บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP ผู้นำผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวของประเทศไทย กำหนดกรอบราคาเสนอขายหุ้น IPO ในช่วง 8.70-9.20 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 7-9 กรกฎาคม ที่ราคา 9.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของกรอบราคา ส่วนนักลงทุนสถาบันจองซื้อวันที่ 12-14 กรกฎาคม
วีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ของ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 8.70-9.20 บาทต่อหุ้น และเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อในวันที่ 7-9 กรกฎาคม ที่ราคา 9.20 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น
พร้อมกับทำการสำรวจความต้องการจองซื้อของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ซึ่งคาดว่าจะประกาศให้ทราบได้ภายในวันที่ 12 กรกฎาคม
ทั้งนี้ หากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะดำเนินการคืนเงินจองซื้อแก่นักลงทุนรายย่อยต่อไป โดย บล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 5 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย บล.เคทีบีเอสที, บล.กรุงศรี, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย), บล.คันทรี่ กรุ๊ป และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ส่วนนักลงทุนสถาบันจะจองซื้อในวันที่ 12-14 กรกฎาคม ที่ราคาเสนอขายสุดท้าย
ปัจจุบัน บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง มีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในบริษัทย่อย เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนาม อีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงิน และส่วนสุดท้ายก็จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SNNP กล่าวว่า พอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ประกอบด้วย เจเล่, คูลลี่คูล, ไดยาโมโตะ, ฮีโร่บอยส์ และฮีโร่บอยส์
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย เบนโตะ, ทาโกะ, โลตัส, ช๊อคกี้ และเบเกอรี่เฮาส์
บริษัทมีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นความเป็นเลิศทั้งในด้านคุณภาพและการบริการ รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นหนึ่งในใจของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่วงเวลาและโอกาสในการบริโภค ภายใต้ทีมวิจัยและพัฒนาที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าใหม่ที่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีระบบการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม อีกทั้งยังมีฐานการผลิตและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายสร้างรายได้แตะ 8 พันล้านบาท ภายในปี 2569
“การระดมทุนครั้งนี้จะทำให้ SNNP เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยต่อยอดแบรนด์สินค้าและแบรนด์พอร์ตโฟลิโอให้หลากหลายเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละประเทศ (Localization) รวมถึงสร้างความได้เปรียบจากการมีฐานการผลิตและระบบกระจายสินค้าที่ครอบคลุมในภูมิภาค CLMV ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายธุรกิจของ SNNP ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวแห่งอาเซียน”
ชยุตม์ หลีหเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบัญชีและการเงิน SNNP กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนมากกว่า 1.5 พันล้านบาท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สร้างฐานการผลิตและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งและมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนลงทุนระบบไอทีและนำ Data เข้ามาช่วยวิเคราะห์ตลาดได้อย่างแม่นยำ และด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่บริษัทวางไว้อย่างแข็งแกร่ง จะผลักดันให้ผลดำเนินงาน SNNP เติบโตอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายการเติบโตประมาณ 2 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2569) หรือมีรายได้ 8 พันล้านบาท ภายในปี 2569
ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 บริษัทมีรายได้รวม 1,239 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการขาย 1,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 172 ล้านบาท เป็นการทำกำไรเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 นับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินงาน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2563
โดยต้นทุนขายต่อรายได้อยู่ที่ 73.7% ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่อรายได้อยู่ที่ 20% หรือลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรสุทธิดังกล่าวมีรายการพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุนในบริษัทย่อยรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น 128 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล