×

คุณรู้เรื่องความปลอดภัยในการใช้ iPhone เหล่านี้หรือยัง?

16.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อควรรู้เพื่อความปลอดภัย และปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณในการใช้ iPhone และเคล็ดลับในการใช้อย่างปลอดภัยที่คุณอาจไม่เคยรู้
  • ทาง Apple แนะนำผู้ใช้ว่าให้ทำการพิมพ์เสิร์ชผ่านแถบ URL จะปลอดภัยกว่าผ่านเสิร์ชเอนจิน
  • หากอยากรู้ว่าอุปกรณ์ที่คุณใช้จดจำสถานที่ไหนๆ ที่คุณไปบ้าง แนะนำให้เข้าไปสำรวจในหมวด Significant Locations ใน Settings ที่จะเผยให้เห็นสถานที่ที่คุณไปบ่อย หรือเป็นสถานที่ที่คุณน่าจะอยากจดจำ และสามารถเลือกที่จะลบสถานที่ดังกล่าวได้เช่นกันหากต้องการ

มีการรายงานล่าสุดว่ามีผู้ใช้ iPhone กว่า 700 ล้านคนทั่วโลกในปัจจุบัน จริงอยู่ที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับความชาญฉลาดของโทรศัพท์มือถือ ทั้งระบบรหัสผ่าน ลายนิ้วมือ และตรวจสอบใบหน้า แต่เมื่อเร็วๆ นี้ CNN เผยว่าแม้แอปพลิเคชันที่ออกตัวว่าเข้ารหัสอย่างปลอดภัยอย่าง WhatsApp ยังมีระบบที่ไม่แข็งแรงพอทำให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ของคุณได้

 

ว่าแต่คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความปลอดภัยของ iPhone ที่ถืออยู่?

 

Apple เผยกฎหลักด้านความปลอดภัย 5 ข้อ

ไม่นานมานี้ Apple ได้ออกมาทำแคมเปญที่นำเสนอถึงนโยบายด้านความปลอดภัยของการใช้เครื่องมือสื่อสารให้กับผู้ใช้ โดยระบุว่าในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ ทางทีมงานและผู้เชี่ยวชาญของ Apple ได้ออกแบบมาควบคู่กับเทคโนโลยีและการบริการเพื่อปกป้องสิทธิและความปลอดภัยของผู้ใช้โดยเฉพาะ โดยระบุอีกด้วยว่าทางบริษัทเองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ได้ เนื่องด้วยการออกแบบที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อ

 

 

1. Processing Data on the Device อันหมายถึงการประมวลข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนอุปกรณ์สื่อสารเครื่องนั้นๆ เท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้แต่ละคนใช้ได้ง่ายขึ้น

 

2. Minimizing Personal Data Collection เก็บข้อมูลผู้ใช้ในระบบให้น้อยที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบตัวโปรดักต์เบื้องต้น ซึ่งโดยปกติจะเก็บข้อมูลเพื่อให้การใช้งานง่ายขึ้นกับตัวบุคคล

 

3. Disassociating the User from their Data ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน Apple เปิดเผยว่าทำโดยไม่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว เช่น จัดเก็บสิ่งที่คุณบอกกับ Siri รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่อ่าน หรือเห็นข้อมูลในการเสิร์ชหาบนเบราว์เซอร์ และพิกัดที่อยู่ของผู้ใช้งาน

 

4. Transparency and Control ในกรณีที่ต้องการเกิดการใช้ข้อมูลบนเครื่องอุปกรณ์หรือบนคลาวด์จะมีการแจ้งให้ทราบ และขออนุญาตจากผู้ใช้ก่อน เพื่อให้ทางเลือกในการควบคุมข้อมูลส่วนตัวดังกล่าว

 

5. Securing and Protecting the Data ทำการป้องกันข้อมูลของผู้ใช้ด้วยการเข้ารหัสข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ใช้งานจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวบนเครื่องได้อย่างปลอดภัย อาทิ รูปภาพ ข้อมูลสุขภาพ และตัวเลขทางการเงิน เป็นต้น

 

แต่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น เราควรรู้อะไรอีกบ้าง?

 

 

เซิร์ฟอย่างปลอดภัย

มีคนมากมายที่ใช้เบราว์เซอร์ดูเว็บไซต์ต่างๆ แต่มักไม่รู้ว่าถูกติดตามผ่านกลไกที่แปะอยู่บนเว็บ ซึ่งสามารถรู้ได้ว่าคุณอยู่ที่ใด หรือกระทั่งว่าอ่านอยู่ด้วยฟอนต์อะไร ขนาดเท่าใด ซึ่ง Apple อ้างว่าเบราว์เซอร์บน iOS อย่าง Safari เป็นเบราว์เซอร์แรกที่ทำการบล็อก Third-Party Cookies เป็นมาตรฐาน และผู้ใช้ยังสามารถเลือกใช้โหมด Private Browsing ที่ปกปิดตัวตน และสามารถป้องกันเว็บไซต์ที่น่าสงสัยไม่ให้ทำการอ่านข้อมูล และยังเป็นเบราว์เซอร์แรกที่ให้ผู้ใช้เลือกบิลด์อินอย่าง DuckDuckGo ที่ให้เสิร์ชได้อย่างไม่ถูกติดตาม (ลองเสิร์ชและเลือกใช้กันได้ง่ายๆ)

 

นอกจากนั้นหากต้องเปิดเผยตำแหน่งของคุณผ่าน Safari จะเด้งข้อความขึ้นมาถามก่อน ซึ่งคุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้เว็บไซต์นั้นทราบข้อมูลนั้นๆ หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลบน Safari จะไม่ถูกส่งต่อให้กับนักพัฒนาเช่นว่าคุณเข้าไปชมเว็บช้อปปิ้งไหน เว็บขี้เหงาไหน เป็นต้นนั่นเอง

 

และไม่ใช่เราคนเดียวแน่ที่สังเกตเห็นว่าเมื่อเริ่มดูสินค้าใดสินค้าหนึ่ง เจ้าสินค้านั้นกลับติดตามหลอกหลอนคุณไปทุกที่ ไม่ว่าจะเข้าเว็บไหน…ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยลงผ่าน Safari ด้วยการบล็อกการติดตามผ่าน cookie (บางเว็บมีมากกว่า 100 กว่าแทร็กเกอร์เลยทีเดียว) ด้วยสิ่งที่เรียกว่า Intelligent Tracking Prevention ที่อยู่ในระบบปฏิบัติการ iOS 11 และ macOS Sierra

 

Tip: ทาง Apple แนะนำผู้ใช้ว่าให้ทำการพิมพ์เสิร์ชผ่านแถบ URL จะปลอดภัยกว่าผ่านเสิร์ชเอนจิน

 

 

ข้อความของฉันและเธอ

iMessage อาจไม่เป็นที่นิยมมากนักในบ้านเรา ต่างกับในแถบอเมริกาเหนือ เนื่องด้วยคนไทยและเอเชียนิยมแลกเปลี่ยนข้อความและสติกเกอร์กันผ่านทางแอปพลิเคชันอย่าง LINE, WhatsApp, Facebook Messenger หรือ Weibo เสียมากกว่า แต่ควรรู้สักนิดว่าข้อความใน iMessage และ FaceTime นั้นเข้ารหัสแบบ end-to-end encryption ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (เช่นเดียวกับ LINE และ WhatsApp) ในทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกัน ทำให้คนอื่นหรือคนกลางไม่สามารถเข้าถึงได้หากไม่ใช้ผ่านอุปกรณ์ที่ส่งหากันนั้นๆ

 

เหนือจากนั้นแล้วแอปพลิเคชันเสริมอื่นๆ ที่เข้ามาใช้โหมดของ iMessage ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้หรือบทสนทนาที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการสุ่มไม่บอกตัวตนของผู้ใช้ และจะถูกล้างออกทันทีที่แอปพลิเคชันถูกลบออกจากเครื่อง

 

 

เซลฟี่ได้ไม่มีหลุด

การที่สมาร์ทโฟนของคุณจะทำการฉลองครบรอบ 1 ปี วนภาพย้อนหลังเก่าๆ มาให้ดูด้วยฟีเจอร์อย่าง Memories หรือ Sharing Suggestions ได้นั้น เกิดจากเทคโนโลยี และกว่า 1,000,000,000 กระบวนการผ่าน Apple Neutral Engine ที่ฝังอยู่ในตัวเครื่องนั้นๆ ทำให้สามารถสแกนภาพต่างๆ ระบุได้ว่านี่คือ อาหาร สุนัข กระทั่งเสื้อชั้นใน ทั้งยังระบุใบหน้าคนสำคัญๆ ทั้งหลายในเครื่อง และสถานที่ที่แชะภาพความทรงจำเหล่านั้น ซึ่งโหมดนี้จะทำการแชร์กับ iCloud Photos เท่านั้นหากคุณทำการเปิดมัน และจะทำการอัปเดตเฟิร์มแวร์สม่ำเสมอในการอัปเดตระบบปฏิบัติการแต่ละครั้ง

 

และตั้งแต่ระบบปฏิบัติการรุ่น iOS 11 เป็นต้นไป แอปพลิเคชันจะสามารถเข้าถึงรูปภาพได้ทีละภาพเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด และว่าง่ายๆ คือคุณจะต้องกดอนุญาตให้แอปฯ เหล่านี้เข้าถึงได้ก่อนนั่นเอง

 

Tip: เคยสงสัยไหมว่าเมื่อเราเก็บภาพเข้า iCloud แล้ว ทาง Apple สามารถเข้าถึงได้หรือไม่? คำตอบจาก Apple คือ “ไม่” ทั้งยังเสริมอีกว่า เนื่องจากภาพที่อยู่ใน iCloud จะผ่านการเข้ารหัสชั้นสูง (นอกเหนือจากรหัสผ่านของคุณที่มีแค่คุณที่รู้) ทำให้ตัวผู้ผลิตเองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เช่นกัน

 

 

อยู่ที่ไหนก็ไม่มีคนติดตาม

เมื่อใช้แผนที่บน Maps เราไม่ต้องกด Sign in เข้าไปใช้ ดังนั้นแอปพลิเคชันนี้จะเก็บข้อมูลเมื่อตอนที่คุณเปิดใช้เท่านั้น เช่น ตอนเสิร์ช บอกเส้นทาง หรือหาข้อมูลการจราจรต่างๆ และระบบจะทำการ ‘เบลอ’ นั่นคือไม่เจาะจงว่าคนที่ใช้อยู่เป็นใครกันแน่ และไม่ต่อกับบัญชี Apple ของคุณ และทุกๆ ไม่กี่นาทีก็จะเปลี่ยนรหัสตำแหน่งการสุ่ม ไม่ให้เจาะจงได้ว่าคนดังกล่าวคือใคร

 

สมมติว่าคุณมาร์กโลเคชันว่า ‘ที่ทำงาน’ หมุดปักนั้นจะไม่ได้เจาะจงว่าซอยไหน สุดซอยหรือต้นซอย แต่จะแสดงให้เห็นคร่าวๆ ว่าอยู่ในละแวกนี้เป็นภาพรวมที่อยู่ในกลุ่มคนหมู่มาก จากที่ดูเหมือน 1 คน กลายเป็น 1,000 คนเป็นต้น เพื่อความปลอดภัย

 

ส่วนแอปพลิเคชันอย่าง Grab หรือ Uber จะทำการแสดงผลจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง ผ่านการอนุญาตให้ใช้โลเคชันก่อน เป็นต้นนอกจากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะอยู่บนอุปกรณ์ของคุณ ไม่ได้ถูกจัดเก็บในระบบของ Apple ที่จะมีแค่ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่นั้นๆ

 

Tip: หากอยากรู้ว่าอุปกรณ์ที่คุณใช้จดจำสถานที่ไหนๆ ที่คุณไปบ้าง? แนะนำให้เข้าไปสำรวจในหมวด Significant Locations ใน Settings ที่จะเผยให้เห็นสถานที่ที่คุณไปบ่อย หรือเป็นสถานที่ที่คุณน่าจะอยากจดจำ และสามารถเลือกที่จะลบสถานที่ดังกล่าวได้เช่นกันหากต้องการ

 

 

เราควรรู้อะไรอีก?

  • แม้จะมีแอปพลิเคชันมากมายให้คุณโหลดอยู่บนแอปสโตร์ แต่ Apple จะป้องกันความปลอดภัยได้ทั่วถึงได้อย่างไร? คำตอบคือแอปฯ เหล่านั้นต้องขออนุญาตการเข้าถึงรูปภาพ เสียง กล้อง โลเคชัน ฯลฯ ของคุณให้คุณรับทราบและกดยินยอมเสียก่อน และหากมีการละเมิดกฎความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แอปฯ ดังกล่าวอาจถูกดึงออกจากแอปสโตร์ได้เช่นกัน
  • แล้ว iCloud ล่ะ? Apple ระบุว่าข้อมูลที่จัดเก็บอยู่บน iCloud ใช้กระบวนการปลอดภัยขั้นสูงที่ทำให้แม้ตัวผู้สร้างเองไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หากปราศจากพาสเวิร์ดที่คุณตั้ง อันเป็นปราการป้องกันความปลอดภัยระดับแรก ซึ่งการเข้าถึง iCloud ยังต้องมีการยืนยันจากอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใส่รหัสในการเข้าถึงอีกด้วย
  • แล้วถ้าพวกเขาเห็นข้อมูลล่ะ? จุดนี้มีการระบุว่าแม้จะบังเอิญเข้าถึงข้อมูลได้ ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าคนคนนั้นเป็นใครผ่านการออกแบบที่คิดมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อไม่ให้ระบุตัวบุคคลที่ใช้ได้ อาทิ การใช้ 2 Factor Authentication หรือ 2FA ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการยืนยันตนที่ผู้ใช้งานต้องใส่รหัสอีกชุดหนึ่งนอกเหนือจากพาสเวิร์ด ซึ่งรหัสนั้นจะหมดอายุในเวลาราวๆ 20 วินาที เป็นต้น

 

สามารถศึกษาข้อมูลความปลอดภัย ประดับความรู้เพิ่มเติมได้ที่ www.apple.com/th/privacy

 

อ่านเรื่อง #คิดก่อนแชร์ 4 สิ่งที่ไม่ควรแชร์บนโซเชียลมีเดีย ได้ที่นี่

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising