ชาวอิหร่านในหลายเมืองทั่วประเทศยังคงชุมนุมประท้วงและก่อความไม่สงบต่อเนื่องเป็นคืนที่ 10 เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีการเสียชีวิตของ ‘มาห์ซา อามินี’ หญิงชาวเคิร์ด วัย 22 ปี ภายหลังถูกตำรวจศีลธรรมในกรุงเตหะรานจับกุมตัวเพียงเพราะไม่สวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมศีรษะ
สถานการณ์ในขณะนี้บานปลายจนเรียกได้ว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 3 ปีของอิหร่าน โดยมีรายงานการปะทะรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงกับกองกำลังความมั่นคงในหลายพื้นที่ และบางแห่งพบว่าตำรวจได้ใช้กระสุนจริงสลายการประท้วง ขณะที่ผู้ชุมนุมใช้ก้อนหินขว้างปาตอบโต้ พร้อมทั้งจุดไฟเผารถตำรวจและสถานที่ราชการ และผู้ชุมนุมหญิงหลายคนเผาฮิญาบและตัดผมประท้วง
ยอดผู้เสียชีวิตตามที่มีรายงานจากทางการอิหร่านอยู่ที่อย่างน้อย 41 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงและมีเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงรวมอยู่ด้วย และมีผู้ถูกจับกุมแล้วหลายร้อยคน รวมถึงผู้ชุมนุม นักเคลื่อนไหว และนักข่าว โดยทางการยังพยายามปิดกั้นโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น WhatsApp, Instagram และ Skype
ส่วนรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนอิหร่าน (Iran Human Rights: IHR) ที่มีสำนักงานในนอร์เวย์ ระบุเมื่อเย็นวานนี้ (25 กันยายน) ว่ายอดรวมผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 57 คน แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการปิดกั้นระบบอินเทอร์เน็ตของทางการอิหร่านทำให้การยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตทำได้ยากขึ้น
การประท้วงซึ่งแพร่กระจายไปยังหลายเมืองส่วนใหญ่ใน 31 จังหวัดของอิหร่าน สะท้อนถึงท่าทีผู้ชุมนุมที่ไม่หวาดกลัวคำเตือนจากทางการ โดยก่อนหน้านี้อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน ประกาศจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อกลุ่มผู้ประท้วง ในขณะที่โกลัมฮอสเซน โมเซนี เอเจอี หัวหน้าฝ่ายตุลาการ ประกาศย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการอย่างเด็ดขาดโดยไม่ผ่อนปรนกับผู้ยุยงให้เกิดการจลาจล
ด้านสหภาพครูอิหร่านออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้ครูและนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศหยุดการเรียนการสอนเพื่อประท้วง โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (26 กันยายน) ไปถึงวันพุธ (28 กันยายน) พร้อมเรียกร้องสหภาพการค้า ทหารผ่านศึก และเหล่าศิลปิน ร่วมการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรม
ทั้งนี้ รัฐบาลเตหะรานยังแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีของชาติตะวันตกที่แทรกแซงและสนับสนุนการประท้วงในอิหร่าน
โดย ฮอสเซน อามีร์อับดุลลาฮีอาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน วิจารณ์สหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนผู้ก่อจลาจล และพยายามบั่นทอนเสถียรภาพของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นจุดยืนที่ขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่พยายามเรียกร้องเสถียรภาพในภูมิภาค และฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านได้เรียกเอกอัครราชทูตอังกฤษเข้าพบ เพื่อประท้วงการรายงานข่าวในลักษณะที่ไม่เป็นมิตรของสื่อภาษาเปอร์เซียในลอนดอน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยืนยันว่าพวกเขาปกป้องเสรีภาพสื่อ และประณาม ‘การปราบปรามผู้ประท้วง นักข่าว และเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของอิหร่าน’
เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ที่ถูกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเรียกพบ เพื่อขอคำอธิบายต่อท่าทีในการแทรกแซงสถานการณ์ของมาซูด การัคนี ประธานรัฐสภานอร์เวย์ ที่มีเชื้อสายอิหร่านและเกิดในเตหะราน หลังจากที่เขาออกมาแสดงความเห็นและสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงผ่านทาง Twitter
ภาพ: AFP
อ้างอิง: