×

ที่ประชุม IPU รับรองการสร้างสันติภาพในเมียนมาเป็นวาระเร่งด่วน ขณะที่หลายประเทศสนใจคดีตากใบ

โดย THE STANDARD TEAM
16.10.2024
  • LOADING...
กัณวีร์ สืบแสง
วันนี้ (16 ตุลาคม) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมสหภาพรัฐสภา หรือ IPU (Inter-Parliamentary Union) เห็นชอบให้บรรจุหัวข้อการสร้างสันติภาพในเมียนมาเป็นหนึ่งวาระเร่งด่วน (Emergency Items) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม 12+ ซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมอยู่ด้วย ทำให้ประเด็นเรื่องเมียนมาเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนในที่ประชุม IPU ในปีนี้ นอกเหนือจากปัญหาในยูเครนและตะวันออกกลาง

 

กัณวีร์ระบุว่า ตนได้ร่วมอภิปราย General Debate ในที่ประชุมใหญ่ IPU และได้สนับสนุนกลุ่มประเทศ 12+ ที่เสนอปัญหาสันติภาพในเมียนมา ในฐานะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาไทย และประเทศไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของเมียนมา พร้อมเน้นย้ำว่าเห็นด้วยกับการใช้จุดยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติให้ความสำคัญกับการใช้พหุภาคีในการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน

 

“เราจำเป็นต้องผลักดันวาระเมียนมา เพราะมีคนได้รับกระทบมากกว่า 18 ล้านคน กว่า 3 ล้านคนพลัดถิ่นในเมียนมา และชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคนต้องลี้ภัยในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงชาวเมียนมาที่ลี้ภัยมาในประเทศไทยจำนวนมาก” กัณวีร์กล่าว

 

กัณวีร์ได้แสดงจุดยืนว่า การจะนำสันติภาพมาอย่างแท้จริงต้องมีส่วนร่วมจากคนเมียนมาในการนำเสนอและสร้างความร่วมมือเพื่อแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตนเองได้ร้องขอความเห็นใจ ความสนใจของเวทีระหว่างประเทศ ให้ประชาชนในประเทศเมียนมาได้มีส่วนร่วม ทำให้ได้รับการขอบคุณจากสมาชิกรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG (National Unity Government of Myanmar) รัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้

 

สำหรับขั้นตอนต่อไป ที่ประชุมสมาชิกสหภาพรัฐสภาจะให้การรับรองวาระเร่งด่วนทั้ง 3 ประเด็น โดยวาระการสร้างสันติภาพในเมียนมาจะเป็นสัญญาที่แต่ละประเทศในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะนำไปเสนอและผลักดันต่อฝ่ายบริหาร รวมถึงรัฐสภาไทย

 

“ผมจะเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลจะตอบรับ เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประกาศในที่ประชุมอาเซียนไปแล้วว่าจะมีบทบาทในเรื่องนี้” กัณวีร์ระบุ

 

กัณวีร์ยังเปิดเผยว่า ในส่วนคดีตากใบ ตนเองมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสมาชิกในคณะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL (International Humanitarian Law) ว่า คดีนี้กำลังจะหมดอายุความ ซึ่งหลายประเทศรับทราบเรื่องนี้ และสอบถามว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไรต่อ รวมถึงทางเคนยาก็เสนอต่อที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ในที่ประชุมกลุ่มย่อย

 

“ผมบอกไปด้วยว่าประเทศไทยใช้กฎอัยการศึกมา 20 ปีแล้ว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เวทีระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เราควรใช้กลไกนี้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ เราจะสามารถเพิ่มความตระหนักรู้ เพิ่มโอกาสการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ เพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลกให้มากขึ้นอย่างสง่างาม” กัณวีร์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X