×

‘VI-รายใหญ่’ เชื่อตลาด IPO ยังฟีเวอร์อีกนาน แต่อาจไม่ใช่หุ้นเหมาะถือลงทุนระยะยาว

09.05.2021
  • LOADING...
VI-รายใหญ่

ตลาดหุ้น IPO หรือหุ้นใหม่ยังคงคึกคักต่อเนื่อง แม้ภาพรวมตลาดหุ้นไทยจะผันผวน สลับกับการซึมตัว และเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลออก โดยตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน มีหุ้น IPO เข้าระดมทุนใน SET และ mai รวม 10 บริษัท ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งและอยู่ระหว่างรอสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติ พบว่ามีเข้าคิวอยู่ราว 18 บริษัท 

 

และตัวเลขเฉพาะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 เมษายน-7 พฤษภาคม) มีหุ้น IPO เข้าซื้อใน SET และ mai ถึง 5 บริษัท ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สะท้อนจากราคาเปิดการซื้อขายวันแรกที่ปรับเพิ่มขึ้น 150-200% จากราคา IPO 

 

อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘นิ้วโป้ง’ กล่าวว่า กระแสหุ้น IPO ระยะนี้ถือว่าร้อนแรง เป็นที่สนใจของนักลงทุน สะท้อนจากความเคลื่อนไหวราคาหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นในวันเข้าซื้อขายวันแรกค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับทุกบริษัทที่ขายหุ้น IPO 

 

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มี 3 ข้อสังเกตที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินความร้อนแรงของหุ้น IPO ได้ 

 

ข้อแรกคือ การกระจายหุ้นและการตอบรับ ซึ่งปกติแล้วหุ้น IPO จะเสนอขายผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่าย ซึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ดังนั้นผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นส่วนมากจะเป็นนักลงทุนที่มีบัญชีหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆ และพอร์ตหุ้นมีความแอ็กทีฟสูง ข้อสังเกตคือ หากนักลงทุนทั่วไปได้รับการเสนอขายหุ้น IPO แม้จะไม่ใช่เจ้าของพอร์ตหุ้นที่แอ็กทีฟ นั่นอาจสะท้อนว่าหุ้น IPO นั้นไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของนักลงทุนรายอื่น เมื่อเข้ามาซื้อขาย ราคาอาจไม่ร้อนแรงตามคาด

 

ข้อสอง ในสภาวะที่ตลาดหุ้นอยู่ในอารมณ์ตึงตัว ไร้ไอเดียใหม่ มักจะเป็นสภาวะที่หุ้น IPO ได้รับความสนใจสูงเสมอ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยพื้นฐานและลักษณะการประกอบธุรกิจก็มีผลต่อการตอบรับจากนักลงทุนเช่นกัน 

 

ข้อสามคือ หุ้นที่ IPO เข้า mai ส่วนใหญ่จะมีเคลื่อนไหวทิศทางบวกมากกว่าหุ้นที่เข้าใน SET เนื่องจากหุ้นไซส์เล็กอาศัยมูลค่าการซื้อขายไม่มากก็สามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ 

 

อธิปกล่าวถึงกระแสความสนใจในหุ้น TIDLOR ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ว่า หากประเมินตามข้อสังเกตเรื่องการกระจายหุ้นและการตอบรับ สิ่งที่ TIDLOR เหมือนกับ OR คือการกระจายหุ้นสู่มหาชน เน้นให้นักลงทุนรายย่อยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของหุ้น แต่สิ่งที่ต่างกันชัดเจนคือเสียงตอบรับหลังการจัดสรร

 

โดยกรณี OR ภายหลังการจัดสรรพบว่านักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยมีเสียงสะท้อนว่าต้องการหุ้นเพิ่ม, ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่ากลุ่มนี้ต้องเข้าซื้อหุ้นในกระดานเพื่อให้ได้หุ้นตามสัดส่วนที่ต้องการ 

 

ส่วนกรณีของ TIDLOR ผู้ที่ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้นคือนักลงทุนทั่วไปเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถคาดเดาพฤติกรรมได้ว่าจะเข้ามาไล่ซื้อในกระดานหรือไม่ 

 

“เชื่อว่าหุ้น IPO ยังได้กระแสความสนใจอีกระยะหนึ่ง เพราะสถานการณ์โควิด-19 น่าจะอยู่อีกนาน มีหลายคนเริ่มประเมินว่าน่าจะมี Wave 4 Wave 5 ตลาดหุ้นเกิดสภาวการณ์ไร้ไอเดียใหม่เทรดหุ้น ส่วนหุ้นไหนจะกระแสแรงเพียงใด ก็ประเมินได้จาก 3 ข้อสังเกตดังที่กล่าว”

 

นอกจากนี้ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุนในหุ้น IPO โดยนักลงทุนควรศึกษาธุรกิจของบริษัทที่สนใจให้ถ่องแท้ และลงทุนบนพื้นฐานความรู้และความเชื่อมั่นใจธีมอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1-3 ปี

 

หลักการลงทุนในหุ้นอย่างมีประสิทธิภาพคือ รู้จังหวะการขายเพื่อรับผลตอบแทนเมื่อ 1. ราคาปรับตัวสูงมากเกินไป (Overvalue) 2. ปัจจัยพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลง (Fundamental Change) 3. มีหุ้นอื่นที่น่าลงทุนมากกว่า (Better Opportunity)

 

“การจะลงทุนหุ้น IPO ต้องแยกให้ออกว่าเราลงทุนด้วย Trend หรือ Fasion ถ้าลงทุนด้วย Trend ก็ควรเป็น Trend ที่เชื่อมั่นได้ใน 1-3 ปี เพราะทุกธุรกิจมีวัฏจักรเสมอ ส่วนถ้าลงทุนด้วย Fashion ก็ควรประเมินและตัดสินใจอย่างรวดเร็วเมื่อเข้า 1ใน 3 เงื่อนไข”​ 

 

สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ เสี่ยปู่ นักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นที่รู้จักดีในตลาดหุ้นไทย กล่าวว่า ไม่ว่ากระแสหุ้น IPO จะร้อนแรงเพียงใด ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจคือการเติบโตของผลประกอบการ ซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทได้เป็นอย่างดี

 

ในส่วนของการลงทุนหุ้น IPO นั้น มีทั้งได้รับการจัดสรรหุ้นและเข้าลงทุนเพิ่มในกระดาน โดยยึดหลักการเลือกหุ้นที่มีการเติบโตของกำไรราว 40-50% อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นต้องไม่สูงมากเกินไป 

 

“ตอนนี้หุ้น IPO ที่เข้ามาซื้อขายก็กระแสดี ราคาปรับเพิ่มขึ้นโดดเด่น ในการเลือกลงทุนจะเลือกจากแนวโน้มการเติบโตของกำไรก่อน จากนั้นค่อยดูราคาหุ้น หากสูงเกินไป เช่น สูงกว่าราคา IPO มากกว่า 100% ก็จะรอให้ราคาสะท้อนปัจจัยพื้นในปัจจุบันของบริษัทก่อนค่อยเข้าลงทุนก็ไม่สาย” 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising