×

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดทุนไทยในไตรมาส 3: เมื่อเศรษฐกิจเผชิญลมปะทะ

25.06.2023
  • LOADING...
การลงทุน ไตรมาส 3

InnovestX เรามองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เผชิญความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้นใน 4 จุดหลัก ทำให้นักลงทุนอาจต้องระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยทั้ง 4 ความเสี่ยงมีดังนี้

 

1. เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเผชิญความเสี่ยงจากการส่งออกเป็นหลัก

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกกระทบภาคการผลิตและส่งออกทำให้เศรษฐกิจไทยได้ผลบวกจากการเปิดประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

 

โดยในไตรมาสที่ 1 การส่งออกบริการ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) ขยายตัวสูงถึง 87.8% แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลงถึงกว่า -6.4% ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัวเพียง 3.0% นอกจากนั้น หากพิจารณาภาพล่าสุดจะพบว่าการส่งออกเดือนเมษายน 2023 หดตัวที่ 7.6% ต่อปี ด้านมิติตลาดส่งออกพบว่าหดตัวมากขึ้น ทั้งในตลาดหลัก (ยกเว้นจีน จากผลไม้สด) และตลาดรองหดตัวมากขึ้น และหากพิจารณามิติสินค้า พบว่าสินค้าอุตสาหกรรม เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมัน เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ยังคงหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน แต่รถยนต์และผลไม้สดฟื้นตัว

 

การส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ เราเชื่อว่าในระยะต่อไปสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น จะทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ และกดดันภาคการส่งออกไทยต่อเนื่อง ในระยะต่อไป InnovestX เรากังวลความเสี่ยงการส่งออกมากขึ้น โดยเราปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าลงจากไม่ขยายตัว (0%) เป็นหดตัว -2%

 

2. เศรษฐกิจไทยเสี่ยงจากสุญญากาศทางการเมืองลากยาวขึ้น

ในการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง เรามองว่าในปัจจุบันยังไม่เห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องติดตาม ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม ตามไทม์ไลน์ของ กกต. นั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก โดยอาจเลื่อนไปจนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นกระบวนการทำงบประมาณก็จะยิ่งล่าช้า และกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต้องมีการเซ็นสัญญาใหม่ให้ล่าช้าไปถึง 2-3 ไตรมาส

 

ความล่าช้าดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะสุญญากาศทางการเมือง จะนำไปสู่ภาวะ ‘นโยบายการคลังตึงตัวทางพฤตินัย’ โดยในทุกปีที่การเมืองเปลี่ยนแปลงจะกระทบกับการเบิกจ่ายภาครัฐ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนในช่วงถัดไป ทั้งนี้ เรามองว่าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าในปีนี้จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งประจำและลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะหดตัวมากขึ้น ท่ามกลางภาวะการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวจากภาวะฐานสูงในช่วงก่อนหน้า (Fiscal Drag) ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้เรามองว่าการบริโภคภาครัฐและลงทุนภาครัฐจะหดตัว -2.7% และ -0.1% ในปีนี้ จากเดิมที่เคยมองว่าจะขยายตัว 0.9% และ 3.0% ตามลำดับ

 

3. เศรษฐกิจไทยเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวแม้เงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่อง

ในปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2023 ลดลงต่อเนื่องไปอยู่ที่ 0.5% ต่ำกว่าที่เราคาดที่ 2.4% จากราคาพลังงานที่ลดลงมาก ทั้งนี้ เราคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว ทำให้ราคาพลังงานและอาหารลดลง โดยเรามองว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะขยายตัวเฉลี่ยที่ประมาณ 1.56% แต่จากการประชุมนโยบายการเงินครั้งล่าสุดที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2% และยังคงไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้เรามองว่า ธปท. น่าจะต้องคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจมากขึ้น

 

นอกจากนั้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ธปท. ได้จัดงาน Monetary Policy Forum ชี้แจงแนวนโยบายการเงินและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปต่อนักวิเคราะห์ โดยภาพรวมระบุเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อยังคงเป็นความเสี่ยง (แม้เงินเฟ้อจะเป็นทิศทางลดลงต่อเนื่องจนเดือนล่าสุดจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.53% ก็ตาม)

 

ขณะที่ ธปท. ระบุว่า นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้สินเชื่อและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มหดตัว รวมถึงไม่ได้ทำให้สินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน (NPL) และค้างชำระภายใน 1-3 เดือน (Special Mention Loan: SM) เพิ่มขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือมองว่าทิศทางนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย เศรษฐกิจยังฟื้นต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถขึ้นต่อได้เพราะยังไม่เข้าสู่ระดับปกติ

 

อย่างไรก็ตาม InnovestX เรามองว่า ในระยะต่อไปเงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยง เพราะแรงกดดันเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง หากพิจารณาจากการส่งผ่านเงินเฟ้อจากผู้ผลิต (ที่ปัจจุบันหดตัวที่ระดับ -5.04%) สู่เงินเฟ้อผู้บริโภค (ที่อยู่ที่ 0.58%) จะเห็นว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจก็เสี่ยงจากการส่งออกและนโยบายการคลังที่ตึงตัวโดยพฤตินัยมากขึ้น

 

ในขณะที่ปัจจุบันภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นของดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 150 bps (จาก 0.5% สู่ 2.0%) ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ขึ้น 160 bps แล้ว (จาก 5.25% สู่ 6.85%) และทำให้การขยายตัวสินเชื่อชะลอลงชัดเจน จาก 8.9% ต่อปี ในเดือนตุลาคม 2021 เป็น 2.3% ในเดือนมีนาคม 2023 นอกจากนั้น สินเชื่อที่ชะลอส่งผลกระทบต่อการลงทุนเป็นสำคัญ โดยล่าสุดการลงทุนหดตัว -0.3% ต่อปี (ค่าเฉลี่ย 3 เดือน) ในเดือนมีนาคม ซึ่งมองไปข้างหน้า ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นและทำให้ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตาม จะยิ่งทำให้สินเชื่อธุรกิจและการลงทุนเอกชนหดตัวยิ่งขึ้น

 

นอกจากนั้น ในปัจจุบันสัญญาณหนี้เสียเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในลูกค้าเช่าซื้อและลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้กู้เริ่มผ่อนสินเชื่อรถไม่ไหว เห็นได้จากธุรกิจลานประมูลรถยนต์ที่ต้องขยายพื้นที่รับรถยึดเพิ่มไม่หยุด และคาดว่าทั้งปีจะมีการยึดรถยนต์อย่างน้อย 2.5 แสนคัน จากปัจจุบันที่มีการยึดมาแล้วกว่า 9 หมื่นคันในช่วง 5 เดือนแรก

 

ด้านสินเชื่อภาคอสังหาจะได้รับผลกระทบทั้งสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการ (Pre-Finance) โดยเฉพาะรายกลางและเล็กที่จะถูกเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post-Finance) ก็จะเข้มงวดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้าระดับล่าง เพราะนอกจากดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับมาตรการเข้มงวดต่างๆ เช่น LTV (Loan to Value หรืออัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้เมื่อเทียบกับราคาบ้าน) โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมมีความเข้มงวดสูงกว่าการปล่อยกู้โครงการบ้านแนวราบ

 

4. เศรษฐกิจไทยเสี่ยงจากภาคเกษตรที่อาจเผชิญวิกฤตภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภาวะฝนน้อย-น้ำน้อย โดยแบบจำลอง NOAA ระบุว่า ภาวะฝนน้อย-น้ำน้อยได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2023 และมีโอกาสมากกว่า 90% ที่ภาวะเอลนีโญจะมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024

 

เราวิเคราะห์ว่าในปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะธัญพืชอาจไม่ถูกกระทบมากนัก เนื่องจากหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเทศเกษตรกรรมต่างๆ มีการวางแผนขยายการผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลืองมากขึ้น กระนั้นก็ตาม เราจับตามองปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าหากเกิดขึ้นจริง อาจเกิดในช่วงปลายปี 2023 – ต้นปี 2024 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงรุนแรง และต้องติดตามว่าราคาจะปรับลดลงเช่นเดียวกับปริมาณการผลิตด้วยหรือไม่ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรงและทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงในระดับใกล้เคียงกับช่วงดังกล่าวได้

 

นอกจาก 4 ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว เรายังมองว่าการระบายสินค้าคงคลังที่สูงในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยจะทำให้การเติบโตของ GDP และกำไรต่ำกว่าคาด เนื่องจากจะต้องใช้เวลา 1-2 ไตรมาสในการลดสินค้าคงคลังลงสู่ระดับปกติ เราไม่คิดว่าจะเห็นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจนกว่าการระบายสินค้าคงคลังจะเสร็จสิ้น โดยเฉพาะสินค้าคงคลังในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ และเครื่องจักร

 

ภาพทั้งหมดทำให้เราปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป้าหมาย SET Index โดยเราปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 3.0% สู่ 2.7% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานด้านการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่ในเป้าหมาย SET Index เราปรับลดคาดการณ์กำไรลง 4% ส่งผลทำให้เป้า SET Index ปี 2023 ของเราปรับลดลง 5-6% จาก 1,750 จุด สู่ 1,650 จุด

 

ด้วยภาพดังกล่าวทำให้เราคงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Defensive & Selective โดยจุดโฟกัสที่สำคัญในครึ่งปีหลังคือการระบายสินค้าคงคลังเสร็จสิ้น การมาของเอลนีโญ และการฟื้นตัวของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นทำให้เราแนะนำให้ลงทุนแบบ Defensive และ Selective ในกลุ่มวัฏจักร และโฟกัสไปที่แนวโน้มธุรกิจและการฟื้นตัวของกำไร เลือกหุ้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ และกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัว ตลาดมีความผันผวนสูงสืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ InnovestX เราจึงแนะนำให้เข้าซื้อหุ้นที่กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนและได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ และสำหรับหุ้นเด่นในไตรมาส 3 ของเราคือ BBL, BDMS, BEM, HMPRO และ OSP

 

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี

FYI
  • รวมทุกช่องทาง InnovestX Official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก https://linktr.ee/InnovestX
  • เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน
  • โหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/stwarticleweb
  • ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก https://bit.ly/respublisher
  • #InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
  • ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising