นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เรียกความสนใจจากทั่วโลกได้ทันที เมื่อบรรดารัฐมนตรีคลังจากกลุ่มชาติเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อปฏิรูประบบภาษีโลก ซึ่งจะได้สอดคล้องเหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล และเป็นการยกระดับมาตรฐานการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับทุกประเทศทั่วโลกอีกทางหนึ่งด้วย
สถานีโทรทัศน์ CNN รวบรวมความคิดเห็นของบรรดานักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดที่ส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่า ข้อตกลงในเรื่องการปฏิรูปภาษีถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ค่อยถูกใจและออกจะหวาดวิตกเสียมากกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้โดยรวมของบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย
ทั้งนี้ หลังจากเป็นที่ถกเถียงกันมานานร่วมหลายปีว่าสมควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบมาตรการภาษีที่บริษัทต่างๆ ต้องเสียภาษี ไม่เฉพาะแต่เพียงประเทศที่บริษัทเข้าไปตั้งสำนักงานอยู่เท่านั้น แต่หมายรวมให้กับประเทศที่ตนเข้าไปทำการค้าด้วย ในที่สุด G7 ก็เห็นชอบในหลักการดังกล่าวด้วยการเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกอย่างน้อย 15% จากบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศนั้นๆ รวมถึงปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษีเพื่อความเป็นธรรมในการจัดสรรสิทธิ์การเก็บภาษี โดยที่แต่ละประเทศจะได้รับสิทธิ์ในการเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความสามารถในการทำกำไรมากที่สุด
ความเห็นชอบจาก G7 ทำให้โอกาสที่กฎหมายจัดเก็บภาษีขั้นต่ำที่สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นแกนนำในการสนับสนุน จะเป็นความจริงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์มองว่า การประชุมของบรรดาผู้นำในกลุ่ม G7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ของอังกฤษในช่วงสัปดาห์นี้ จะได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับเสียงสนับสนุนในการประชุมรัฐมนตรีคลัง กลุ่ม G20 ที่เมืองเวนิสของอิตาลีในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
ความเห็นชอบจากบรรดาชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลกจะเป็นเสมือนชนวนกระตุ้นอย่างดีที่เร่งรัดให้การเจรจาในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งมีอยู่กว่า 140 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้จะริเริ่มขึ้นด้วยเจตนาที่ดี แต่หลายฝ่าย รวมถึง เอลเก เอเซน นักวิเคราะห์นโยบายจากศูนย์นโยบายภาษีโลก (Center for Global Tax Policy) ของ Tax Foundation มองว่า มีแนวโน้มที่รัฐบาลอีกหลายประเทศจะลุกขึ้นมาคัดค้าน โดยเฉพาะประเทศที่เก็บภาษีอยู่ในระดับต่ำและใช้ข้อได้เปรียบด้านภาษีเป็นตัวดึงดูดให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ เข้าไปตั้งออฟฟิศภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศไอร์แลนด์ที่เก็บภาษีนิติบุคคลเพียง 12.5% เท่านั้น
ทั้งนี้ หากบรรดาประเทศที่ใช้มาตรการภาษีดึงดูดบริษัทต่างชาติไม่เห็นด้วย และประเทศยักษ์ใหญ่ไม่กดดันมากพอ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าข้อตกลงที่เกิดขึ้นก็มีผลเป็นเพียงความเห็นชอบร่วมกัน แต่ไม่อาจนำไปปฏิบัติได้จริง
ขณะเดียวกันในมุมมองของนักลงทุน แม้จะวิตกกังวล แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่สามารถปล่อยวางไว้ได้ เนื่องจากมองว่าผู้นำทั่วโลกต้องใช้เวลาในการเจรจาพูดคุย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับนโยบายดังกล่าว
เจรฟฟรีย์ แซกส์ หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุนในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของ Citi Private Bank กล่าวว่า ต่อให้ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลที่ชัดเจนต่อมาตรฐานภาษีโลก แต่สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญก็คือ ระยะเวลาที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้ว่าจะรวดเร็วแค่ไหน และผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของบริษัทว่าจะมากน้อยเพียงใด
โดยก่อนหน้านี้ Citi คาดการณ์ว่า บริษัททั่วโลกจะมีรายได้ต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 30% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นราว 12% ในปีหน้า ก่อนยอมรับว่าแนวโน้มการปฏิรูปภาษีอาจทำให้ทางธนาคารต้องปรับลดการคาดการณ์ดังกล่าวลง
เยลเลนออกโรงหนุนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นปัจจัยน่าวิตกในหมู่นักลงทุนในสหรัฐฯ เนื่องจากกลัวว่าเงินเฟ้อที่สูงจะกลายเป็นแรงกดดันให้ธนาคากลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ล่าสุด เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง Bloomberg ชี้ให้เห็นข้อดีของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่า
โดยเยลเลนระบุว่า แผนการใช้จ่ายของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนปีละ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ได้มากพอที่จะทำให้เกิดเงินเฟ้อในระยะยาวได้ หรือหากว่ามีโอกาสเป็นเช่นนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยน่าจะส่งผลดีต่อมุมมองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากกว่า หลังจากที่ต้องรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเกินไปมานานนับสิบปี ดังนั้นถ้ามาตรการของไบเดนจะทำให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยขยับขึ้นมาได้ ย่อมเป็นข่าวดีแน่นอน
อ้างอิง: