ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่คนไทยให้ความสนใจก็คือการออกมาเปิดเผยของสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำอย่างทวิตเตอร์ ถึงการตรวจเจอบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการ IO (Information Operations) ใน 5 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปิดโปงเกี่ยวกับปฏิบัติการ IO ตามสื่อโซเชียลมีเดีย ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายองค์กรวิชาการ สำนักข่าว และบริษัทที่ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์เองได้สืบสวนและเปิดเผยถึงปฏิบัติการประเภทนี้มาแล้วหลายครั้ง และยังพบว่ามีรัฐบาลที่ข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้อยู่เกินกว่า 30 ประเทศ ในบรรดาประเทศเหล่านี้ หนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจที่สุดก็คืออีกหนึ่งประเทศอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์
ปฏิบัติการ IO ในฟิลิปปินส์ถูกสืบสวนและเปิดโปงออกมาแล้วหลายระลอก สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ได้ตามปิดบัญชีผู้ใช้ แฟนเพจและกลุ่มที่ถูกตรวจพบความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองในฟิลิปปินส์ และมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จปั่นหัวประชาชนไปแล้วรวมกันหลายร้อยบัญชี แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าปฏิบัติการพวกนี้ในฟิลิปปินส์จะอ่อนแรงลงไป แถมยังมีแนวโน้มว่ากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโซเชียลมีเดียของโลก เพราะมีจำนวนประชากรที่ใช้งานสื่อโซเชียลและใช้เวลาอยู่กับสื่อเหล่านี้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกติดต่อกันมาหลายปี แต่นี่ก็ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของปฏิบัติการ IO และปฏิบัติการการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอมเช่นกัน ชาวฟิลิปปินส์เองก็รู้กันดีว่าปฏิบัติการเหล่านี้แพร่กระจายอยู่ตามหน้าสื่อโซเชียลในประเทศตัวเองจำนวนมาก แต่ที่นั่นคำว่า IO ไม่ได้เป็นคำที่นิยมใช้มากนัก คนฟิลิปปินส์มักจะเรียกปฏิบัติการเหล่านี้ติดปากกันว่า Keyboard Armies หรือ Troll Armies ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยประมาณว่ากองทัพนักเลงคีย์บอร์ด
ปรากฏการณ์การเติบโตของกองทัพคีย์บอร์ดในฟิลิปปินส์จัดว่ามีความพิเศษกว่าในประเทศอื่นๆ จนเรียกได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในระดับโลก หากมองย้อนไปในปี 2559 การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขึ้นครองอำนาจ ถูกมองว่าคือจุดเริ่มต้นของการเติบโตของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนสื่อโซเชียลทั่วโลก แต่ถ้าลองดูดีๆ ปฏิบัติการเหล่านี้ได้แพร่กระจายในฟิลิปปินส์อย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนับย้อนไปตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันเข้าคูหาในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งนับว่าเกิดขึ้นก่อน Brexit และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีเดียวกัน ที่ทำให้ เคที ฮาร์บาท ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเลือกตั้งระดับโลกของเฟซบุ๊กเปรียบเปรยว่า ถ้าสงครามปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเท็จบนโลกออนไลน์คือโรคระบาดระดับโลก ฟิลิปปินส์ก็คือผู้ติดเชื้อหมายเลข 0 (Patient Zero) และที่ผ่านมาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารแทรกแซงการเลือกตั้งจากหลายแหล่งก็ได้ใช้ฟิลิปปินส์เป็นสถานที่ทดสอบปฏิบัติการก่อนที่จะนำออกไปใช้ในประเทศอื่นๆ เพราะจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่สูงมาก รวมไปถึงปัจจัยเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันฟิลิปปินส์ก็ได้ถูกยกให้เป็นพื้นที่แนวหน้าของบรรดาบริษัทผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในการทำสงครามต่อต้านกับปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
การเลือกตั้งประธานาธิบดี 2559: จุดกำเนิดกองทัพคีย์บอร์ดในการเมืองฟิลิปปินส์
การใช้กองทัพคีย์บอร์ดสร้างโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในฟิลิปปินส์ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการหาเสียงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2559 ผู้ที่ใช้กลยุทธ์นี้ก็คือหนึ่งในผู้สมัครที่หลายคนรู้จักกันดีก็คือ โรดริโก ดูเตร์เต และวิธีนี้ยังมีส่วนช่วยให้เขาคว้าเก้าอี้ผู้นำประเทศไปครองได้สำเร็จด้วย
บุคคลผู้ปลุกปั้นกองทัพคีย์บอร์ดปั่นกระแสให้กับดูเตร์เตคือ นิค กาบูนาดา อดีตผู้บริหารสื่อมวลชนคนดังของฟิลิปปินส์ ผู้ผันตัวมาเป็นนักยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียให้กับทีมหาเสียงของดูเตร์เต ภายหลังจากชัยชนะของดูเตร์เต กาบูนาดาออกมาเปิดเผยด้วยตัวเองในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Rappler ว่าเขาสร้างเครือข่ายปฏิบัติการบนโลกออนไลน์ขึ้นมาด้วยเงินลงทุนประมาณ 10 ล้านเปโซ (ประมาณ 6.4 ล้านบาท) โดยใช้คนประมาณ 400-500 คนเป็นแกนหลัก ซึ่งมีทั้งคนฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในประเทศ และที่ไปใช้แรงงานอยู่ตามประเทศอื่นๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเครือข่ายคนของตัวเองช่วยกระจายข้อมูลแยกย่อยออกไปอีก แต่ละเครือข่ายมีการทำงานที่แยกกันเป็นเอกเทศ มีระบบบริหารจัดการต่างกัน และมีการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เท่ากัน สำนักข่าวท้องถิ่นฟิลิปปินส์บางแห่งได้สืบสวนและพบว่าคนที่รับจ้างเป็นกองทัพคียบอร์ดเท่าที่สำรวจได้จะได้รับค่าจ้างอยู่ในช่วงประมาณ 1,000-10,000 เปโซต่อเดือน (640-6,400 บาท) หรือบางคนอาจจะได้มากถึงเดือนละ 100,000 เปโซ (64,000 บาท)
กองทัพคีย์บอร์ดรับจ้างมีทั้งในรูปแบบของการสร้างเพจหรือกลุ่มขึ้นมาใหม่ และการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมที่มักใช้รูปโปรไฟล์เป็นคนดัง มีจำนวนเพื่อนเพียงไม่กี่คน และมักจะกดไลก์เพจคล้ายๆ กัน นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างเน็ตไอดอล อินฟลูเอนเซอร์ และเพจดังๆ ที่มีคนติดตามมาก่อนอยู่แล้ว และอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองมาก่อนให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลด้วย โดยมีเนื้อหาอวยดูเตร์เตหลายรูปแบบ ชื่นชมในนโยบายที่เขาใช้หาเสียง ใช้ข้อมูลเท็จต่างๆ มาสร้างภาพให้ดูเตร์เตดูดี ช่วยกันปั่นแฮชแท็กให้ติดเทรนด์ แถมยังโจมตีคนเห็นต่างด้วยถ้อยคำรุนแรงจนถึงขั้นข่มขู่คุกคาม และปั้นแต่งทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ รวมทั้งยังบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยเน้นพูดถึงข้อดีของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เนื่องจากตระกูลมาร์กอสถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของดูเตร์เตในการสู้ศึกประธานาธิบดีในตอนนั้น รูปแบบการเผยแพร่ข้อมูลบ่อยครั้งมักจะใช้วิธี Copy-Paste มาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้มักจะเห็นหลายบัญชีโพสต์ข้อความที่ซ้ำๆ กัน และบางสำนักข่าวท้องถิ่นยังสืบพบว่ามีการใช้ระบบอัตโนมัติหรือบอตช่วยเผยแพร่ข้อมูลด้วย
กาบูนาดาเคยพูดด้วยว่าเขาจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ เพราะงบประมาณในการหาเสียงมีจำกัดมาก และวิธีนี้ก็ทำให้ข้อมูลที่ต้องการสื่อสารเข้าถึงคนฟิลิปปินส์ได้จำนวนมากโดยไม่ต้องใช้งบมากเกินไป นอกจากกาบูนาดาแล้ว ดูเตร์เตเองก็เคยพูดยอมรับถึงเรื่องนี้เหมือนกันหลังจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาบอกว่าเขาใช้กลยุทธ์นี้เฉพาะในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น และไม่เคยได้เอามาใช้อีกในระหว่างที่เขาเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่ดูเตร์เตอ้าง
ยกระดับสู่ปฏิบัติการ IO โดยภาครัฐ
หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งที่ดูเตร์เตสามารถคว้าชัยได้สำเร็จ ปฏิบัติการของกองทัพคีย์บอร์ดอวยดูเตร์เตกลับยังคงปรากฏให้เห็นว่อนตามหน้าสื่อโซเชียลมีเดียของฟิลิปปินส์ และดูจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วย โดยการเปิดโปงปฏิบัติการโดยสื่อและสำนักวิชาการต่างๆ ก็ได้เกิดขึ้นหลายระลอกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กาบูนาดาไม่ได้หยุดทำงานให้กับดูเตร์เตหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปสิ้นสุดลง เขายังขยายเครือข่ายของกองทัพคีย์บอร์ดใหญ่ขึ้นไปอีก เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เฟซบุ๊กได้ออกแถลงการณ์ยืนยันในข้อเท็จจริงนี้ที่ว่าเครือข่ายของกาบูนาดาบนโซเชียลมีเดียยังคงทำงานอยู่ พร้อมกับสั่งปิดบัญชีผู้ใช้ แฟนเพจ และกลุ่มที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกาบูนาดาด้วย
นอกจากเครือข่ายกองทัพคีย์บอร์ดที่กาบูนาดาเอาต์ซอร์สประชาชนและอินฟลูเอนเซอร์หลายร้อยคนแล้ว รายงานทางวิชาการรวมถึงสำนักข่าวบางแหล่งยังเปิดเผยว่าปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อให้ประธานาธิบดีดูเตร์เตได้ถูกทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ตามหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เท่ากับว่าปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดของดูเตร์เตได้ยกระดับขึ้นมาเป็นปฏิบัติการ IO โดยภาครัฐอย่างเต็มตัว แต่ก็ยังมีวิธีการและเนื้อหาที่คล้ายๆ เดิมคือสรรเสริญเยินยอดูเตร์เต ปกป้องนโยบายของเขา และโจมตีฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ยังเริ่มมีเนื้อหาที่สนับสนุนให้ ซาราห์ ดูเตร์เต ลูกสาวของประธานาธิบดีดูเตร์เตลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี 2565 ด้วย
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ออกมาเปิดโปงว่าพบบัญชีผู้ใช้ แฟนเพจและกลุ่มที่ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงบุคคลในกองทัพและกรมตำรวจ โดยมักจดเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ผลงานกองทัพ การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย การสนับสนุนการออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย โดยดูเตร์เตที่ถูกวิจารณ์ว่านำไปสู่เพิ่มอำนาจประธานาธิบดี และการละเมิดสิทธิมนุษยชนง่ายขึ้น และยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษาและบุคคลต่างๆ จากขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล และทางกองทัพก็ได้ออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้
กองทัพคีย์บอร์ดฟิลิปปินส์ ธุรกิจดาวรุ่งมาแรง เตรียมโกอินเตอร์
ปัจจุบันนี้การใช้กลยุทธ์กองทัพคีย์บอร์ดปั่นกระแสให้ตัวเองไม่ได้ถูกใช้โดยดูเตร์เตและนักการเมืองขั้วเดียวกันกับเขาเท่านั้น เมื่อเห็นดูเตร์เตประสบความสำเร็จในการใช้กลยุทธ์นี้ นักการเมืองในขั้วตรงข้ามและบุคคลฝั่งต่อต้านรัฐบาลต่างๆ ก็กลับเลือกที่จะใช้วิธีเดียวกันกับดูเตร์เตด้วย บางคนที่มีกำลังทรัพย์และกำลังคนมากพอก็ดำเนินการด้วยตัวเอง แต่หลายๆ คนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ก็ได้ใช้วิธีว่าจ้างบรรดาบริษัทด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือกระทั่งคอลเซ็นเตอร์ช่วยทำให้ หลายบริษัทไม่ได้รับจ้างให้กับนักการเมืองแค่คนเดียว แต่ทำให้กับนักการเมืองหลายคนในคราวเดียวกัน และไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในขั้วการเมืองเดียวกัน นี่ทำให้ธุรกิจกองทัพคีย์บอร์ดกำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มูลค่ามหาศาลในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปี 2562 แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองคนอื่นๆ จะยังทำได้ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าดูเตร์เต
ความเฟื่องฟูของธุรกิจกองทัพคีย์บอร์ดกำลังทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจที่สุดในการศึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารปลอมและโฆษณาชวนเชื่อบนโลกออนไลน์ องค์กรคลังปัญญาที่สนับสนุนโดยองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้ศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจดังกล่าวรุ่งเรืองในฟิลิปปินส์ โดยสรุปออกมาได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก
ประการแรกคือการเมืองฟิลิปปินส์เน้นภาพลักษณ์และตัวตนของนักการเมืองมากกว่าตัวนโยบายหรืออุดมการณ์ ทำให้บรรดานักการเมืองฟิลิปปินส์ต้องใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยโปรโมตความเป็นตัวเองกันมาก
ประการที่สองคือคนฟิลิปปินส์สั่งสมความไม่พอใจในความย่ำแย่ของการเมืองและสภาพบ้านเมืองของตัวเองมายาวนาน กองทัพคียบอร์ดจึงเห็นช่องทางตรงนี้เผยแพร่ข้อมูลที่จี้จุดความไม่พอใจประชาชน และโหมโฆษณาชวนเชื่อให้กับนักการเมืองสายประชานิยมอย่างเช่นดูเตร์เตว่าเขาจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างไร
และประการสุดท้ายก็คือฟิลิปปินส์อุดมไปด้วยแรงงานในภาคดิจิทัล แต่ส่วนมากกลับไม่ได้มีรายได้ สวัสดิการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี อีกทั้งตัวงานก็ไม่ค่อยเอื้อให้พัฒนาทักษะและเติบโตในสายงานมากนัก นี่ทำให้แรงงานในภาคดิจิทัลหลายคนยอมรับจ้างสร้างโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองออนไลน์เป็นช่องทางทำกินเสริม
ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สำนักข่าว Washington Post ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง ‘Why crafty Internet trolls in the Philippines may be coming to the website near you’ โดยมีเนื้อความว่าธุรกิจกองทัพคีย์บอร์ดเพื่อโน้มน้าวแนวคิดทางการเมืองในฟิลิปปินส์กำลังจะไม่ได้จำกัดแค่ในระดับประเทศเท่านั้น แต่มีแนวโน้มจะถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ หลายธุรกิจที่ให้บริการดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวว่า หลังจากที่ประสบความสำเร็จในประเทศตัวเอง พวกเขามีแผนที่จะรับจ้างให้กับต่างชาติด้วย โดยมีข้อได้เปรียบคือแรงงานหนุ่มสาวในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษกันคล่องแคล่ว บางธุรกิจยังออกมาเปิดเผยว่าตอนนี้มีลูกค้าต่างชาติเริ่มเข้าไปติดต่อพวกเขาแล้ว หลายปีมานี้ฟิลิปปินส์ได้ใช้ความได้เปรียบด้านภาษาส่งให้ตัวเองเป็นฮับของธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ของโลก แต่ในอนาคตอันใกล้ฟิลิปปินส์อาจใช้ข้อได้เปรียบเดียวกันขยับขึ้นเป็นฮับของปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองทั่วโลกด้วย
กองทัพคีย์บอร์ด เสรีภาพของประชาชนที่หดหาย และความแตกแยกที่ร้าวลึก
ปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดที่เข้าครอบงำภูมิทัศน์การเมืองของฟิลิปปินส์ในยุคของดูเตร์เตสะท้อนถึงสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่กำลังหดแคบลงทุกขณะ แม้ดูเตร์เตจะมาจากการเลือกตั้งแบบเสรีและระบบการเมืองของฟิลิปปินส์ก็ยังจัดว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ แต่ดูเตร์เตกลับมีแนวคิดและการกระทำหลายอย่างที่โน้มเอียงไปในทางเผด็จการ จนถูกคนฟิลิปปินส์ส่วนหนึ่งมองว่าเขากำลังพาฟิลิปปินส์กลับไปในยุคของเผด็จการเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส การจัดตั้งปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดโดยเครือข่ายอำนาจของดูเตร์เตก็เป็นส่วนหนึ่ง การใช้กองทัพ IO ถล่ม ข่มขู่คุกคามประชาชน นักเคลื่อนไหว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงบรรดาเอ็นจีโอต่างๆ ก็คือความพยายามปิดปากผู้คนไม่ให้แสดงความเห็นที่แตกต่างในทางอ้อม
ทุกวันนี้คนฟิลิปปินส์แตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ คือฝ่ายที่เชียร์กับฝ่ายที่ต่อต้านดูเตร์เต คนที่เชียร์ดูเตร์เตมักจะถูกเรียกว่า ‘Dutertard’ ซึ่งเป็นคำสนธิระหว่างคำว่า Duterte (ดูเตร์เต) กับ Retard (คนโง่) ขณะที่ฝั่งที่ไม่เอาดูเตร์เตก็ถูกอีกกลุ่มเรียกว่า ‘Yellowtard’ ที่มาจาก Yellow (สีเหลืองซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของพรรคลิเบอรัล คู่ปรับของดูเตร์เต) กับ Retard
ตอนนี้ปฏิบัติการ IO ของฝั่งรัฐบาลดูเตร์เตกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เราอาจยังมองไม่เห็นผลลัพธ์ที่แน่ชัดว่าปฏิบัติการนี้ชักจูงคนฟิลิปปินส์ให้หันไปเชียร์ดูเตร์เตมากขนาดไหน หากเป็นคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ต่อต้านดูเตร์เตเหนียวแน่นก็ไม่อาจถูก IO ของรัฐหว่านล้อมได้ง่ายๆ แต่ที่เห็นได้ชัดแน่ๆ ก็คือว่าปฏิบัติการกองทัพคีย์บอร์ดกำลังโหมไฟแห่งความเกลียดชัง ซ้ำเติมความแตกแยกทางการเมืองระหว่างคนต่างฝ่ายในฟิลิปปินส์ให้ร้าวลึกลงไปทุกวัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.rappler.com/nation/propaganda-war-weaponizing-internet
- https://www.rappler.com/newsbreak/facebook-algorithms-impact-democracy
- https://www.rappler.com/newsbreak/investigative/fake-accounts-manufactured-reality-social-media
- https://www.rappler.com/newsbreak/podcasts-videos/rodrigo-duterte-social-media-campaign-nic-gabunada
- https://about.fb.com/news/2020/09/removing-coordinated-inauthentic-behavior-china-philippines/
- https://about.fb.com/news/2019/03/cib-from-the-philippines/
- https://medium.com/graphika-team/archives-facebook-finds-coordinated-and-inauthentic-behavior-in-the-philippines-suspends-a-set-d02f41f527df
- https://freedomhouse.org/country/philippines/freedom-net/2019
- https://www.buzzfeednews.com/article/craigsilverman/2020-philippines-disinformation
- https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/why-crafty-internet-trolls-in-the-philippines-may-be-coming-to-a-website-near-you/2019/07/25/c5d42ee2-5c53-11e9-98d4-844088d135f2_story.html
- https://news.abs-cbn.com/blogs/opinions/04/01/19/opinion-nic-gabunadas-amazing-social-media-network
- https://opinion.inquirer.net/130552/troll-farm-pandemic
- https://international.thenewslens.com/article/103500
- https://international.thenewslens.com/article/113345
- Samantha Bradshaw & Philip N. Howard, Troops, Trolls and Troublemakers: A Global Inventory of Organized Social Media Manipulation. Samuel Woolley and Philip N. Howard, Eds. Working Paper 2017.12. Oxford, UK: Project on Computational Propaganda.
- Janjira Sombatpoonsiri. Manipulating Civic Space: Cyber Trolling in Thailand and the Philippines. German Institute of Global and Area Studies (GIGA), 2018.
- Jonathan Ong, Ross Tapsell & Nicole Curato. Tracking digital disinformation in the 2019 Philippine Midterm Election, 2019.
- Jonathan Corpus Ong, Jason Vincent A.Cabañes. Politics and Profit in the Fake News Factory: Four Work Models of Political Trolling in the Philippines, NATO Strategic Communication of Excellence, 2019.