถานเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับจากอิหร่าน และระงับการเยือนระดับสูงทั้งหมด และหลังจากการโจมตีของปากีสถานวานนี้ อิหร่านก็เรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานมี ‘คำอธิบายที่ชัดเจน’ ในทันที

 

ด้าน แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงภายหลังทราบข่าวการโจมตีข้ามพรมแดนของอิหร่าน ทั้งในปากีสถาน อิรัก และซีเรีย โดยระบุว่าสหรัฐฯ กำลังดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางปะทุเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบ

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าอิหร่านหรือปากีสถานต้องการขยายความขัดแย้งนี้เกินกว่าการกวาดล้างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ โดยแถลงการณ์จากรัฐบาลอิสลามาบัดและเตหะราน ส่งสัญญาณเป็นนัยถึงความปรารถนาที่จะไม่เห็นสิ่งต่างๆ บานปลาย

 

โดยกระทรวงการต่างประเทศของปากีสถานเรียกอิหร่านว่าเป็น ‘ประเทศพี่น้อง’ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ ‘แก้ปัญหาร่วมกัน’

 

ภาพ: REUTERS / Dado Ruvic / Illustration

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X